เปิดฤดูกาล ล่าทางช้างเผือกยามเช้า ต้นกุมภาพันธ์ ถึงปลายเมษายน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยช่วงเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ตลอดทั้งเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน จะเห็นใจกลางทางช้างเผือกเด่นชัด ทางทิศตะวันออก ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับกลุ่มดาวคนยิงธนู หากฟ้าใส ไร้เมฆ ในที่ไม่มีแสงเมืองรบกวน เห็นชัดทุกภูมิภาคของประเทศ

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หน.งานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ในช่วงรุ่งเช้าตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป แนวใจกลางทางช้างเผือก จะปรากฏบริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ขนานกับเส้นขอบฟ้า ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับกลุ่มดาวคนยิงธนู สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 น. จนถึงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น และยังมีดาวเสาร์สว่างปรากฏบริเวณด้านซ้าย ของใจกลางทางช้างเผือกอีกด้วย และหลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เราจะสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ แนวใจกลางทางช้างเผือกจะปรากฏอยู่สูงจากขอบฟ้ามากขึ้น

จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงปลายเมษายน แนวใจกลางทางช้างเผือกจะค่อยๆ เปลี่ยนทิศทางเป็นแนวพาดบริเวณกลางฟ้า สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป นับเป็นช่วงเวลาที่สามารถชื่นชมความสวยงาม และบันทึกภาพทางช้างเผือกได้ยาวนานขึ้น

ใจกลางทางช้างเผือก(Galactic Center) คือส่วนที่สว่างที่สุดของทางช้างเผือก ประกอบด้วยวัตถุท้องฟ้ามากมายเช่น ดาวฤกษ์ กระจุกดาว รวมทั้งเนบิวลา ทางช้างเผือกเป็นวัตถุท้องฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อมองจากโลก สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นแถบสว่างพาดเป็นแนวยาวกลางฟ้า ตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ แนวใจกลางทางช้างเผือกอยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องและกลุ่มดาวคนยิงธนู ปรากฏบนท้องฟ้าในตำแหน่งที่เฉียงไปทางใต้ และเนื่องจากใจกลางทางช้างเผือกอยู่ในบริเวณกลุ่มดาวทางซีกฟ้าใต้ ทำให้ทางตอนใต้ของไทยมองเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกอยู่สูงจากมวลอากาศบริเวณขอบฟ้า และสูงจากขอบฟ้ามากกว่าภูมิภาคอื่น ทำให้ผู้คนในแถบภาคใต้ มีโอกาสสังเกตทางช้างเผือกได้อย่างชัดเจนมาก

ช่วงเวลาที่สังเกตทางช้างเผือกได้ดีที่สุดคือ ปลายเมษายน-ต้นตุลาคม เนื่องจากสามารถสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนูได้ง่าย ทางช้างเผือกบริเวณนี้ จะสว่างและสวยงามกว่าบริเวณอื่นๆ และอยู่ในตำแหน่งกลางท้องฟ้าเกือบตลอดทั้งคืน แต่ในประเทศไทยเป็นช่วงฤดูฝน จึงมักมีอุปสรรคเรื่องเมฆ และฝนตก แต่หากท้องฟ้าเปิดไม่มีเมฆฝน ก็จะถือเป็นโอกาสดีที่สุดของการถ่ายภาพ ทางช้างเผือกในรอบปี หลังจากนั้นในช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อุปสรรคเรื่องเมฆฝนจะเริ่มน้อยลง จะสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

จะเห็นว่าเราสามารถสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้เกือบตลอดทั้งปี แต่ปัจจัยหลักสำคัญได้แก่ สภาพท้องฟ้า หากท้องฟ้าปลอดโปร่ง มีทัศนวิสัยของท้องฟ้าดี ไม่มีแสงรบกวนทั้งแสงจากดวงจันทร์ แสงไฟจากเมือง ก็จะสามารถสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้คนในเมืองส่วนใหญ่ มักไม่มีโอกาสได้ชมทางช้างเผือก เนื่องจากในตัวเมืองมีแสงไฟและฝุ่นละออง ควัน เป็นจำนวนมาก ทำให้ทัศนวิสัยของฟ้าในเขตเมือง ไม่เอื้อต่อการสังเกตเห็นทางช้างเผือก หากต้องการสัมผัสทางช้างเผือก อาจจะต้องเดินทางต้องไปยังสถานที่ ที่ห่างจากตัวเมืองอย่างน้อยประมาณ 30 กิโลเมตร เพื่อหลีกหนีจากมลภาวะทางแสงและฝุ่นละอองต่างๆ
นายศุภฤกษ์ ได้ให้ข้อแนะนำเบื้องต้นในการถ่ายภาพทางช้างเผือกว่า ควรหาสถานที่ทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้เล็กน้อย ที่มีความมืดสนิทไม่มีแสงรบกวน หันหน้ากล้องไปที่ใจกลางทางช้างเผือก บริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนู เลือกใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้ได้องศาการรับภาพที่กว้างมากขึ้น ปรับระยะโฟกัสของเลนส์ที่ระยะอนันต์ ใช้รูรับแสง ที่กว้างที่สุด พร้อมตั้งค่าความไวแสงตั้งแต่ 1,600 ขึ้นไป และยังมีรายละเอียดเทคนิคการถ่ายภาพทางช้างเผือกอีกมาก ที่จะทำให้บันทึกภาพได้สวยงาม น่าประทับใจ ติดตามรายละเอียดการถ่ายภาพทางช้างเผือกเพิ่มเติมได้ที่ www.narit.or.th

ร่วมแสดงความคิดเห็น