พระล้านนา วันที่ 23 ม.ค. 60

ใกล้เทศกาลตรุษจีนวันที่ 28 ม.ค.นี้ ถือโอกาส อวยพรล่วงหน้า ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้ เฮงๆ รวยๆ ตลอดปี 2560 ครับ……..

องค์แรก พระเปิม ติดอันดับ 3 ของ 10 ที่สุดพระล้านนาปี 2559 ด้วยราคา 1,000,000 โดยแป๊ะเมืองแพร่บุกจากพรรค คูวิบูลย์ศิลป์ ต้องขอชื่นชมนักสะสมรุ่นใหม่บ้านเราหลายคนที่ซื้อพระลำพูนสวยๆจากรังใน กทม.กลับมา หลาย 10 ปี ที่ผ่านมาพระสวยๆ ส่วนใหญ่ถูกนักสะสมส่วนกลางเก็บไปหมด โดยเฉพาะพระรอดซึ่งราคาแพงมานานแล้ว วันนี้พระพิมพ์ใหญ่สวยๆราคา 10 ล้านอัพ จะเช่าต้องระวังถ้าราคาถูกกว่าความเป็นจริง องค์นี้เขียวสวย เป็นของ กฤติยาพระไทย……..

อีกองค์ พระเชียงแสนตุ๊กตาเล็ก ขนาดเล็กน่ารักกำลังแขวน ที่สำคัญราคายังไม่แพงหลักพันเกือบกลาง ยังมีพระหมุนเวียนให้เลือก พระชุดนี้ 20 กว่าปีก่อนมีคนเหมาจาก อ.แม่สาย เชียงราย เข้ามาวางขายในตลาดพระทิพยเนตร ตอนแรกตั้งราคาไว้องค์ละ 500 คนไม่นิยมเพราะศิลป์ไม่สวย แต่มีข้อดีที่เป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดง บางองค์ปิดทองเก่าจากกรุ ทำให้ดูง่าย หลังพระเริ่มหมดจากตลาด ราคาขยับขึ้นเรื่อยๆ วันนี้สวยๆสนิมแดงๆ 4,000 อัพ องค์นี้สนิมแดงจัดเป็นของดอกคำใต้ 99……..

ถัดมา ครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างทางแร่ไมก้า เป็นพระครูบารุ่นเดียวที่สวนภาวะเศรษฐกิจติดอันดับ 10 ที่สุดพระล้านนา 2559 มีการซื้อขายทำนิวไฮ ในขณะที่รุ่นอื่นราคาปรับตัวลดลง รุ่นนี้น่าเก็บ น่าใช้สร้างสมัยครูบาสร้างทางขึ้นดอยสุเทพปี 2477-2478 เพื่อแจกผู้มาช่วยงานสร้างทาง ถึงวันนี้อายุ 83 ปี เป็นพระพิมพ์มาตรฐาน แยกแท้เก๊ได้ มีธรรมชาติความเก่า จำนวนสร้างไม่มาก น่าเก็บน่าใช้ องค์นี้สวยน่ารัก เป็นของ กาแลพระเครื่อง…….

อีกองค์ พระกริ่งนเรศวร 2507 นับเป็นพระกริ่งนเรศวรรุ่นแรกที่มีการจัดสร้างขึ้นโดย พล.ต.ต.ยรรยง สะท้านไตรภพ นายกสมาคมศิษย์เก่าพิษณุโลกพิทยาคม พิธีพุทธาภิเษก 19 พฤศจิกายน 2507 โดยพระเกจิอาจารย์ดัง 65 รูป เช่น หลวงพ่อทบ ครูบาวัง หลวงพ่อเงิน หลวงพ่อปี้ อ.ไสว หลวงพ่ออั้น ฯลฯ ใต้ฐานตอกโค๊ตธรรมจักรและหมายเลข จำนวนสร้างประมาณ 650 องค์ สวยๆราคา 200,000 องค์นี้สวยเดิม เป็นของ กมน พระเครื่อง……..

ถัดมา เหรียญท้าวมหาพรหมเทพปฏิมา 2514 จัดสร้างโดยมูลนิธิโรงแรมเอราวัณ จำลองรูปพระพรหมเอราวัณจากศาลพระพรหม สีแยกราชประสงค์ พิธีพุทธาภิเษกโดยหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ที่ศาลแห่งนี้จะมีผู้เดินทางมาสักการะทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นที่เลื่อมใสของชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะคนจีนสิงคโปร์ ฮ่องกง รุ่นนี้นับเป็นรุ่น 2 นิยมกว่ารุ่นแรกที่สร้างปี 2513 สวยๆราคา 1,000 อัพ เหรียญนี้สวยเดิม เป็นของ พระลักษมี……..

อีกองค์ พระรูปเหมือนฉีดมงคลเกษม 2 ออกพร้อมกับพระผงมงคลเกษม 2 เนื้อนวโลหะ จำนวนสร้าง 63 องค์ ตอกตัว น.13 องค์ รวม 76 องค์ ตอกโค๊ดและหมายเลขทุกองค์ เพื่อแจกกรรมการ รุ่นนี้นิยมราคาแพง สวยๆ 100,000 อัพ สำหรับ ผู้ศรัทธามีรูปเหมือนฉีดสมเด็จพุทธโฆษาจารย์เนื้อนวะสร้างในพิธีเดียวกัน ราคาย่อมเยากว่า องค์นี้ no.33 สวยเดิม เป็นของ กาดเมฆ……..

ถัดมา รูปเหมือนฉีดสมเด็จพุทธโฆษาจารย์ 2517 ออกพร้อมกับรูปเหมือนฉีดมงคลเกษม 2 ออกแบบโดยช่างเกษมคนเดียวกัน ปลุกเสกโดยหลวงพ่อองค์เดียวกัน เนื้อนวโลหะจำนวนสร้าง 63 องค์ตอกโค๊ต 17 แต่ราคาถูกกว่าเยอะสวยๆ 30,000 อัพ สำหรับผู้ศรัทธา พุทธคุณใช้ได้เหมือนกัน รุ่นนี้เซียนรุ่นเก่าทันพิธีปี 17 เก็บกันหมด เป็นพระดีปีลึกของหลวงพ่อเกษมที่น่าเก็บน่าใช้ องค์นี้สวยเดิม เป็นของ ทัดพระเครื่อง…….

อีกองค์ พระสมเด็จหลังสิงห์ 2516 ออกวัดพระสิงห์พร้อมกับพระผงรูปเหมือนครูบาเข้าศรีวิชัย หลังสิงห์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัดพระสิงห์ พิธีพุทธาภิเษก 12 เมษายน 2516 โดยพระเกจิอาจารย์ล้านนา เป็นพระดีปีลึกที่ราคายังไม่แพง วัตถุมงคลวัดพระสิงห์ที่ได้รับความนิยมมีหลายรุ่น เช่น หลวงพ่อจาด 2485 หลวงพ่อทวด 2506 พระกริ่งนเรศวรเมืองงาย 2512 ล้วนได้รับความนิยม องค์นี้สวยเดิมพร้อมกล่อง เป็นของ จรพันองค์……

ถัดมา เหรียญครูบาบุญชุ่ม ศิษย์ภูฏานสร้าง ด้านหน้ารูปครูบาบุญชุ่มนั่ง มีภาษาอังกฤษ ครูบาเจ้าบุญชุ่ม ไทยแลนด์ ด้านหลัง เทพกู รินโพเช่ ใต้ฐานภูฏาน ปีที่สร้างไม่ทราบแน่ชัด บางกระแสอ้างว่าเจ้าชายจิ๊กมี่ ประเทศภูฏานสร้าง ช่วงนี้กระแสครูบาบุญชุ่มเริ่มมาแรง เหรียญรุ่นแรกของท่านสวยๆราคา 5,000 อัพ วัตถุมงคลของท่านมีหลายรุ่นล้วนได้รับความนิยม เหรียญนี้สวยเดิม เป็นของ แจ๊คเชียงดาว……..

ท้ายสุด รูปหล่อครูบาเจ้าศรีวิชัยตามรอยจอบแรก 2559 เนื้อเงินกรรมการ ของ ส.สกุณา จำนวนสร้าง 99 ชุด มีเนื้อ เงิน ตะกั่ว สำริด เทหล่อแบบโบราณ ตอกโค๊ตแยกตำแหน่งตามเนื้อพระ และหมายเลขใต้ฐานทุกองค์ รุ่นนี้เนื้อทองระฆังที่แจกรางวัลที่ 2,3 และ 4 สร้าง 1,500 องค์ หลังแจกรางวัลซื้อกัน 400 หลังงานขยับขึ้นเป็น 500 ไม่มีจำหน่ายใช้แจกเป็นรางวัลอย่างเดียว เช่นเดียวกับรูปเหมือนบูชาครูบาที่วันงานซื้อกัน 2,000 หลังงาน 2,500 นักสะสมนิยมเก็บเป็นคอล เลคชั่น……..

น้อย ไอยรา
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น