บทความพิเศษ…การก่อสร้างระบบก๊าซชีวภาพอย่างปลอดภัย

การก่อสร้างระบบก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทน เป็นระบบที่มีโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก และบ่อต้องมีลักษณะค่อนข้างลึก ประมาณ 3-5 เมตร มีการฝังโครงสร้างลงไปในดิน ดังนั้น จึงต้องขุดเปิดหน้าดิน เพื่อรับน้ำหนักของตัวโครงสร้างบ่อก๊าซชีวภาพ ซึ่งดินจะต้องเป็นตัวรับน้ำหนักของระบบทั้งหมด ได้แก่ ตัวบ่อก๊าซ และน้ำหนักของน้ำเสียที่หมักอยู่ภายในบ่อ ดังนั้น เพื่อความปลออดภัยก่อนก่อสร้างระบบก๊าซชีวภาพ จึงต้องมีการสำรวจพื้นที่บริเวณก่อสร้างเพื่อป้องกันความเสียหายอันเกิดจากดินทรุด ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

1. สำรวจสถานที่และบริเวณโดยรอบเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล เช่น เป็นพื้นที่น้ำท่วมถึงหรือไม่ เป็นบ่อเก็บน้ำเก่าหรือดินเดิม เพื่อจะได้ประเมินสภาพดินเบื้องต้นได้

2. เจาะสำรวจและวิเคราะห์ดินบริเวณที่จะก่อสร้างเพื่อหาชนิดของดิน คุณสมบัติ ความแน่น ความแข็ง และระดับน้ำใต้ดิน เป็นต้น

3. ขุดเปิดหน้าดินเพื่อดูค่า Slope Stability หรือค่าเสถียรภาพความลาดของดินขุด เพื่อจะดูว่าดินบริเวณนั้นสามารถขุดลาดชันได้มากที่สุดเท่าไหร่ ที่หน้าดินจะไม่พังทลาย ซึ่งมีผลต่อการเปิดหน้าดินเพื่อทำการก่อสร้าง

4. เมื่อขุดเปิดหน้าดินแล้ว จะเป็นงานฐานราก ซึ่งต้องนำผลการสำรวจและวิเคราะห์ดิน มาคำนวณ เพื่อดูว่าดินสามารถรับน้ำหนักได้กี่ตันต่อตารางเมตร เพื่อนำมาคำนวณโครงสร้างฐานราก

5. เมื่อพิจารณาคุณสมบัติต่างๆ แล้ว อาจต้องวิเคราะห์แรงดันดินด้านข้างที่จะมีผลต่อโครงสร้าง รวมถึงการทรุดตัวของดินด้วย เนื่องจากถ้าดินมีการทรุดตัวจะมีผลต่อโครงสร้างของบ่อ อาจทำให้เกิดความเสียหาย

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นการสำรวจและวิเคราะห์เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ทั้งในขณะก่อสร้างระบบ และหลังจากเริ่มใช้ระบบก๊าซชีวภาพ เพื่อให้การลงทุนมีความยั่งยืนและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายในการใช้งานก่อน เวลาอันควร

ร่วมแสดงความคิดเห็น