“หม่อมเหลน” บรรยายพิเศษ ร.ร.แม่ริม-สันป่ายางวิทยาคม

เมื่อวันที่ผ่านมา ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ เรื่อง “สืบสานพระราชปณิธาน ตามรอยพระยุคลบาท” ให้แก่ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนแม่ริมวิทยาคม อำเภอแม่ริม จำนวน 360 คน และนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนสันป่ายางวิทยาคม อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 208 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 โดยมี ดร.สิทธิชัย มูลเขียน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 นายภาณุศร สิทธิชัย ผู้แทนศึกษาธิการภาค15 นายสำเร็จ ไกรพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม นางดวงใจ ญาณโรจน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสันป่ายางวิทยาคม คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ให้การต้อนรับและร่วมรับฟังการบรรยาย
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวการบรรยายในครั้งนี้ ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง เป็นเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ เกียรติภูมิ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงแห่งความเจริญของชาติ เป็นกระทรวงที่นำมาซึ่งความเจริญของลูกหลาน เยาวชน และประชาชนในวันข้างหน้า จึงมีความยินดีและดีใจที่ได้มาทำหน้าที่ในกระทรวงศึกษาธิการ
ทั้งนี้ การสืบสานพระราชปณิธานตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เราโชคดีเพียงใดที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยใต้ร่มพระบารมีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งลูกหลานทุกท่านที่อยู่ในที่นี้ล้วนเกิดในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ท่านไม่ได้จากเราไปไหน เราต้องทำสิ่งที่เป็นความรักความเมตตาของท่าน และนำไปสู่การปฏิบัติ พระองค์ท่านจะได้ประทับและสถิตอยู่กับเราตลอดไป นอกจากนี้ ทุกคนต้องมีกำลังใจ คิดดีทำดี มีความหนักแน่น อย่าโดดเดี่ยว อย่างเคว้งคว้าง เพราะทุกอย่างคือชีวิตที่เป็นธรรมชาติ มีเกิด มีดับ แต่ความดีความงามจะสถิตเสถียร ไม่มีจากเราไปไหน แต่อยู่ในดวงใจของเราตลอดไป ดังเช่นที่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ได้ตรัสไว้ว่าประชาชนชาวไทยมีตำราที่ทรงคุณค่าอยู่แล้ว
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง ดังเช่น ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2488 ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในฝ่ายชนะสงคราม เนื่องจากจำเป็นต้องประกาศเข้าข้างฝ่ายอักษะหรือประเทศญี่ปุ่น และได้มีการนิยามศัพท์ทางรัฐศาสตร์ที่ใช้เรียกประเทศไทยว่า เหยียบเรือสองแคม (Siamese Talking) เนื่องจากญี่ปุ่นแพ้สงครามแต่ไทยที่เข้าร่วมกับญี่ปุ่นกลับบอกว่าไม่แพ้สงคราม เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ และด้วยพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของทั้งสองพระองค์ พร้อมทั้งการรักษาเอกลักษณ์ของชาติด้วยความงดงาม ทำให้นานาประเทศลืมคำที่ใช้เรียกประเทศไทยว่าเหยียบเรือสองแคม
ทั้งนี้ การเอ่ยถึงชื่อบางประเทศในครั้งนี้ ก็อย่าไปโกรธเคืองใคร ทุกอย่างกลายเป็นตำนานไปหมดแล้ว แต่เราจำเป็นต้องพูดในเชิงวิชาการนอกจากนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงข้อคิดต่าง ๆ ด้านการศึกษา โดยกล่าวถึงผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งอันที่จริงแล้วคือครูใหญ่หรืออาจารย์ใหญ่ ผู้ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะบริหารงานบุคคล บริหารงานโรงเรียน หรือวางแผนพัฒนาโรงเรียนเท่านั้น แต่เป็นดวงใจของครู อาจารย์ และนักเรียนทุกคน อันที่จริงในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ก็เรียกอาจารย์ใหญ่ (Headmaster) ส่วนในประเทศอังกฤษใช้คำว่า Principal หรือครูใหญ่ ซึ่งเมื่อก่อนใช้คำนี้แต่มาเปลี่ยนภายหลัง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เรียกอาจารย์ใหญ่ แต่ส่วนตัวอยากให้คำนี้อยู่ในใจของนักเรียน เพราะผู้ที่เป็นอาจารย์ใหญ่คือ ผู้ที่มี “เมตตายิ่ง กรุณายิ่ง” ซึ่งเป็นนิยามของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เคยให้ไว้กับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นโรงเรียนหลวงพระราชทานแห่งแรกที่รัชกาลที่ 5 ได้ก่อตั้งขึ้นให้กับประเทศสยามเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือ การรักษาเอกลักษณ์ของชนชาติไทย ให้เด็กนักเรียนสวมชุดไทยแบบเรียบง่าย หรือใส่ชุดพื้นเมือง เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น