รวมพลังช่วยคนพิการ ฝึกอาชีพและสร้างงาน

มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ จัดงาน รวมพลังช่วยคนพิการมีงานทำ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ โรงแรมคุ้มภูคำ เมื่อวันที่ 17
ธันวาคม 2559 เชิญชวนนายจ้างผู้ประกอบการ บริษัท ห้างร้านช่วยคนพิการมีงานทำ
โดยจากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ วันที่ 30กันยายน พ.ศ. 2559 พบว่า คนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการจำนวน 1,657,438 คน (ร้อยละ 2.52 ของประชากรทั้งประเทศ) เป็นคนพิการเพศชายจำนวน 883,320 (ร้อยละ 53.29) และเพศหญิงจำนวน 774,118 คน (ร้อยละ 46.71) ข้อมูลที่น่าสนใจคือ คนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 15 – 60 ปี) มีจำนวน 781,576 คน
คนพิการที่ประกอบอาชีพมีจำนวน 196,021 คน (ร้อยละ 25.08) หมายความว่า คนพิการร้อยคน มีงานทำเพียง25คนเท่านั้น และกำลังว่างงาน ไม่มีงานทำ อยู่ถึง 463,018 คน รวมถึง คนพิการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ต้องอาศัยผู้ดูแล หรือ ครอบครัว ช่วยเหลือและหาเลี้ยง จำนวนถึง 122,537 คน (ร้อยละ 15.68) และ อาชีพที่คนพิการทำอยู่คือ การรับจ้างทั่วไปและทำการเกษตร มากถึง ร้อยละ70 ประกอบอาชีพอิสระ ร้อยละ 10 เป็นลูกจ้างภาคเอกชน ร้อยละ 6.7 และ ทำงานกับหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เพียง ร้อยละ 1.45 เท่านั้น นอกนั้น ประกอบอาชีพอื่นๆเช่นหาของป่า, เก็บของเก่าขายร้อยละ 6.53เป็นต้น
ข้อมูลตัวเลขดังกล่าว จะเห็นว่า การไม่มีงานทำของคนพิการ มีจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่ จากข้อมูลนั้น คนพิการกลุ่มนี้วสามารถทำงานได้ จึงนับว่าเป็นปัญหาวิกติของคนพิการ เมื่อคนพิการ ได้รับการพัฒนาศักยภาพแล้ว แต่กลับไม่มีงานทำ หรือ การเข้าทำงานในสถานประกอบการ หรือ ราชการ ก็ทำได้ยากลำบาท มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับคนพิการทั้งหมด ดังนั้น ท่านศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ จึงได้เห็นทางออกของการแก้ปัญหาคนพิการไม่มีงานทำ หากจะให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ ต้องใช้แนวทางของการสร้างอาชีพอิสระให้คนพิการ หมายถึงการฝึกอาชีพ เพื่อให้คนพิการและครอบครัวสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ด้วยตนเอง
ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ มองว่า การลงทุนเกี่ยวกับการสร้างอาชีพคนพิการนั้น การสร้างอาชีพจะดีกว่าการจ้างงาน ซึ่งการสร้างอาชีพสามารถเพิ่มจำนวนคนพิการให้มีรายได้ให้มากขึ้นเรื่อย ๆ
ยกตัวอย่าง หากสถานประกอบการจ้างงานคนพิการตาม มาตรา 33 จำนวน100 คน ใน1 ปีจะใช้เงินประมาณ10 ล้านบาท ในปีต่อไปเงิน 10ล้านบาทนี้ก็จะถูกจ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่คนพิการ100คนเดิม และในปีที่ 3 ก็ยังต้องจ่าย 10 ล้านบาท ให้กับคนพิการกลุ่มเดิม เมื่อเวลาล่วงเลยไป 10 ปี ใช้เงินมากถึง100ล้านบาท แต่ จำนวนคนพิการที่ได้รับประโยชน์ก็ยังคงเป็น 100 คน เช่นเดิม ซึ่งจะแตกต่างจากการใช้ เงิน ตามมาตรา 35 คือ การฝึกอาชีพอิสระให้กับคนพิการ เช่นใช้เงิน10ล้านบาท ใช้ฝึกอาชีพอิสระให้คนพิการ 100คน ในปีแรก ถ้าสามารถให้คนที่จบจากการฝึกอาชีพ สามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ ปีต่อไป ก็นำเงิน 10 ล้านบาทนี้ ไปฝึกอาชีพให้กับ100ครอบครัวใหม่ ทุก ๆ ปี ก็จะมีคนพิการได้รับการฝึกอาชีพเพิ่มขึ้น ปีละ 100 คน จากเงิน 10 ล้าน เวลาผ่านไป10 ปี เราก็สามารถสร้างอาชีพอิสระให้กับคนพิการได้มากถึง 1,000 คน เป็นต้น
จึงเป็นที่มาของโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอาชีพที่ยั่งยืน ครบวงจร ให้คนพิการ มีการฝึกอบรมทั้งด้านการผลิต การแปรรูปและการตลาด ภายใต้การออกแบบภูมิทัศน์ สถาปัตยกรรม ที่สวยงาม เหมาะสมกับคนพิการและเป็นมิตรกับธรรมชาติ รวมทั้งมูลนิธิฯ จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องหลังจากผู้เข้าอบรมจบหลักสูตร แบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิต แปรรูปและจำหน่าย เช่น บริการรับซื้อและประสานความร่วมมือทางการตลาดเพื่อหาช่องทางในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการขาด บริการออกแบบบรรจุภัณฑ์ บริการให้คำปรึกษา เป็นต้น
ในปี 2560 จะเริ่มฝึกอาชีพให้คนพิการ 6 หมวดวิชาได้แก่ การเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน การเลี้ยงจิ้งหรีด การปลูกผักไร้ดิน การแปรรูป เห็ด การแปรรูปจิ้งหรีด การตลาด มีผู้เข้ารับการฝึกอบรม ทั้งสิ้น 4 รุ่น รวม 250คน มาจาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบไปด้วย คนพิการและผู้ดูแล ระยะเวลาการฝึกรุ่นละ 6 เดือน ซึ่งศูนย์ฝึกอาชีพฯก่อตั้งขึ้นจำนวน5แห่งได้แก่ ที่สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร ที่จังหวัดเชียงราย ที่อำเภอ นครชัยศรีจังหวัดนครปฐม ที่อำเภอแม่ริม และที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และตั้งเป้าจะขยายจำนวนคนพิการที่จะเข้ารับการฝึกอบรม และออกไปยังพื้นที่อื่นๆอีกในอนาคตเพื่อให้การช่วยเหลือคนพิการเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เป็นหลักประกันให้กับชีวิตคนพิการและครอบครัวต่อไป
ดังนั้น การฝึกอาชีพให้คนพิการสามารถสร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัวอย่างยั่งยืนนี้ จึงเป็นทางออกของการแก้ปัญหาที่ดี และท้าทายผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก โครงการนี้ จะไม่สามารถสำเร็จลงได้ ถ้าหากขาดซึ่งความร่วมมือขององค์กรเครือข่าย ได้แก่ สถานประกอบการ หน่วยงาน องกรต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐ เอกชน และองค์กรคนพิการ รวมทั้งประชาชนทั่วไป และที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าคนพิการขาดความตั้งใจจริง ขาดความขยันความอดทนการทุ่มเทของทุกฝ่ายก็ไร้ความหมาย มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ
โดยศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ จึงหวังว่า จะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างจริงใจ จริงจัง และต่อเนื่อง ในโอกาสต่อ ๆ ไป และ ขอเชิญทุกท่านทุกฝ่าย มาร่วมกันทำความดี สนองพระราชปณิธาน ตาม พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯที่ พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะกรรมการมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ 2527 มีต่อคนพิการ ความว่า
“งานช่วยคนพิการนี้ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะว่าผู้พิการ มิได้เป็นผู้ที่อยากพิการ แต่อยากช่วยตนเองถ้าเราไม่สามารถช่วยเขาให้สามารถที่จะปฏิบัติงานอะไรเพื่อชีวิตและมีเศรษฐกิจของครอบครัวจะทำให้เกิดสิ่งที่หนักในครอบครัว หนักแก่ส่วนรวม ฉะนั้น นโยบายที่จะทำก็คือ ช่วยเขาให้ช่วยตนเองได้ เพื่อที่จะให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม”
“กิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้สืบเนื่องจากโครงการรณรงค์การจ้างงานผู้พิการตามระบบสัดส่วน 100ต่อ1 โดยถ้านายจ้างไม่จ้างก็จ่ายเงินเข้ากองทุน โดยในขณะนี้มีโครงการเชิญชวนนายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนแต่มาจ้างคนพิการให้ทำงานเพื่อสังคมซึ่งก็ได้รับความกรุณาจากหลายบริษัทไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกรุงเทพ บริษัท ทรูคอปอเรชั่น บางจากปิโตรเลียม รวมทั้ง วิริยะประกันภัย อัมรินทร์พรินท์ติ้่ง เป็นต้น ก็สามารถนำคนพิการมาฝึกอาชีพและสร้างงานให้กับคนพิการรายอื่นๆต่อ ตั้งเป้าว่า ปี 2560 จะมาสร้างอาชีพ 240 ครอบครัว พร้อมกับขยายผลต่อจาก 240 ครอบครัว ไปจนถึง 1,000 ครอบครัว” ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กล่าวในที่สุด.

ร่วมแสดงความคิดเห็น