สงบเงียบกลางขุนเขากับเรื่องราวของ “วัดสบลี”

ภาพเขียนฝาผนังในวิหารวัดสบลีถือว่ามีความสวยงามและสมบูรณ์ไม่แพ้ภาพเขียนสีจากวัดอื่น ภาพเขียนฝาผนังที่สัดสบลีดูจะพิเศษและแตกต่างจากวัดอื่นที่นิยมเขียนลงบนผนังปูน แต่ภาพเขียนของวัดสบลีจะเขียนลงบนผนังไม้ คล้ายกับภาพเขียนจิตรกรรมบนแผงคอสองที่วัดเวียงต้า จังหวัดแพร่

การเดินทางท่องเที่ยวก็คือการเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับชีวิต สิ่งใดที่พบพานจากการท่องเที่ยวแล้วเกิดความประทับใจ ถือว่าการเดินทางดังกล่าวทำให้เรา “ได้” ความรู้สึกดี ๆ ที่ปราศจากการหลอกลวงซึ่งบางครั้งหาไม่ได้ตลอดช่วงเวลาของการทำงาน ที่สำคัญสถานที่ทุกแห่งล้วนแล้วแต่มีจุดประทับใจตามแต่ว่าใครจะเลือกมองเลือกชม เหมือนกับที่แจ้ซ้อนที่ตรึงอยู่ในใจของผมและมักมีเรื่องราวความประทับใจทุกครั้งที่มาเยือน หลายคนมัวแต่หลงใหลอยู่กับอะไรที่ใหญ่โตมโหระทึก หรือบางสิ่งที่สร้างขึ้นตามกระแส แต่นึกไม่ถึงว่าวันหนึ่งเมื่อยํ่าเท้ามาที่แจ้ซ้อน กลับพบสิ่งเล็กๆ ที่น่าทึ่งและตราตรึงใจไปอีกแสนนาน

วัดสบลี วัดเล็กๆ ที่เงียบสงบซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาของอำเภอเมืองปาน ที่นักท่องเที่ยวมักเดินทางผ่านไปผ่านมาโดยละเลยที่จะเข้าไปแวะเยี่ยมชมศิลปกรรมชั้นสุดยอดของล้านนา เล่ากันว่าวัดนี้มีอายุหลายร้อยปีและเป็นวัดเก่าแก่ที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่วัดในแจ้ซ้อน ที่สำคัญวัดนี้ยังเคยเป็นวัดที่ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทยเดินทางข้ามป่าเขามาเพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ อีกทั้งภายในวิหารหลวงยังเป็นที่ประดิษฐานพระประธานที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งและรวมถึงภาพเขียนสีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธชาดกที่สวยงามไม่แพ้ภาพเขียนสีจากวัดภูมินทร์จังหวัดน่านและจิตรกรรมในวิหารวัดพระสิงห์เชียงใหม่ ได้ยินได้ฟังเช่นนี้แล้ว หัวใจของผมรู้สึกพองโตจนทำให้เกิดความตั้งใจที่จะเดินทางมาเยือนวัดแห่งนี้เสียแล้ว

พ่อคำหล้า อ่อนน้อม อายุ 70 ปีอดีตเจ้าอาวาสวัดสบลีที่ปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นปู่จารย์ หรือ มัคธายก นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้เฒ่าที่เหลืออยู่ไม่กี่คนของหมู่บ้านที่สามารถอ่านปั๊บสา (ค่าวธรรม) อักษรล้านนา ท่านเล่าว่า วัดสบลีแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อราวหลายร้อยปีก่อน โดยเจ้ากาวิละมาละกา เจ้าอาวาสองค์แรก ได้สร้างวิหารขึ้นประดิษฐานพระประธานศิลปะล้านนา ภายในวิหารยังมีภาพเขียนสีจิตรกรรมบนผนังไม้เรื่องราวนิทานพื้นบ้านเรื่อง “วรวงศ์หงษ์อามาตย์” โดยสล่าคำตาน

หลังจากที่วิหารวัดสบลีผ่านฤดูกาลมาหลายร้อยปีก็เกิดการชำรุดผุพังหลังคารั่วจนไม่สามารถประกอบศาสนกิจได้ ศรัทธาชาวบ้านสบลีได้จึงคิดทำการรื้อวิหารเพื่อจะสร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2528 แต่ได้รับการยับยั้งจากอาจารย์นคร พงษ์น้อย ซึ่งท่านเกิดความเสียดายในคุณค่าของศิลปกรรมล้านนาที่สวยงามและหายาก ท่านจึงได้ให้ชาวบ้านช่วยกันบูรณะรักษาให้คงสภาพเดิมเอาไว้ ซึ่งในครั้งนั้นก็ได้มีการซ่อมแซมบางส่วนให้คงสภาพรูปแบบเดิม เช่น ไม้ที่นำมาทำเสาวิหารก็มีการทำขึ้นเหมือนของเดิมคือเป็นเสาแปดเหลี่ยม

ภาพเขียนฝาผนังในวิหารวัดสบลีถือว่ามีความสวยงามและสมบูรณ์ไม่แพ้ภาพเขียนสีจากวัดอื่น ภาพเขียนฝาผนังที่สัดสบลีดูจะพิเศษและแตกต่างจากวัดอื่นที่นิยมเขียนลงบนผนังปูน แต่ภาพเขียนของวัดสบลีจะเขียนลงบนผนังไม้ คล้ายกับภาพเขียนจิตรกรรมบนแผงคอสองที่วัดเวียงต้า จังหวัดแพร่

พ่อคำหล้าเล่าให้ฟังอีกว่า ภาพเขียนในวิหารนี้เป็นภาพเขียนเก่าเมื่อหลายร้อยปี สมัยที่พ่อเป็นเด็กท่านเล่าให้ฟังว่าก็เห็นภาพเขียนนี้มานานแล้ว ปัจจุบันพ่อของท่านเสียชีวิตไปได้ 50 กว่าปีแล้ว ท่านยังเล่าอีกว่า สีฝุ่นที่ใช้เขียนภาพจิตรกรรมนั้นนำมาจากดินใกล้ๆ นํ้าแม่ลี ซึ่งเป็นแม่นํ้าสายใหญ่ที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ในบริเวณนั้นจะมีดินสีที่สามารถนำมาใช้เขียนแทนดินสอได้ พ่อคำหล้ายังเล่าย้อนถึงอดีตว่า สมัยที่ท่านเป็นเด็กก็ได้นำดินบริเวณนี้มาใช้ทำดินสอ ปัจจุบันเมื่อแม่นํ้าเปลี่ยนเส้นทาง บริเวณดังกล่าวก็กลายเป็นไร่นาของชาวบ้าน

แม้ว่าปัจจุบันเมื่อความเจริญรุดหน้าไปไกล ผู้คนชาวบ้านรับเอาวัฒนธรรมการบริโภคจากสังคมเมืองเข้ามาใช้ ซึ่งเห็นได้จากเริ่มมีสิ่งปลูกสร้างที่ทันสมัยเกิดขึ้นในหมู่บ้าน มีอาคารร้านค้าต่างๆ มากมาย ทว่าวิหารของวัดสบลียังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงว่า ครั้งหนึ่งวัดแห่งนี้เคยเป็นโบราณสถานที่เจริญรุ่งเรืองแห่งพุทธศาสนาที่แม้แต่กาลเวลาก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้

นักท่องเที่ยวที่สนใจเดินทางมาเที่ยวชมศิลปกรรมสกุลช่างล้านนาและภาพเขียนสีฝาผนังที่สวยงาม สามารถเดินทางมาเที่ยวชมได้ที่วัดสบลี หมู่ที่ 6 ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น