เล็งเพิ่มเบี้ยคนชรา พร้อมกระตุ้นเงินออม

ขุนคลังแจงเล็งเพิ่มเบี้ยคนชราที่ลงทะเบียนรายได้น้อย เปิดทางคนฐานะดีสละสิทธิ์รับเบี้ย เตรียมออกใบเชิดชูเกียรติ พร้อมเดินหน้าจี้ “ธ.ก.ส.-ออมสิน” กระตุ้นลูกค้าสมัครออมเงิน กอช.เพิ่มขึ้น

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า ในปีหน้ารัฐบาลมีแผนการจ่ายเงินให้คนชราที่มาลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มมากขึ้น โดยจะเปิดทางให้กับคนชราที่มีรายได้เพียงพอ หรือมีฐานะดีอยู่แล้วให้สละสิทธิ์เงินที่ได้รับอยู่ เพื่อนำเงินก้อนดังกล่าวมาให้กับคนชราที่ยากจนจริงๆ

“การดำเนินการดังกล่าวเป็นเหมือนการทำบุญ คนชราที่มีฐานะดีอยู่แล้ว และสละสิทธิ์ ทางรัฐบาลก็จะออกใบขอบคุณ และเชิดชูเกียรติให้ ส่วนคนชราที่จะไม่สละสิทธิ์ก็ไม่เป็นไร ซึ่งปัจจุบันมีคนชราที่ฐานะดี ไม่ต้องการรับเงินคนชรา แต่ทำไม่ได้ เพราะระบบบังคับให้รับ” นายอภิศักดิ์ กล่าว

นายอภิศักดิ์ กล่าวอีกว่า การแจกเงินชราที่ผ่านมา มีเรื่องทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงมีการแจกเงินคนชราทุกคน ซึ่งไม่มีความจำเป็น เพราะคนแก่จำนวนมากมีรายได้พออยู่แล้ว แต่สำหรับคนแก่ที่เป็นคนจน มีความจำเป็นต้องให้เงินในจำนวนที่มากพอที่จะดำรงชีพ ซึ่งเบี้ยคนชราที่ปัจุบันได้อยู่คนละ 600-900 บาทต่อเดือน ถือว่าไม่เพียงพอ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า แนวทางการแจกเงินชราเพิ่มขึ้นนั้น คาดว่าจะดำเนินการได้หลังการเปิดให้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบสองในเดือน มี.ค.2560 ส่วนจะจ่ายเพิ่มให้คนชราผู้มีรายได้คนละเท่าไร ต้องรอดูการสละสิทธิ์ของคนชราฐานะดี และงบประมาณของรัฐบาลที่มีอยู่ก่อน โดยการแจกเงินคนชราเพิ่ม อาจจะทำไปพร้อมกับการให้สวัสดิการผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติม ทั้งการสนับสนุนลดค่าใช้จ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ การขึ้นรถเมล์รถไฟฟรี และการทำประกันอุบัติเหตุให้ด้วย

“กระทรวงการคลังคิดที่จะเพิ่มการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้กับคนชรามานานแล้ว แต่ที่ผ่านมา มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า จะมีการยกเลิกการจ่ายเงินชราให้กับผู้มีฐานะดีทั้งหมด ทำให้ถูกคัดค้าน จึงมีการปรับแผนใหม่ให้เป็นการสมัครใจให้สละสิทธิ์แทน” นายสมชัย กล่าว

ปลัดกระทรวงการคลังยังระบุในฐานะประธานกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า ในปี 2560 กอช.ตั้งเป้าหมายหาสมาชิกให้ได้ 1.5 ล้านราย จากเป้าหมายสมาชิกในปี 2559 ที่อยู่ประมาณกว่า 5 แสนราย ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 ล้านราย ถึงแม้จะลดเป้าหมายลงมาเหลือ 7 แสนรายแล้ว ก็ยังทำได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ เพราะ กอช.เป็นกองทุนภาคสมัครใจ ไม่ได้เป็นการบังคับ การหาสมาชิกจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ดังนั้น กอช.จะต้องขอความร่วมมือกับพันธมิตร โดยเฉพาะธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าของธนาคารสมัครเป็นสมาชิก กอช.ให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญว่าภารกิจนี้เป็นเรื่องสำคัญหนึ่งของธนาคาร

“ปัจจุบัน ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.เป็นช่องทางให้รับสมัครสมาชิก กอช. รวมถึงเป็นช่องทางการจ่ายเงินสมทบของสมาชิก แต่ในอนาคต ทั้งสองธนาคารรัฐควรเพิ่มบทบาทตรงนี้ให้มากขึ้น เช่น ทุกสาขาของธนาคารควรมีป้ายบอกให้ลูกค้ารู้ว่า รับสมัครสมาชิก กอช. และจ่ายเงินสมทบ กอช.ได้ที่นี่ ซึ่งปัจจุบันไม่มีป้ายบอกอะไรเลย” นายสมชัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น