ลำพูนปลูกฝังเยาวชน รักสามัคคี-ปรองดอง

จังหวัดลำพูนส่งเสริมให้เยาวชน มีจิตสำนึก รักสามัคคี และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช

เมื่อวันที่ผ่านมา ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน ตำบลทาสบเส้า อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ที่ทำการปกครองจังหวัดลำพูน จัดโครงการปลูกฝังสำนึกรักสามัคคีและเสริมสร้างความปรองดอง ประจำปี 2560 โดยมี นายวีระชัย ภู่เพียงใจ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพร้อมทั้งนำผู้ร่วมงานประกอบพิธีแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ซึ่งมีนักศึกษา , อาจารย์ จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน เข้าร่วม โครงการฯ จำนวน 163 คน จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนได้ให้โอวาทแก่เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ฯ เกี่ยวกับการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติในโรงเรียน ซึ่งวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีได้มุ่งส่งเสริมให้ความรู้แก่นักศึกษาในการทำเกษตรแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมีอาชีพสร้างรายได้ให้ครอบครัว

จากนั้นนายมนัส อ่ำทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ได้บรรยายความรู้ทางวิชาการให้แก่เยาวชน ในหัวข้อวิชา “ การปูพื้นฐานความสำคัญของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หลักการอยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง” และ พระมหาเอนก จันทโชโต วัดหน่องหล่ม ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมืองลำพูน ได้บรรยายเกี่ยวกับการส่งเสริมให้เยาวชนนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาปฏิบัติในการเรียน

ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำ “โครงการปลูกฝังสำนึกรักสามัคคีและเสริมสร้างความปรองดอง ประจำปี 2560” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมาย เพื่อมุ่งเน้นการปลูกฝัง และเสริมสร้างสร้างแนวคิด ให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ให้ได้ศึกษาเรียนรู้ เกี่ยวกับหลักการทรงงานและแนวทางพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ในหลักการมีส่วนร่วม ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ สามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและชุมชนในพื้นที่ของตนเอง ปลูกฝังสำนึกความจงรักภักดีต่อสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้ยั่งยืนอยู่ในจิตใจ ควบคู่ไปกับการตระหนักถึงประโยชน์สุขของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน

ในส่วนของจังหวัดลำพูนได้จัดทำแผนปฏิบัติงานและจัดกระบวนการเรียนรู้ภายใต้หลัก “ 3 ร่วม 3 สร้าง ” คือ 1. “ ร่วมกันพูดคุย ” แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อ “สร้างสามัคคี” 2. “ ร่วมกันคิด ” ระดมสมองเพื่อ “ สร้างพลัง ” ปลูกฝังและเสริมสร้างกระบวนการคิดและเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์เพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาสังคมให้มีความปรองดองสมานฉันท์ และ 3. “ ร่วมกันทำ ” เพื่อ “ สร้างสังคมปรองดอง ” และความสงบสุขในสังคมอย่างยั่งยืน

ร่วมแสดงความคิดเห็น