พระธาตุจอมกิตติ โบราณสถานสำคัญของเมืองเชียงแสน

พระธาตุจอมกิตติ ปูชนียสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองเชียงแสน สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าพังคราชเพื่อใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และได้รับการบูรณะในสมัยของหมื่นเชียงสงโดยการสร้างเจดีย์ครอบทับองค์เดิมเมื่อปี พ.ศ.2030

จากตำนานและพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนได้กล่าวถึงเรื่องการสร้างพระธาตุจอมกิตติเอาไว้ว่า พระมหาเถระชาวโกศลนคร เมืองสุธรรมวดี ชื่อพระพุทธโฆษาจารย์ นำพระบรมสารีริกธาตุจากเมืองลังกามาถวายพระเจ้าพังคราช ต่อมาพระองค์พร้อมพระราชโอรสคือพระเจ้าพรหมกุมารจึงได้สร้างพระธาตุขึ้นบนดอยน้อย เมื่อ พ.ศ.1483 แล้วอัญเชิญพระธาตุที่ได้มาบรรจุไว้ โดยให้พระนามพระธาตุองค์นี้ว่า “พระธาตุจอมกิตติ”
ในปี พ.ศ.2030 หมื่นเชียงสงเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนได้ทำการบูรณะซ่อมแซมองค์พระธาตุขึ้นครั้งหนึ่ง จนกระทั่งในเวลาต่อมาพระธาตุชำรุดทรุดโทรมลง เจ้าฟ้าเฉลิมเมืองพร้อมกับคณะพระญาติและประชาชนได้ร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุขึ้นใหม่อีกครั้งในราวปี พ.ศ.2237 ซึ่งคงปรากฏรูปแบบทางสถาปัตยกรรมอย่างที่เห็นในปัจจุบันคือ เป็นศิลปกรรมร่วมสมัยระหว่างล้านนากับศิลปะอยุธยาตอนปลาย
พระธาตุจอมกิตติเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่เมืองเชียงแสนมาช้านาน พระธาตุนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ นอกกำแพงเมืองเชียงแสนทางด้านทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร ในปัจจุบันเราสามารถขับรถขึ้นไปได้เกือบถึงองค์พระธาตุ ต่างจากเดิมซึ่งจะต้องใช้เส้นทางเดินผ่านบันไดนาคไปจนถึงลานทักษิณใกล้พระธาตุ ซึ่งเส้นทางนี้เป็นเส้นทางโบราณที่คนสมัยก่อนใช้เป็นเส้นทางเพื่อขึ้นไปนมัสการองค์พระธาตุ
เมื่อขึ้นไปยืนอยู่บริเวณวัดพระธาตุจอมกิตติ จะสามารถเห็นทิวทัศน์ของตัวเมืองเชียงแสนที่เห็นแนวกำแพงเมืองทอดยาวเป็นเส้นตั้งแต่เหนือจรดใต้ นอกจากนั้นไกลออกไปจากตัวเมืองยังสามารถมองเห็นแม่นํ้าของ หรือ แม่นํ้าโขงที่เป็นปราการทางธรรมชาติของเมืองได้เป็นอย่างดีและที่ตรงนี้เองถือได้ว่าเป็นจุดชมวิวที่สวยงามที่สุด

ในบริเวณวัดพระธาตุจอมกิตติยังปรากฏมีเจดีย์โบราณเก่าแก่อยู่อีกองค์หนึ่งตั้งอยู่ด้านล่างไม่ไกลจากที่ตั้งของพระธาตุจอมกิตติมากนักคือพระธาตุจอมแจ้ง ด้านหน้าของพระธาตุจอมแจ้งเป็นพระวิหารที่สร้างด้วยศิลปกรรมสมัยใหม่ที่ว่ากันว่าขัดแย้งกับความเก่าแก่ขององค์พระธาตุเจดีย์ ปัจจุบันนี้ปัญหาการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานดูจะเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างอยู่เสมอว่า มิได้เป็นวิธีการอนุรักษ์โบราณสถานอย่างถูกวิธีหากแต่เป็นการปรับปรุงโบราณให้เป็นปัจจุบันสถาน ซึ่งท้ายที่สุดก็คือเป็นการทำลายโบราณสถาน อย่างถูกกฏหมายนั่นเอง นอกจากนี้ที่บริเวณแนวกำแพงเมืองเชียงแสนโบราณยังมีการบูรณะโดยการขุดกำแพงเมืองเพื่อเอาอิฐเก่าออกมาแล้วนำมาเรียงซ้อนกันใหม่ให้เป็นแบบสมัยใหม่ จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงอยู่ว่าการบูรณะแบบนี้จะเป็นการทำให้หลักฐานชิ้นสำคัญของประวัติศาสตร์อาจบิดเบือนหรือคลาดเคลื่อนไปได้ ซึ่งถ้าหากเราจะทำการศึกษาศิลปะสถาปัตยกรรมแบบล้านนา เราก็คงจะต้องศึกษาจากภาพถ่าย เพราะของจริงจะไม่หลงเหลือให้เราเห็นแล้ว
ทุกวันนี้เราต้องยอมรับความจริงว่า มีโบราณสถานหลายพันแห่งทั่วประเทศได้รับการบูรณะทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามตำนานประวัติศาสตร์ที่ได้กล่าวอ้างถึง ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของกรมศิลปากรที่จะต้องเข้ามาดูแลรักษา การที่กรมศิลปากรได้ประกาศนโยบายให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างได้เข้ามาบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานนั้น ปรากฏว่ายังไม่มีโบราณสถานแห่งใดที่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์อย่างถูกวิธีสักแห่งเดียว ทั้งนี้เพราะเนื่องจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่เข้ามารับเหมานั้นไม่ได้เข้าใจและไม่ได้ทำการศึกษาค้นคว้าแหล่งประวัติศาสตร์นั้น ๆ ให้ลึกซึ้งเพียงพอ ยกตัวอย่าง เช่น การบูรณะปฏิสังขรณ์ของวัดพระธาตุจอมกิตติซึ่งทางวัดเข้ามาดำเนินการเองและไม่ปรากฏว่ามีนักโบราณคดีเข้ามาควบคุมดูแล โดยเฉพาะการก่อสร้างวิหาร ซุ้มประตูใหม่ที่ขัดแย้งกับความงามขององค์พระธาตุที่มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี
วัดพระธาตุจอมกิตติ โบราณสถานที่ผู้คนจะต้องขึ้นไปกราบไหว้เมื่อเวลาเดินทางมายังเมืองเชียงแสน นอกจากนี้ในบริเวณวัดยังเป็นจุดชมวิวของตัวเมืองได้สวยงาม ด้วยระยะทางที่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก ทั้งองค์พระธาตุจอมกิตติยังมีประวัติศาสตร์การก่อสร้างที่น่าสนใจ ด้วยรูปแบบทางศิลปกรรมที่สวยงามวัดพระธาตุนี้จึงยังคงตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในท่ามกลางจิตใจของศรัทธาชาวเชียงแสนอย่างมิรู้ลืม.

ร่วมแสดงความคิดเห็น