ข้อมูลสมรรถนะด้านการวิจัย ของมหาวิทยาลัยในประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เผยข้อมูลสมรรถนะด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย พบสาขา “การแพทย์ (Medicine)” มีผลงานวิจัยออกมามากที่สุด รองลงมาเป็นสาขาวิศวกรรมศาสตร์ และสาขาวิทยาศาสตร์เกษตรและชีวภาพ โดย “กลุ่มมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” มีจำนวนผลงานตีพิมพ์และจำนวนอ้างอิงผลงานมากที่สุด โดยผลงานวิจัยทางด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ยังคงมีสัดส่วนอยู่ในระดับต่ำ

จากการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ครั้งที่ 8/2559 เมื่อวันที่ผ่านมา โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม

ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลสมรรถนะด้านการวิจัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ของมหาวิทยาลัยในประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลสมรรถนะด้านการวิจัยผ่านโปรแกรม SciVal จากฐานข้อมูลตั้งแต่ปี ค.ศ.2011-2016 จากฐานข้อมูล Scopus ณ วันที่ 16 กันยายน 2559 โดยสรุปดังนี้

1. สมรรถนะด้านการวิจัยภาพรวมของประเทศ (Overall Research Performance) พบว่ามีจำนวนผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์จำนวนทั้งสิ้น 69,770 ผลงาน จำนวนอ้างอิงผลงาน 282,729 ผลงาน เมื่อจำแนกผลงานวิจัยออกเป็นรายสาขาวิชา พบว่า ผลงานวิจัยอันดับ 1 ได้แก่ สาขาการแพทย์ (Medicine) คิดเป็น 17.7% รองลงมาได้แก่ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) 11.9% และสาขาวิทยาศาสตร์เกษตรและชีวภาพ (Agricultural and Biological Sciences) 8% โดยตัวชี้วัดที่ใช้ในการนำมาวิเคราะห์มี 4 ตัวชี้วัด คือ คุณภาพผลงานวิจัยที่อยู่ในอันดับต้น ผลงานตีพิมพ์ในวารสารอันดับต้น ความร่วมมือในระดับนานาชาติ และความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานอื่น ๆ

2. สมรรถนะด้านการวิจัยภาพรวมของกลุ่มมหาวิทยาลัย เป็นการรวบรวมข้อมูลสมรรถนะด้านการวิจัยในภาพรวมของกลุ่มมหาวิทยาลัยของไทย 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ กลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งพบว่ามีเพียง 20 มหาวิทยาลัยที่มีข้อมูลเพียงพอในการวิเคราะห์

จากการวิเคราะห์ข้อมูลในการตีพิมพ์และการอ้างอิง พบว่า กลุ่มมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีจำนวนผลงานตีพิมพ์ และจำนวนอ้างอิงผลงาน มากที่สุด และมีจำนวนเฉลี่ยผลงานตีพิมพ์ และจำนวนเฉลี่ยอ้างอิงผลงานต่อแห่งมากที่สุดเช่นกันด้วย รองลงมาได้แก่ กลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐ กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ และกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาข้อมูล สามารถจำแนกสมรรถนะด้านการวิจัยที่เกี่ยวกับจำนวนตีพิมพ์และการอ้างอิงตามกลุ่มมหาวิทยาลัย ได้ดังนี้

1) กลุ่มมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (19 แห่ง) มีจำนวนผลงานตีพิมพ์ รวม 54,975 ผลงาน และจำนวนการอ้างอิงผลงาน จำนวน 233,462 ครั้ง โดยมีจำนวนเฉลี่ยผลงานตีพิมพ์ ประมาณ 2,893 ผลงานต่อแห่ง และจำนวนเฉลี่ยอ้างอิงผลงาน ประมาณ 12,287 ครั้งต่อแห่ง

2) กลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐ (14 แห่ง) มีจำนวนผลงานตีพิมพ์ รวม 13,307 ผลงาน และจำนวนการอ้างอิงผลงาน จำนวน 48,071 ครั้ง โดยมีจำนวนเฉลี่ยผลงานตีพิมพ์ ประมาณ 951 ผลงานต่อแห่ง และจำนวนเฉลี่ยอ้างอิงผลงาน ประมาณ 3,434 ครั้งต่อแห่ง

3) กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (38 แห่ง) มีจำนวนผลงานตีพิมพ์ รวม 2,184 ผลงาน และจำนวนการอ้างอิงผลงาน จำนวน 4,930 ครั้ง โดยมีจำนวนเฉลี่ยผลงานตีพิมพ์ ประมาณ 57 ผลงานต่อแห่ง และจำนวนเฉลี่ยอ้างอิงผลงาน ประมาณ 130 ครั้งต่อแห่ง

4) กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (9 แห่ง) มีจำนวนผลงานตีพิมพ์ รวม 1,625 ผลงาน และจำนวนการอ้างอิงผลงาน จำนวน 3,549 ครั้ง โดยมีจำนวนเฉลี่ยผลงานตีพิมพ์ ประมาณ 181 ผลงานต่อแห่ง และจำนวนเฉลี่ยอ้างอิงผลงาน ประมาณ 394 ครั้งต่อแห่ง

5) กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน (74 แห่ง) มีจำนวนผลงานตีพิมพ์ รวม 3,401 ผลงาน และจำนวนการอ้างอิงผลงาน จำนวน 6,830 ครั้ง โดยมีจำนวนเฉลี่ยผลงานตีพิมพ์ ประมาณ 46 ผลงานต่อแห่ง และจำนวนเฉลี่ยอ้างอิงผลงาน ประมาณ 92 ครั้งต่อแห่ง

ทั้งนี้ เมื่อได้วิเคราะห์จาก “ข้อมูลจำนวนผลงานวิจัย” พบว่า จำนวนผลงานวิจัยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ในขณะที่กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล แม้จะมีจำนวนมหาวิทยาลัยน้อยกว่ากลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ แต่กลับมีจำนวนผลงานวิจัยมากกว่า ในขณะที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน กลับไม่ปรากฏว่ามีจำนวนผลงานวิจัยเลย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายของมหาวิทยาลัยแต่ละกลุ่มว่ามหาวิทยาลัยใดที่เน้นเรื่องการวิจัย หรือเน้นเพียงเฉพาะการเรียนการสอนได้ในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยบางแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นลักษณะมหาวิทยาลัยเปิด แต่มีจำนวนผลงานวิจัยที่สูงในระดับหนึ่ง อาจสะท้อนให้เห็นว่าอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมีแรงจูงใจในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยเพื่อตำแหน่งทางวิชาการหรือความก้าวหน้าทางด้านอาชีพ และสถาบันวิทยสิริเมธี ที่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่เปิดการเรียนการสอนได้ไม่กี่ปี และมีจำนวนอาจารย์ไม่มากนัก แต่กลับมีจำนวนผลงานวิจัยจำนวนมากนั้น อาจต้องพิจารณาข้อมูลว่ามาจากการลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนาของสถาบันในระดับสูง หรือมาจากผลงานวิจัยที่ติดตัวมาจากอาจารย์ก่อนหน้านี้

จากข้อมูลผลงานวิจัยของประเทศในสาขาวิชาต่าง ๆ พบว่า สาขาทางด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ยังคงมีสัดส่วนอยู่ในระดับต่ำ จึงควรมีนโยบายหรือแนวทางในการสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยสร้างองค์ความรู้ในกลุ่มสาขาทางด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ให้มากขึ้น

…..ศธ./ข้อมูล…..

ร่วมแสดงความคิดเห็น