เบื้องหลังการสร้างบ้านแปงเมืองลำพูนของชาวยอง

บางชุมชนมีการฟื้นฟูสวนน้อยจาวยอง (สวนครัวหลังบ้าน) ที่สอดคล้องกับแนวเศรษฐกิจพอเพียง บางชุมชนมีการฟื้นฟูประเพณีใจ๋บ้าน (เสื้อบ้าน) บางชุมชนมีการฟื้นฟูการตานสลากย้อม ฟื้นฟูประเพณีปี๋ใหม่และการดำหัว เป็นต้น โดยนำมารับใช้วิถีของชุมชนเอง โดยไม่ต้องรอให้หน่วยงานใด หรือใครๆ ที่อยู่นอกชุมชมมานำเสนอชี้นำ หรือ ถูกพวกนักส่งเสริมวัฒนธรรมนำเอามรดกของคนยองไปเป็นเพียงแค่ “สินค้า” เพื่อตอบสนองนักท่องเที่ยว หรือ เป็นเพียงผลงานที่เด่นดังทางวิชาการ โดยที่ชุมชนไม่ได้อะไรกลับมาเลย…แม้แต่ความภูมิใจ

การศึกษาเรื่องราวของชาวยองที่ผ่านมา มักจะเป็นการศึกษาเรื่องราวในเชิงประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับอำนาจของผู้ปกครองเป็นส่วนใหญ่ และมักจะสะท้อนแต่ด้านที่สวยงามหรือสิ่งดีงามทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ก็ละเลยเรื่องราววิถีชีวิตชาวบ้านและวัฒนธรรมชุมชน ไม่กล่าวถึงการต่อสู้ทางชนชั้น การถูกบีบบังคับระหว่างสามัญชนคนธรรมดา (ไพร่และทาส) กับเจ้านายซึ่งต่างก็เป็นผู้ผลักดันประวัติศาสตร์ร่วมกับผู้ปกครอง ได้ถูกละเลยและลืมเลือนไปเสีย ไม่กล่าวถึงและถูกบันทึกไว้ จึงทำให้ประวัติศาสตร์ขาดความสมบูรณ์ในข้อเท็จจริงของเหตุและผลที่เกิดขึ้นตามมาในสังคม

มีการศึกษามากมายที่ชี้ให้เห็นถึง การขึ้นไปกวาดต้อนชาวไตลื้อ ไตเขินไตยองมาเป็นไพร่เพื่อร่วมกับชนชั้นปกครองตระกูล “เชื้อเจ็ดตน” ในการสร้างบ้านแปงเมืองล้านนาขึ้นมาใหม่ ที่อยู่ในสภาพดุจเมืองร้างให้ได้รับการฟื้นฟูก่อนปี พ.ศ.2348 มาก่อนแล้ว โดยมีการเรียกประวัติศาสตร์ยุคนี้ว่า “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” แล้วประวัติศาสตร์ฉบับนี้ก็ถูกยัดเยียดให้หลายชุมชนนำไปท่องจำ แต่ไม่มีความกล้าพอที่จะศึกษาและกล่าวถึง “ข้าทาสชาวยอง” จากสงครามกวาดต้อน (ทาสปลายหอกงาช้าง ทาสข้าหอโรงคน ทาสในเรือนเบี้ย) ในครั้งนั้นว่ามีพัฒนาการต่อมาอย่างไร

ชาวไตยองถูกกวาดต้อนมาเป็นกลุ่มเป็นหมู่บ้านชุมชน มาสร้างเมืองลำพูนร่วมกับเจ้าคำฝั้น อนุชาของเจ้ากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ (ในฐานะเจ้าบุรีรัตน์ของเมืองเชียงใหม่) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ให้เป็นเจ้าเมืองลำพูนองค์แรกในฐานะเจ้าประเทศราช ขึ้นตรงต่อราชอาณาจักรสยาม เป็นบำเหน็จรางวัล (ทรัพย์สินและข้าทาส) จากสงครามกวาดต้อนครั้งนั้น โดยให้ข้าทาสมาเป็นพลเมืองร่วมบูรณะฟื้นฟูเมืองลำพูนขึ้นมาใหม่จากเดิมมีสภาพเป็นเมืองร้าง และเพื่อให้มีหน้าที่ป้องกันเมืองเชียงใหม่จากข้าศึก ตามที่ได้รับมอบหมายหน้าที่จากส่วนกลางด้วย

การสร้างบ้านแปงเมืองลำพูน ก็โดยยกชุมชนชาวยองเข้าไปตั้งถิ่นฐานตามลุ่มนํ้าต่างๆ จากบริเวณรอบๆ เมืองลำพูน ตามความเห็นชอบของพวกเจ้าที่ต้องการเรียกใช้แรงงานมีฝีมือจากผู้อพยพ ก็จะถูกกำหนดให้ตั้งถิ่นฐานไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก แล้วผู้คนก็กระจายไปตั้งถิ่นฐานตามลุ่มนํ้าแม่สารในเขตตำบลเวียงยองและตำบลป่าสัก และอีกบางส่วนให้ไปตั้งถิ่นฐานในลุ่มแม่นํ้าทารอบๆ เวียงป่าซาง ซึ่งเป็นไปตามกรรมสิทธิ์ของมูลนายแต่ละคนต่อข้าทาสที่ได้รับส่วนแบ่งจากสงครามครั้งนั้นนั่นเอง

เหมืองฝาย : ระบบเศรษฐกิจที่ถูกฟื้นฟูขึ้นใหม่ เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการตั้งถิ่นฐาน จึงจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงทางด้านการผลิต โดยเฉพาะคือการทำนาเพื่อปลูกข้าวไว้บริโภคเป็นหลักก่อน

อาศัยแรงงานที่มีทักษะในระบบเหมืองฝายจากบ้านเมืองเดิมมาก่อน มาสร้างระบบเหมืองฝายขึ้นใหม่ แต่การถือครองที่นาของระบบเหมืองฝายใหม่ที่นาจะถูกครอบครองโดยพวกเจ้าผู้ครองนครที่ส่งบุตรหลานหรือผู้ที่ไว้ใจขยายการตั้งถิ่นฐานเข้าไปควบคุมและดูแลผลประโยชน์ในพื้นที่ว่างเปล่าที่มีเป็นจำนวนมาก

การควบคุมระบบเหมืองฝายผ่านการใช้อำนาจของหัวหน้าเหมืองฝาย (แก่ฝาย) ตามกฎหมายจารีตประเพณีของชุมชน (มังรายศาสตร์) ซึ่งหัวหน้าเหมืองฝาย สามารถเรียกเกณฑ์แรงงาน (ซึ่งในระยะแรกเป็นข้าทาสปลายหอกงาช้าง) เข้ามาทำงานซ่อมแซมตีหลักฝายและขุดลอกลำเหมืองส่งนํ้าได้ และพบว่าหัวหน้าเหมืองฝายบางคนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในชุมชนอีกด้วย เช่นแต่งตั้งเป็นหมื่น เป็นท้าว แก่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) หรือขุน แคว่น (กำนัน) เป็นต้น

ซึ่งหมายถึงการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและผู้นำทางการปกครองในเวลาเดียวกัน ผู้นำจะได้รับประโยชน์ตอบแทนจากค่าต๊างนํ้า (ระบบจัดสรรการใช้นํ้า ต๊าง-มิเตอร์วัดการใช้นํ้าของชาวนา) ในการทำงานให้ระบบเหมืองฝายสามารถใช้ค่าต๊างนํ้าที่ได้รับมาไปใช้ในที่นาของตนเองได้ โดยไม่ต้องส่งแรงงานไปทำงานในระบบโดยตรง (เรียกว่าค่ายกนํ้า) ตอบแทนการทำงานควบคุมแรงงานในการดูแลระบบจัดสรรการใช้นํ้าเป็นหลัก

จากการสัมภาษณ์บุตรหลานของหัวหน้าเหมืองฝายแม่นํ้าทาตอนใต้ พบว่าค่ายกนํ้า (ค่าตอบแทน) ของหัวหน้าเหมืองฝายในฝายกิ่วมื่น ฝายดอยแต ฝายแป้น และฝายกอม่วง ที่ส่งนํ้าจากแม่นํ้าทาให้กับที่นาส่วนใหญ่ของอำเภอป่าซางฟากตะวันตก และที่นาตอนใต้อำเภอเมืองลำพูนฟากตะวันออก พบว่าหัวหน้าเหมืองฝายแต่ละคน จะได้รับค่าตอบแทนยกนํ้าถึงประมาณ 40 ต๊าง ซึ่งแสดงถึงจำนวนที่นาที่ครอบครองได้เป็นอย่างดี

ในขณะที่แก่ท็อก (ผู้ช่วยหัวหน้าเหมืองฝาย) และล่ามฝาย (คนป่าวประกาศระดมแรงงาน) จะได้รับค่าตอบแทนเพียง 2-5 ต๊าง เท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความแตกต่างในการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินในระบบเหมืองฝายนั้นๆ และยังพบว่าผู้ที่เป็นหัวหน้าเหมืองฝายที่เจ้าส่งไปดูแลที่นาแถบลุ่มแม่นํ้าทาดังกล่าวข้างต้น มักจะเป็นเครือญาติหรือบุตรหลานกับเจ้าผู้ครองนครเป็นส่วนใหญ่

แรงงานในระบบเหมืองฝาย (ลูกโล่ห์ – ลูกพลั้วตีฝายและขุดลอกลำเหมือง) อาจได้รับส่วนแบ่งที่ดินไปตามความสำคัญของสถานภาพในกลุ่มผู้อพยพ ซึ่งมักจะได้รับที่ดินอยู่ตอนปลายของลำเหมือง

การเลิกทาสในสังคมล้านนา : การขยายถิ่นฐานชาวยอง การฟื้นฟูนโยบายการสร้างบ้านแปงเมืองลำพูนขึ้นมาใหม่ของเจ้ากาวิละ เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ ได้กำหนดให้เมืองลำพูนมีหน้าที่ๆ สำคัญ คือ การป้องกันเมืองเชียงใหม่จากข้าศึกที่จะมาทางทิศใต้คือ พม่า

การฟื้นฟูบ้านเมืองอีกประการหนึ่งคือ การสร้างระบบผิดจากข้าทาสสงคราม มาเป็นแรงงานหลักในระบบการผลิต (ทาสปลายหอกงาช้าง) แล้วสะสมเป็นเสบียงเพื่อส่งบำรุงให้เมืองเชียงใหม่ยามเกิดศึกสงคราม ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งของระบบป้องกันเมืองเชียงใหม่ นอกจากการถูกเกณฑ์เป็นไปทหารโดยตรง

“ห้างนาเจ้า” หรือ ยุ้งฉางข้าว จะถูกตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมสะสมผลผลิตส่งเกินจากชาวนาส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ใกล้กับที่นาของเจ้า ซึ่งต่อมาภายหลังลูกหลานเจ้าที่ออกไปดูแลที่นา ก็อาจไปปักหลักอยู่กินแต่งงานกับคนท้องถิ่นที่เป็นคนยองก็มีไม่น้อย ดังจะเห็นจากการตั้งบ้านเรือนของบุตรหลานของเจ้าจะอยู่ในชุมชนใกล้ห้างนาเจ้าเสมอ

มีข้อน่าสังเกตว่าห้างนาเจ้า จะตั้งอยู่ใกล้เส้นทางคมนาคมทางนํ้าในระยะแรก ต่อมาภายหลังได้มีการตัดถนนใหม่ไปยังห้างนาเจ้า เช่น การตัดถนนจากในเมืองไปริมปิง การตัดถนนเลียบแม่นํ้าปิงจากสบทาไปท่าลี่ การตัดถนนไปวัดพระพุทธบาทตากผ้าป่าซาง การตัดถนนจากในเมืองไปแม่ทา โดยเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ทั้งในสมัยก่อนและหลังขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูน สามารถเดินทางติดต่อได้รวดเร็วแล้วยังขนส่งข้าวได้สะดวกยิ่งขึ้นอีกด้วย

สภาพเศรษฐกิจและสังคมหลังยุคสมัยรัชกาลที่ 3 เมืองลำพูนมีความมั่นคงมากขึ้น เพราะไม่ถูกคุกคามจากข้าศึกภายนอกคือพม่า ที่ต้องมัวทำศึกกับอังกฤษ การผลิตข้าวที่แต่เดิมเป็นการผลิตข้าวสะสมเป็นเสบียง ก็เปลี่ยนเป็นการผลิตเพื่อมุ่งสู่การตลาดที่กระตุ้นให้มีความต้องการข้าวมากขึ้น หลังจากที่มีการเปิดเสรีด้านการค้า

ความสัมพันธ์ระหว่างข้าทาสกับเจ้าของที่ดิน ข้าทาสจะมีหน้าที่เป็นแรงงานทำงานผลิตทุกอย่างให้เจ้าของที่ดิน ผลผลิตที่ได้จากการทำนาต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของพวกเจ้าของที่ดิน พวกข้าทาสสามารถขอข้าวไปบริโภคได้ตามความจำเป็นของครอบครัวข้าทาส โดยพวกเจ้าจะให้ปลูกกระท่อมอยู่ในละแวกบ้านเจ้า เพื่อให้แรงงานทาสทำงานอื่นๆ ให้ด้วยเช่น งานทอผ้า งานช่าง เป็นต้น

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการประกาศเลิกทาสในปี พ.ศ.2432 แต่ในสังคมล้านนากว่าจะเลิกทาสได้สำเร็จหลังปี พ.ศ.2451 (ร.ศ.116) แล้ว

การเลิกทาสในสังคมล้านนาครั้งนั้น กระทบกระเทือนระบบผลประโยชน์ของเจ้าที่ดินตามหัวเมืองต่างๆ เป็นอย่างมาก เพราะไพร่หรือกำลังแรงงานเป็นอิสระ ได้กลายเป็นเสรีชนไม่ตกอยู่ในอานัติของเจ้าที่ดิน ซึ่งในประวัติศาสตร์ยุคนี้จะเห็นการหลั่งไหลของเสรีชนใหม่บางส่วนเข้าไปบุกเบิกที่ดินตามต้นนํ้าแม่ทาและต้นแม่นํ้าลี้มากขึ้น เนื่องจากระบบเหมืองฝายเดิมที่ดินส่วนใหญ่ถูกเจ้าจับจองเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าในระบบศักดินาไปหมดแล้ว (เจ้าผู้ครองนครลำพูนจะได้รับค่าศักดินาจากส่วนกลางถึง 10,000 ไร่

แต่เสรีชนบางคน บางครอบครัวที่มีชีวิตใกล้ชิดและผูกพันกับเจ้าที่ดิน ก็อาจคงอยู่อาศัยกับพวกเจ้าต่อไป แต่เปลี่ยนความสัมพันธ์เป็นชาวนาเช่า หรือคนทำนาผ่ากึ่งให้กับเจ้าที่ดิน ซึ่งสามารถมีกรรมสิทธิ์ในผลผลิตจากที่นาดีกว่าเดิมที่เป็นทาสไม่มีกรรมสิทธิ์

มีนักวิชาการหลายท่านได้ศึกษา เรื่องการเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดินของชาวนาในอดีต พบว่ามีการใช้ข้ออ้างการเป็นครอบครัวผีกะ (ผีปอบ) ในตำบลบ้านแป้นและตำบลหนองล่อง ไล่คนออกจากชุมชนและฮุบเอาที่นาทั้งหมดของครอบครัวผีกะในชุมชน โดยผู้มีอำนาจในชุมชน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างเจ้าที่ดินผืนใหญ่ กับเจ้าที่ดินระดับรองจนถึงในระดับชาวนาทั่วไป

อย่างไรก็ตาม การศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยชาวนาร่วมสมัยของ กนกศักดิ์ แก้วเทพ (2530) ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการการต่อสู้ของชาวนาที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทวง “สิทธิ์” ตนเองเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ดังนั้น การศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสังคม “ชาวยอง” ที่มาสร้างบ้านเมืองลำพูนขึ้นมาใหม่ให้สมบูรณ์ น่าจะศึกษาครอบคลุมถึงความขัดแย้งในการแย่งชิงปัจจัยการผลิตว่าเป็นอย่างไร และได้คลี่คลายไปอย่างไรด้วย

เมื่อสภาพและสังคมของประเทศเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ประเพณีและวัฒนธรรม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนเปลี่ยนแปลงไปด้วย ความอุดมสมบูรณ์ของระบบการผลิตจากระบบเหมืองฝาย ถูกสั่นคลอนจากการให้สัมปทานป่าไม้กับบริษัทสัญชาติอังกฤษ และเริ่มปรากฏให้เห็นถึงการก่อตัวของระบบทุนนิยมเข้ามาในวิถีชีวิตแบบพอมีพอกิน

พลังการผลิตและวิถีการผลิตแบบเดิมล้าหลัง ได้ถูกพลังการผลิตแบบใหม่ก้าวเข้ามาแทนที่ “ห้างนาเจ้า” ที่เคยเป็นเครื่องหมายของพลังการผลิตเดิมถูกทิ้งร้างและถูกรื้อถอนจนหมดไป

แต่เมื่อผู้คนโหยหาอันเป็นตัวตนของ “คนยอง” ความจริงบางอย่างของสังคมถูกรื้อค้นขึ้นมาเพื่อตอบสนองการตลาดและการท่องเที่ยวจากภายนอก แต่ก็มีความจริงอีกหลายอย่างถูกปกปิดและลืมเลือนไปอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ตาม ยังปรากฏว่าหลายชุมชนชาวยองที่ตระหนักถึงคุณค่าที่ดีงามของ “คนยอง” ได้ลุกขึ้นมาสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชน นำประวัติศาสตร์ ความเป็นมาและฮีตฮอยทางวัฒนธรรมของชุมชนมาเป็นประเด็นในการศึกษาร่วมกัน เมื่อชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการค้นหา “ความรู้” ในตัวตนของพวกเขา ภายใต้บริบทที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน ชุมชนจึงมีอิสระและจิตสำนึกในการคัดสรร เพื่อสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของพวกเขาที่แตกต่างกันด้วย

ผลการศึกษาจึงปรากฏว่า บางชุมชนมีการฟื้นฟูสวนน้อยจาวยอง (สวนครัวหลังบ้าน) ที่สอดคล้องกับแนวเศรษฐกิจพอเพียง บางชุมชนมีการฟื้นฟูประเพณีใจ๋บ้าน (เสื้อบ้าน) บางชุมชนมีการฟื้นฟูการตานสลากย้อม ฟื้นฟูประเพณีปี๋ใหม่และการดำหัว เป็นต้น โดยนำมารับใช้วิถีของชุมชนเอง โดยไม่ต้องรอให้หน่วยงานใด หรือใคร ๆ ที่อยู่นอกชุมชมมานำเสนอชี้นำ หรือ ถูกพวกนักส่งเสริมวัฒนธรรมนำเอามรดกของคนยองไปเป็นเพียงแค่ “สินค้า” เพื่อตอบสนองนักท่องเที่ยว หรือ เป็นเพียงผลงานที่เด่นดังทางวิชาการ โดยที่ชุมชนไม่ได้อะไรกลับมาเลย….แม้แต่ความภูมิใจ

บทความโดย….กำธร ธิฉลาด
สถาบันวิจัยหริภุญชัย

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น