พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น : ตำนานการปลูกฝิ่น แห่งสามเหลี่ยมทองคำ

 

…การซื้อขายฝิ่นในสมัยก่อนนั้นมีราคาแพงมาก จนฝิ่นได้ฉายาว่า ทองดำ หรือ Black Gold แต่เดิมการซื้อขายมักใช้ทองคำเป็นตัวแลกเปลี่ยน ดังนั้นบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ จึงมีทองคำแพร่หลาย เนื่องจากการค้าขายฝิ่นมักจะมีหักหลังกันบ่อยๆ การซื้อขายแลกเปลี่ยนจึงต้องมีการผ่าพิสูจน์ ทั้งท่อนฝิ่นและก้อนทองคำ อันเป็นที่มาของชื่อ สามเหลี่ยมทองคำ…

พื้นแผ่นดินช่วงรอยต่อระหว่างดินแดนประเทศไทย ลาว และพม่า ที่เรียกว่า สามเหลี่ยมทองคำ ยังคงเป็นดินแดนแห่งปริศนาที่ว่ากันว่า เป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก เรื่องราวของฝิ่นถือกำเนิดขึ้นเมื่อราว 356 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นผู้นำฝิ่นเข้ามาเผยแพร่ในแถบประเทศอินเดีย กระทั่งฝิ่นแพร่ขยายเข้าสู่จีน ซึ่งในประเทศจีนนี้เอง อังกฤษเป็นผู้มีผลประโยชน์มหาศาล จากการผูกขาดการค้าฝิ่นให้ชาวจีน จนกระทั่งเกิดการขัดแย้งกับรัฐบาลจีนเมื่อปี ค.ศ.1839 และจีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

ปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อชาวเขาหลายเผ่าจากประเทศจีน ได้อพยพลงมาอาศัยอยู่ทางตอนใต้ ตามเทือกเขาและแถบชายแดนประเทศไทย ลาวและพม่า พร้อมกับนำต้นฝิ่นมาแพร่พันธุ์ ฝิ่นจึงเริ่มเข้าสู่ดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ และเริ่มแพร่หลายตั้งแต่นั้นมา

ตำนานฝิ่นที่เล่าขานในหมู่ชาวเขาเผ่าต่างๆ นั้นมักมีเค้าเรื่องคล้ายคลึงกันคือ กล่าวว่าแต่ก่อนนานมาแล้ว มีแม่เฒ่าคนหนึ่งอายุยืนมาก แต่ตายลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ก่อนตายแม่เฒ่าสั่งไว้ว่าให้เอาศพไปฝังไว้ที่บริเวณสามแยก ที่มีคนเดินผ่านไปมา จากนั้นก็ปรากฏว่ามีต้นไม้งอกขึ้นมา 2 ต้น คือต้นยาสูบงอกขึ้นมาที่นม ส่วนต้นฝิ่นงอกขึ้นมาที่บริเวณอวัยวะเพศ ชาวบ้านผ่านไปมาเห็นต้นไม้แปลกประหลาด ก็ลองเด็ดชิมดู ปรากฏว่าชาวบ้านชอบต้นยาสูบมากกว่าฝิ่น เนื่องจากต้นยาสูบเกิดจากนม ดังนั้นเด็กๆ พอหย่านมก็เลยดูดยาสูบแทน

ในทางชีววิทยา ต้นฝิ่นถือว่าเป็นพืชพื้นเมืองที่ขึ้นได้ดีในแทบเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนใครจะเป็นคนค้นพบคนแรกนั้นไม่ปรากฏหลักฐาน แต่จากเรื่องราวในวรรณคดีและหลักฐานทางโบราณคดี พบว่า มนุษย์รู้จักใช้ฝิ่นมาตั้งแต่กว่า 1,000 ปีก่อนคริสตกาล (สันนิษฐานว่ามีอายุ 3,000 ปีเริ่มที่เกาะไซปรัส) ฝิ่นถูกนำมาใช้ทางการแพทย์และเพื่อการผ่อนคลายอารมณ์มาเป็นเวลานานหลายทศวรรษแล้ว นอกจากนั้นฝิ่นยังใช้ในการรักษาอาการทางประสาท ระงับอาการไอ ท้องร่วง และบรรเทาความเจ็บปวดอย่างรุนแรง นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา มอร์ฟีน ซึ่งได้จากฝิ่นสกัดก็ถูกนำมากลั่นให้บริสุทธิ์ละลายนํ้าได้ง่าย ประกอบกับเริ่มมีเข็มฉีดยา จึงทำให้มีการฉีดสารละลายมอร์ฟีนเป็นจำนวนมาก

เรื่องราวของดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ ที่ในอดีตมีการปลูกฝิ่น ดินแดนแห่งนี้อยู่ในบริเวณผืนดินที่งอกออกมากลางแม่นํ้าโขงในรอยต่อระหว่าง 3 ประเทศ คือประเทศไทย ที่บ้านสบรวก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ประเทศพม่า ที่บ้านผักฮี้ อ.ท่าขี้เหล็ก จ.เชียงตุง และประเทศลาว ที่บ้านกว๊าน แขวงบ่อแก้ว การซื้อขายฝิ่นในสมัยก่อนนั้นมีราคาแพงมาก จนฝิ่นได้ฉายาว่า ทองดำ หรือ Black Gold แต่เดิมการซื้อขายมักใช้ทองคำเป็นตัวแลกเปลี่ยน ดังนั้นบริเวณสามเหลี่ยมทองคำจึงมีทองคำแพร่หลาย เนื่องจากการค้าขายฝิ่นมักจะมีหักหลังกันบ่อยๆ การซื้อขายแลกเปลี่ยนจึงต้องมีการผ่าพิสูจน์ ทั้งท่อนฝิ่นและก้อนทองคำ อันเป็นที่มาของชื่อ สามเหลี่ยมทองคำ

นอกจากนั้นฝิ่นยังถูกนำมาเกี่ยวโยง กับการค้าขายของขบวนการชื่อก้องโลก ขุนส่า หรือ จางซีฟู ถือเป็นผู้มีอิทธิพลในการค้าฝิ่นมากที่สุดในโลก ขุนส่าเป็นลูกของเลาจาง หรือ ขุนสาม ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากจีนฮ่อ ส่วนแม่ชื่อนางคำ เป็นชาวไทใหญ่ ในอดีตขุนส่าเคยเป็นหัวหน้าหน่วย “ก่าก่วยแย” หรือที่รู้จักในชื่อ หน่วยปราบปรามพวกไตกู้ชาติ และยังเคยเป็นหน่วยสืบราชการลับของพม่า จนกระทั่งได้รับยศ พันเอก ปีพ.ศ.2509 ขุนส่าถูกจับที่เมืองตองยี และถูกขังเป็นเวลานานถึง 7 ปี ก่อนจะถูกเพื่อนสนิทที่ชื่อ จางซูเฉียน หรือ ฟ้าหลั่น ได้วางแผนจับตัวนายแพทย์ชาวรัสเซีย 2 คน เพื่อแลกกับอิสระภาพ ขุนส่าจึงออกมาเข้าร่วมขบวนการกู้ชาติไตได้อีก โดยได้ประกาศต่อหน้าสาธารณชนว่า

“ถ้าข้าพเจ้าได้ประเทศฉานคืนมา จะทำให้คน 8 ล้านคนของข้าพเจ้ามีความสุข แต่ถ้าข้าพเจ้าสามารถระงับปัญหายาเสพติดได้จะทำให้คนทั้งโลกมีความสุข”

ปัจจุบันเรื่องราวของการปลูกฝิ่นในดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ ได้กลายเป็นอดีตอันขมขื่นไปแล้ว พื้นที่แห่งนี้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นโรงแรมชื่อดังขนาดมหึมา ที่นักการเมืองหลายคนของไทย ได้เข้าไปมีหุ้นส่วนในโรงแรมดังกล่าว ภาย ในถูกตกแต่งให้เป็นสถานที่เล่นการพนันที่ครบวงจร มีนักแสวงโชคเดินทางมาที่นี้เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีคลับเฮ้าส์ไว้บริการแก่สมาชิกอีกด้วย

ตำนานและเรื่องราวของการปลูกฝิ่นยังไม่สิ้นสุดลงเมื่อ พัชรี ศรีมัธยกุล ได้เก็บรวบรวมเครื่องมือที่เกี่ยวกับฝิ่น ตั้งแต่อดีตหาดูได้ยากนำมาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น ภายในจัดแสดงตั้งแต่ประวัติของการปลูกฝิ่นและมีอุปกรณ์เกี่ยวกับการปลูกและสูบฝิ่นจำนวนมาก เรียกว่าได้รับความสนใจทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทย-ต่างประเทศ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แทบจะเรียกว่าได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์เดียวที่จัดแสดงเรื่องราวของฝิ่น ได้ครบถ้วนกระบวนความ สำหรับท่านที่สนใจสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น ตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เปิดบริการให้นักท่องเที่ยวเข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-16.30 น.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น