ประชุมทางวิชาการระดับชาติ พะเยาวิจัยเพื่อประเทศไทย 4.0

เมื่อวันที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยพะเยา จัดประชุมทางวิชาการระดับชาติพะเยาวิจัยครั้งที่ 6 ในหัวข้อศิลปวัฒนธรรมวิจัยเพื่อประเทศไทย 4.0 ขึ้น ที่หอประชุมพญางำเมืองมหาวิทยาลัยพะเยา โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิง ไขศรี ศรีอรุณ นายกสภามหาวิทยาลัยพะเยา เป็นประธานเปิดการประชุมฯ พร้อมมอบรางวัลโครงการ 1 คณะ 1 โมเดล ของ ม.พะเยา โดยคณะพยาบาลศาสตร์ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในโมเดลต้นแบบสุขภาพชุมชน ที่มีการส่งเสริมด้านความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพแก่คนในชุมชนเป้าหมายในเรื่องการรักษาโรคเบาหวาน และ การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ

ทั้งนี้สืบเนื่องจาก มหาวิทยาลัยพะเยาได้จัดการประชุมทางวิชาการพะเยาวิจัยอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยครั้งที่ 1 จัดขึ้นในหัวข้อ “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” ครั้งที่ 2 “นักวิจัยกับการพัฒนาประเทศ” ครั้งที่ 3 “มหาวิทยาลัยเพื่อรับใช้สังคม” ครั้งที่ 4 “การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างโอกาสและความเข้มแข็งแก่ภาคเกษตรในเขตภาคเหนือของไทยเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ครั้งที่ 5 “วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” ซึ่งทั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่สอดคล้องกับแนวคิดประเทศไทย 4.0 ในปัจจุบัน ซึ่งในครั้งที่ 6 นี้ก็เช่นกันมหาวิทยาลัยพะเยาได้ยึดเอาปณิธานของมหาวิทยาลัยฯ ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” เชื่อมโยงกับแนวคิดประเทศไทย 4.0 จนก่อให้เกิดการจัดงานภายใต้หัวข้อ “ศิลปวัฒนธรรมวิจัยเพื่อประเทศไทย 4.0” ขึ้นในครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยทางด้านศิลปวัฒนธรรม รวมไปถึงงานวิจัยศาสตร์อื่นๆครอบคลุมทั้งด้านกลุ่มการวิจัยมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ กลุ่มการวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพและกลุ่มการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการนำไปใช้ประโยชน์ในทางสังคมสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืนสู่การขับเคลื่อนตามแนวคิดประเทศไทย 4.0 อย่างเป็นรูปประธรรม

โดยในการจัดงานในครั้งนี้ มีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ศิลปวัฒนธรรมวิจัยเพื่อประเทศไทย 4.0” ด้วย โดยระบุว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งในเรื่องของวัฒนธรรมค่อนข้างมาก หากมีการบริหารจัดการต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ เนื่องจากประเทศไทยนั่นมีการสะสมด้านวัฒนธรรมของชาติมาอย่างยาวนาน มีการแลกเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา ทั้ง วัฒนธรรมทางด้านการค้า ที่มีการแลกเปลี่ยนจากวัฒนธรรมการค้าโลกตะวันตกสู่โลกตะวันออก , การถ่ายทอดวัฒนธรรมจากภายนอก ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่สำคัญเช่นการนำเสนอผลงานวิจัยแบบ poster presentation และ oral presentation จำนวนกว่า 300 ผลงาน นิทรรศการ 1 คณะ 1 โมเดล การนำเสนองานวิจัยเชิงพื้นที่(abc) การประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการแนะแนวการศึกษา การนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการบริการวิชาการและโครงการทํานุบํารุงศิลปวัฒนธรรม โดยการจัดงานดังกล่าวมีผู้สนใจเข้าร่วมงาน ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย และนิสิต-นักศึกษาหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้บริหารสถานศึกษาจากทั่วประเทศ และประชาชนชนที่สนใจทั่วไป เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน

ร่วมแสดงความคิดเห็น