เปิดตัวเลข ดัชนีราคาสินค้าเกตรไทย

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง กุ้งขาวแวนนาไม ราคาสูงขึ้น ส่งผลดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือนธันวาคม 2559 เพิ่มร้อยละ 7.24 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2559 คาด มกราคม 2560 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรจะลดลง เนื่องจากอ้อยโรงงาน และ มันสำปะหลังผลผลิตออกสู่ตลาดมาก

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมราคาสินค้าเกษตรซึ่งวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรประจำเดือนธันวาคม 2559 พบว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.35 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ธันวาคม 2558) สินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ยางพารา ราคาสูงขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากมีมาตรการเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำมันปาล์มมากขึ้น สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาลดลงเนื่องจากมีการนำเข้าข้าวสาลี มาทดแทนมันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

นางสาวจริยา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้หากเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2559 ภาพรวมดัชนีราคาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.24 สินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการมีความต้องการซื้อเพื่อส่งมอบ กุ้งขาวแวนนาไม ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา รวมทั้งมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ไข่ไก่ ราคาลดลงเนื่องจากสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ทั้งนี้ เดือนมกราคม 2560 คาดว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรจะลดลงเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2559 เนื่องจากอ้อยโรงงาน และ มันสำปะหลัง ราคาลดลงจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก

เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนพฤศจิกายน 2559 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ธันวาคม 2558) สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ปาล์มน้ำมัน สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และไก่เนื้อ และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 32.67 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง และ ไข่ไก่ สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกุ้งขาวแวนนาไม ส่วนในเดือนมกราคม 2560 คาดว่า ดัชนีผลผลิตจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2559 เนื่องจากผลผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นช่วงปลายฤดูกาล

“ทั้งนี้ ในส่วนของภาพรวมรายได้ วัดจากดัชนีรายได้เกษตรกร ในเดือนธันวาคม 2559 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2558 ร้อยละ 18.64 เป็นผลมาจากดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.35 และดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.49” นางสาวจริยา กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น