สกู๊ปพิเศษ…ประเพณี “ปอยหลวง” ล้านนา

วิถีการดำรงชีวิตของผู้คนแต่ละท้องถิ่นบ่งบอกถึงวัฒนธรรม ประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา จนกลายเป็นแบบแผนที่คนรุ่นหลังจำต้องยึดถือปฏิบัติและดำรงรักษาไว้

ความเชื่อของคนล้านนาส่วนใหญ่มักจะสอดคล้องกับหลักคำสอนของพุทธศาสนา อาจเป็นเพราะว่า ศาสนาได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนล้านนามาช้านาน จะเห็นได้จากการร่วมแรงร่วมใจในการจัดงานบุญประเพณีนั้น สร้างความสามัคคีและพลังศรัทธาอันมหาศาลต่อพระพุทธศาสนา ดังความเชื่อที่ว่า อานิสงส์ของการสร้างกุศลผลบุญจะส่งผลให้ดวงวิญญาณของผู้ทำบุญได้ขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ ดังนั้นในงานบุญประเพณีของชาวล้านนา ไม่ว่าจะเป็นงานน้อยงานใหญ่ ก็ล้วนแล้วมาจากพลังศรัทธาของชาวบ้านทั้งสิ้น เช่นเดียวกับงานบุญปอยหลวง

คำว่า “ปอยหลวง” ในภาษาล้านนา หมายถึง การจัดงานเฉลิมฉลองศาสนสถานที่สร้างขึ้นจากศรัทธาของชาวบ้าน เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลา กุฏิ หรือ กำแพงวัด การที่เรียกว่า ปอยหลวง เพราะเป็นงานใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ในงานจะมีกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งพิธีทางศาสนาและมหรสพบันเทิง

ก่อนที่จะถึงวันงานประมาณ 2 – 3 วัน ชาวบ้านจะมีการทานตุง ซึ่งทอด้วยฝ้ายหลากสีสัน ประดับด้วยดิ้นสีเงิน สีทอง บางผืนทอขึ้นเป็นสีธงชาติไทย หรือ ปักเป็นรูปนักษัตร 12 ราศี ยาวประมาณ 2 เมตร นำไปติดไว้กับปลายไม้ไผ่ ศรัทธาชาวบ้านจะนำตุงของแต่ละบ้านไปปักไว้ตามถนนระหว่างหมู่บ้าน ตุงหลากสีสันที่เรียงรายอย่างสวยงามตลอดสองข้างทางของหมู่บ้านนั้น จะเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้คนที่ผ่านไปมาได้ทราบว่า วัดแห่งนั้นกำลังจะมีงานปอยหลวง
งานประเพณีปอยหลวงของชาวล้านนา นิยมจัดขึ้น 2 – 3 วัน วันแรก เรียกว่า “วันแต่งดา” หรือ “วันห้างดา” วันที่ 2 เรียกว่า “วันกิน” ส่วนวันสุดท้ายเรียกว่า “วันตาน” หรือ “วันครัวตานเข้า”

วันแต่งดา คือวันที่มีการเตรียมอาหารคาวหวานผลไม้ รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ที่จะนำไปถวายวัดใส่ใน “ครัวตาน” ซึ่งสร้างขึ้นจากไม้เป็นรูปสี่เหลี่ยม สำหรับใช้คนหาม ด้านบนมียอดแหลมทำมาจากใบคา สำหรับปักเงิน หรือสิ่งของเครื่องใช้ไม้สอยสำหรับพระภิกษุ สามเณร เช่น แป้ง สบู่ ผงซักฟอก แปรงสีฟัน สมุด ดินสอ ปากกา เพื่อนำไปถวายให้กับวัด ส่วนยอดของครัวตานแต่ละบ้านจะไม่เหมือนกัน บางบ้านทำเป็นรูปใบโพธิ์ นำถ้วย ช้อน จาน ชาม มาประดับ บางบ้านนำโต๊ะเก้าอี้ สำหรับถวายให้กับวัด ซึ่งแล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละบ้าน ถ้าต้นครัวตานของใครสวยงามก็จะเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้มาร่วมงาน สิ่งสำคัญของครัวตาน คือ ยอด มักนิยมนำธนบัตรมาหนีบไว้กับไม้ไผ่แล้วนำมาปักประดับตามยอดเป็นช่อชั้นอย่างสวยงาม

เมื่อถึงวันกิน จะมีบรรดาญาติมิตรสหาย แขกผู้มีเกียรติซึ่งเจ้าของบ้านได้บอกกล่าวให้มาร่วมงาน ก็จะมีการยกสำรับกับข้าว เหล้ายาปลาปิ้งมาเลี้ยง ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นวันที่สนุกสนาน รุ่งขึ้นอีกวันถือเป็นวันตาน มีการแห่ต้นครัวตานของแต่ละบ้านไปวัด บรรยากาศในวันนี้ก็ยิ่งสนุกสนานคึกคัก ด้วยว่าแต่ละบ้านจะมีมหรสพแตรวง ดนตรีพื้นบ้านนำหน้าครัวตาน ญาติพี่น้องก็จะออกมาร่วมรำวงฟ้อนรำ

ขณะเดียวกันบรรยากาศภายในวัดก็ดูคึกคักไม่แพ้กัน มีทั้งคนเฒ่า หนุ่มสาว เด็กเล็ก พ่อค้าแม่ค้านำสินค้ามาจำหน่าย รวมถึงศรัทธาญาติโยม ตลอดจนพระสงฆ์องค์เจ้าที่มาร่วมงานตามคำเชิญของวัดเจ้าภาพ พระภิกษุสงฆ์ที่อาราธนามาเป็น เจ้าพร หรือ ตุ๊เจ้าปั๋นปอน จะเป็นพระที่มีน้ำเสียงไพเราะมีโวหารที่สละสลวย เพราะต้องให้ศีลให้พรแก่ศรัทธาที่นำครัวตานมาถวาย เจ้าพรอาจจะพรรณาถึงความงดงามของครัวตานนั้น ๆ เพื่อให้ผู้ที่นำครัวตานมาถวายเกิดความปลาบปลื้มใจ

ส่วนบริเวณใกล้ ๆ วัดจะมีการแสดงมหรสพพื้นบ้าน เช่น ซอ ลิเก ให้กับผู้มาร่วมงานชม งานปอยหลวง จะดำเนินไปทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน ในบางหมู่บ้าน เวลากลางคืนจะมีคนมาเที่ยวงานเป็นจำนวนมาก เพราะกลางวันอาจติดภาระกิจการงาน ประการหนึ่งยังเป็นโอกาสที่หนุ่มสาวจะได้พบปะพูดคุยกันอีกด้วย

ประเพณีปอยหลวงของชาวล้านนา ถือว่างานบุญถวายทานที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งนานปีจะมีสักครั้ง ดังนั้นงานประเพณีปอยหลวง จึงเป็นงานที่ทุกคนปลาบปลื้มภูมิใจ บางคนชั่วอายุหนึ่งอาจมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพในงานปอยหลวงเพียงครั้งเดียวหรือสองครั้ง เพราะงานปอยหลวงจะจัดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการก่อสร้างศาสนสถานขึ้นเท่านั้น
จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น