ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในปี 60 ขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป

ที่ผ่านมาเชื่อว่าหลายท่านคงเห็นตรงกันเกี่ยวกับสถานการณ์การลงทุนในปี 2559 ว่าเป็นปีที่ยากต่อการลงทุนอีกปีหนึ่ง โดยตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับฐานแรงถึง 2 ครั้งด้วยกัน คือในช่วงเดือนมกราคมหลังจีนปรับลดค่าเงินหยวนครั้งใหญ่ และในเดือนมิถุนายน หลังอังกฤษโหวตขอแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมายจึงสร้างความผันผวนไม่น้อยต่อตลาดการเงินทั่วโลก

บลจ.กสิกรไทย ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2560 คาดว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าปี2559แต่ยังมีทิศทางที่ไม่แน่นอน โดย IMF คาดว่าจะเติบโตได้ 3.4% เทียบกับปีนี้ที่ 3.1% (ที่มา: IMF, World Economic Outlook, ต.ค. 2559) จากการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เป็นหลัก อาทิ อินเดีย จีน และ Asean-5* ที่เติบโตในปีหน้าเฉลี่ย 6.3% อย่างไรก็ดีเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความผันผวนยังคงต้องมีอยู่ในปี 2560 เริ่มจากประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป ที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศทั้งหมดจะมีการเลือกตั้งใหม่อย่างประเทศแกนหลักฝรั่งเศสจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี และการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีในไตรมาส 3 ปี 2560 ขณะที่อิตาลีเพิ่งผ่านพ้นการลงประชามติไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอาจเป็นการจุดชนวนให้อิตาลีโหวตแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Italexit) เหมือนอังกฤษ

ทางด้านฝั่งสหรัฐฯ สิ่งที่ผู้ลงทุนยังคงต้องติดตาม คือ เรื่องนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ว่าที่ดำเนินไปอย่างไร จะเหมือนหรือต่างจากแนวนโยบายที่ทรัมป์เคยใช้ในการรณรงค์หาเสียง แต่ที่แน่ๆ คือค่อนข้างแตกต่างจากรัฐบาลเดิม (พรรคเดโมแครต) ในหลายเรื่อง อาทิ เรื่องการลดภาษีเงินได้บุคคล ลดความสำคัญของการค้าระหว่างประเทศกับจีนและเม็กซิโก รวมทั้งยังกีดกันแรงงานต่างด้าว ดังนั้นผลกระทบหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ จึงเป็นประเด็นที่สำคัญที่อาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ส่งผลให้ค่าเงินประเทศต่างๆอ่อนค่าในเชิงเปรียบเทียบ รวมทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มสูงขึ้นหลังนักลงทุนเทขายสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ มาเข้าลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นสหรัฐฯ ขณะที่ในแง่ของเศรษฐกิจคู่ค้าอย่างจีน และญี่ปุ่นอาจจะได้รับผลกระทบจากการที่ทรัมป์เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจภายในสหรัฐฯเป็นหลัก อย่างไรก็ดีประเทศทางฝั่งเอเชียถือว่าได้รับผลกระทบจากประเด็นกีดกันทางการค้าค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมีการส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) แต่ความกังวลเรื่องเงินลงทุนไหลกลับหากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีการแข็งตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นปัจจัยที่กดดันและต้องจับตาต่อไป

อีกประเด็นที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือเรื่องความแตกต่าง และทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางของประเทศแกนหลัก อาทิ สหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะปรับขึ้น1 – 2 ครั้งในปี 2560 สวนทางกับฝั่งยุโรปที่ยังคงนโยบายดอกเบี้ยติดลบ ขณะที่ตลาดคาดว่าธนาคารกลางยุโรปมีโอกาสผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากผลของ Brexit ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงด้านการเมือง และสถานะธนาคารของประเทศในภูมิภาคที่อ่อนแอ ฝั่งธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องเผชิญแรงกดดันจากหลายประเด็น อาทิ ภาวะเงินฝืด เงินเยนแข็งค่า และปัญหาโครง

สร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีการปรับเปลี่ยนมาใช้การดูแลการเคลื่อนไหวของระดับอัตราดอกเบี้ยระยะยาว จากเดิมที่เน้นการเพิ่มปริมาณเงิน ด้านจีนและอินเดียยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน และการบริโภคของประชาชน ซึ่งความแตกต่างของนโยบายเหล่านี้ย่อมส่งผลถึงการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนและตลาดการเงินทั่วโลก

ประเด็นสุดท้ายที่สร้างความผันผวนมาตั้งแต่ต้นปี คือเรื่องราคาน้ำมัน หลังจากปรับตัวลงไปอยู่ระดับต่ำกว่า 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานตอนต้นปี ก่อนที่จะค่อยๆฟื้นตัวหลังเริ่มคลายความกังวลเรื่องอุปสงค์โลกที่ชะลอตัว และล่าสุดเป็นข่าวดีในรอบปี ที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) สามารถบรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตครั้งแรกในรอบ 8 ปี เพื่อพยุงราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ถูกกดดันจากปัญหาอุปทานล้นตลาด ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นมายืนเหนือ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยบลจ.กสิกรไทยมองว่าราคาน้ำมันในปีหน้าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2560 น่าจะยังคงเติบโตใกล้เคียงกับปี2559โดยในปี2560-2562 คาดว่าจะขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ในช่วง 2.5-4.0% โดยมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศและภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับแรงหนุนจากภาครัฐที่ใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลร้อยละ 2.6 ของ GDP เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจรวมทั้งการผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวอย่างช้าๆ

สำหรับมุมมองการลงทุนในปี 2560 แน่นอนว่าความผันผวนจากประเด็นต่างๆที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะทำให้การหาโอกาสจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีๆทำได้ยากขึ้น ดังนั้นการกระจายการลงทุน(Diversify) และคัดเลือกการลงทุนที่เหมาะสม (Selective) จึงเป็นกุญแจสำคัญในการบริหารพอร์ตการลงทุน ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย มีมุมมองที่เป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มอาเซียนและอินเดีย ที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และผลกำไรบริษัทจดทะเบียน แต่ประเด็นความเสี่ยงจากเงินทุนไหลออกหากดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่ารวดเร็วยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ หุ้นมีรายได้และกระแสเงินสดสม่ำเสมอ รวมถึงมีความผันผวนต่อวัฎจักรเศรษฐกิจต่ำ ก็ช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น