สกู๊ปหน้า1…ทหารเยี่ยมชม…!! หมู่บ้านยามชายแดน

รอง ผอ.ศปร.เขตพื้นที่พลพัฒนา 3 ตรวจติดตามการดำเนินงาน พร้อมแจกผ้าห่มกันหนาวกองทัพบก 100 ผืน เยี่ยมชมการฝึกอบรมชุมชนเข้มแข็งโครงการหมู่บ้านยามชายแดนตามพระราชดำริจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 เวลา 11.30 น. ที่ผ่านมา พันเอก ทวีศักดิ์ วงศ์ทวีทรัพย์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคงเขตพื้นที่ กองพลพัฒนาที่ 3 กองทัพภาคที่ 3 เดินทางไปตรวจติดตามการดำเนินงานตามโครงการหมู่บ้านยามชายแดนบ้านแม่ส่วนอู ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้การต้อนรับ

ภายหลังเข้ารับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานช่วยเหลือประชาชนหมู่บ้านยามชายแดนบ้านแม่ส่วยอู จากส่วนราชการต่างๆ พันเอก ทวีศักดิ์ฯ ได้มอบผ้าห่มกันหนาวด้วยความห่วงใยจากผู้บัญชาการทหารบกให้กับราษฎรบ้านยามชายแดนแม่ส่วยอู จำนวน 100 ผืน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

พร้อมกันนี้ได้ตรวจติดตามงานส่งเสริมอาชีพการทอผ้าและจักสานหมวกเพื่อสร้างรายได้ให้ราษฎรในหมู่บ้าน และตรวจติดตามการฝึกอบรมเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับราษฎรบ้านแม่ส่วยอู และบ้านห้วยเสือเฒ่า จำนวน 50 คน

สำหรับหมู่บ้านยามชายแดน แม่ส่วยอู เป็นหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นตาม พระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2545 เพื่อรวบรวมราษฎรที่กระจัดกระจายอยู่ตามแนวชายแดน ให้มาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน เพื่อพัฒนาราษฎรในพื้นที่ให้เข้มแข็ง มีส่วนร่วมรักษาอธิปไตยของชาติอย่างมีระบบตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

โดยมีหน่วยงานทหารจากกองพลพัฒนา กองทัพภาพที่ 3 ร่วมบูรณาการกับส่วนราชการทุกภาคส่วนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้ามาให้ความรู้ อบรม สร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อให้ราษฎรมีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดี

หมู่บ้านยามชายแดนบ้านแม่ส่วยอู มีพื้นที่โครงการทั้งหมด 1,857 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม 300 ไร่ ที่อยู่อาศัย 15 ไร่ พื้นที่แปลงรวม 15 ไร่ และพื้นที่อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ 1,527 ไร่ เป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านห้วยเสือเฒ่า หมู่ 8 ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน มีประชากรรวม 27 ครอบครัว 115 คน เป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง เป็นชาย 48 คน หญิง 67 คน ได้รับสัญชาติไทย จำนวน 105 คน ยังไม่มีสัญชาติ 9 คน ประกอบอาชีพ ทำสวน ทำนา รายได้เฉลี่ย ประมาณ 22,909 บาท ต่อครอบครัวต่อปี

ปัจจุบันหน่วยงานราชการทุกภาคส่วนได้เข้ามาให้การช่วยเหลือฝึกและพัฒนาอาชีพ เช่น ทำเครื่องประดับเงิน การจักสาน การแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าทอ การแปรรูปผ้าปัก การทอผ้าชเผ่า ทำให้ราษฎรมีสมรรถนะการประกอบอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพตามพระราชดำริ ได้เข้ามาสนับ สนุนงานด้านศิลปาชีพ แจกจ่ายกี่ทอผ้า เส้นด้าย และรับซื้อผลิตภัณฑ์ ทำให้มีรายได้เสริมมากขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น