สมอ.ติวเข้ม มาตรฐาน โรงงานไทย

สมอ.เตรียมลดเวลาออกใบอนุญาตมาตรฐาน มอก.เหลือ 150-180 วัน พร้อมเตรียมตั้งหน่วยงานใหม่ “กองพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน” วางกรอบให้หน่วย IB ลุยตรวจทุกโรงงานทั่วไทย

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ปี 2560 สมอ.มีนโยบายและทิศทางการดำเนินงานโดยให้ความสำคัญ 6 ด้าน คือ
1.ด้านการกำหนดมาตรฐาน โดยลดระยะเวลาดำเนินการมาตรฐานทั่วไป จากเดิม 315 วัน เป็น 150 วัน มาตรฐานบังคับ จากเดิม 445 วัน เป็น 180 วัน
2.ด้านการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ ทำระบบ e-License สำหรับการออกใบอนุญาต โดยผ่านระบบ Electronic
3.การปรับบทบาทสู่การเป็นหน่วยงานด้านกฎระเบียบ ถ่ายโอนงานการตรวจประเมินโรงงานให้หน่วยตรวจ (IB) พร้อมทั้งพัฒนาและสร้างหน่วยตรวจสอบรับรอง (CAB)
4.การเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก โดยเร่งรัดพัฒนาวิสาหกิจชุมชนตามความเหมาะสม และดำเนินการถ่ายโอนงานการรับรองให้ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) มุ่งพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)
5.สร้างความเชื่อมั่นในสินค้าและบริการที่ได้รับการรับรอง โดยสร้างเครือข่ายด้านการมาตรฐานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านการศึกษา ด้านการผลิตและการจำหน่าย
6.บทบาทด้านการมาตรฐานระหว่างประเทศต่าง ๆ เร่งผลักดันมาตรฐานไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากล ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการผลักดัน มอก.9999 ให้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ

ขณะเดียวกัน สมอ.เตรียมตั้ง “กองพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน” จากเดิมมีสถานะเป็นกลุ่มงานให้ขึ้นมาทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ และมาตรการตรวจสอบโรงงานทุกประเภท รวมถึงมีอำนาจกำกับดูแลหน่วยตรวจ (IB) และหน่วยตรวจสอบรับรอง (CAB) เช่น คุณสมบัติของหน่วยตรวจ และเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี/ทำบัญชีหน่วยตรวจ เพื่อรองรับนโยบายและทิศทางการดำเนินงานใหม่ หลังการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมตามแผนงานปี 2560 โดยเฉพาะบทบาทของหน่วยงานด้านกฎระเบียบ คือ การถ่ายโอนงานการตรวจประเมินโรงงานให้ IB พร้อมทั้งพัฒนาและสร้างหน่วย CAB ให้มากขึ้น เพื่อถ่ายโอนงานตรวจสอบรับรอง โดย สมอ.ยังคงเป็นผู้กำกับดูแลและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการ

นายสุธน นิคมเขต ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 เปิดเผย ว่า กิจกรรมตามภารกิจที่สำคัญของ สมอ.ตลอดปีงบประมาณ 2559 จำนวน 14 แผนงาน อาทิ การกำหนด มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ตามแผน 260 เรื่อง ผลที่ได้ 261 เรื่อง, การกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ ตามแผน 900 เรื่อง ผลที่ได้ 1,446 เรื่อง, การแต่งตั้งหน่วยตรวจสอบ (LAB) ตามแผน 24 เรื่อง ผลที่ได้ 38 เรื่อง จำนวน 24 มาตรฐาน ผลที่ได้ 156 มาตรฐาน, การแต่งตั้งผู้ตรวจสอบการทำ (IB) ตามแผน 6 ราย ผลที่ได้ 5 ราย เป็นจำนวน 60 มาตรฐาน ผลที่ได้ 327 มาตรฐาน

การตรวจโรงงานเพื่อการอนุญาต ตามแผน 890 ครั้ง/ราย ผลที่ได้ 1,175 ครั้ง/ราย, การตรวจโรงงานเพื่อการติดตามผล ตามแผน 3,600 ครั้ง ผลที่ได้ 4,617 ครั้ง คิดเป็นจำนวน 3,600 ราย ผลที่ได้ 3,307 ราย และการตรวจโรงงานเพื่อการติดตามผล ตามแผน 1,900 ครั้ง ผลที่ได้ 5,831 ครั้ง เป็นจำนวน 1,900 ราย ผลที่ได้ 1,603 ราย

“ตามสถิติการตรวจโรงงานทุกประเภท จากการลงพื้นที่ตรวจผลิตภัณฑ์ตามร้านค้าพบว่า ผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งมี มอก.แต่กลับมีน้ำหนักเบาไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเริ่มพบบ่อย บวกกับสถานการณ์ที่เราโดนปัญหาเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานและมีการเลี่ยงพิกัดมากขึ้น”

ร่วมแสดงความคิดเห็น