บันทึกเมืองเชียงใหม่โดยปิแอร์ โอร์ต

ข้าพเจ้าไปพบเจ้าเมืองและเจ้าผู้ครองนครผู้เฒ่า เจ้าเมืองพำนักอยู่ในคุ้มที่ปลูกต้นไม้ซึ่งได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และออกมาต้อนรับข้าพเจ้าพร้อมด้วยลูกชายและเจ้านายอื่นๆ อีก 2 องค์ เจ้าเมืองคะคั้นคะยอให้ข้าพเจ้ารับหอกไม้ที่หุ้มด้วยเงิน 2 เล่ม ซึ่งเป็นงานฝีมือของช่างพื้นเมือง

จากหนังสือ ล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งเป็นบันทึกการเดินทางเยี่ยมหัวเมืองเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ เมื่อประมาณ 100 ปีก่อนของ นายปิแอร์ โอร์ต ผู้ช่วยที่ปรึกษากฎหมายชาวเบลเยี่ยม ที่ได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ของภาคเหนือและประเทศสยาม ซึ่งพิษณุ จันทร์วิทัน ได้แปลจากบันทึกต้นฉบับหอจดหมายเหตุแห่งชาติกรุงบรัสเซลล์ ทำให้ทราบว่า ทำไมปิแอร์ โอร์ต จึงมีความผูกพันกับประเทศสยามและเมืองเชียงใหม่

เมื่อปี พ.ศ.2439 ได้เกิดคดีสำคัญขึ้นที่เชียงใหม่ อันเป็นเรื่องที่เกือบจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสยามกับประเทศสหรัฐอเมริกาต้องได้รับความกระทบกระเทือน เริ่มมาจากการที่นาย อี.วี.เคลเลตท์ รองกงสุลที่รัฐบาลสหรัฐส่งมาประจำอยู่ที่เชียงใหม่เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินของหมอชิก หรือ นายแพทย์แดเนียล แมคกิลวารี อดีตหมอสอนศาสนาชาวอเมริกันซึ่งได้หันมาทำธุรกิจป่าไม้และกำลังเป็นคดีความกับรัฐบาลสยาม ได้ถูกทหารสยามทำร้ายร่างกาย

นายจอห์น บาเรตท์ ราชทูตสหรัฐในเมืองบางกอก ได้ยื่นหนังสือขึ้นร้องต่อสมเด็จฯกรมหลวงเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีต่างประเทศ ขอให้พิจารณาสอบสวนคดีนี้โดยตั้งคณะอนุญาโตตุลาการผสม ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายสหรัฐและฝ่ายสยามขึ้นพิจารณาคดี โดยทางฝ่ายสยามได้แต่งตั้งนายปิแอร์ โอร์ต ผู้ช่วยที่ปรึกษากฎหมายเดินทางไปทำหน้าที่พิจารณาคดีร่วมกับ นายจอห์น บาเรตท์ ราชทูตสหรัฐที่เมืองเชียงใหม่

นายปิแอร์ โอร์ต และ นายจอห์น บาเรตท์ ออกเดินทางจากบางกอกเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2440 โดยทางเรือขึ้นมาตามแม่นํ้าเจ้าพระยา ผ่านเมืองชัยนาท ปากนํ้าโพขึ้นมาตามลำนํ้าปิง ผ่านกำแพงเพชร เมืองตากจนมาถึงเมืองเชียงใหม่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ปีเดียวกัน ทั้งสองได้ร่วมกันพิจารณาคดีโดยเบิกพยานทั้งสองฝ่ายมาให้การโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2440 จนกระทั่งถึงวันที่ 20 กันยายน การพิจารณาคดีก็เสร็จสิ้นลง และได้ลงนามในคำพิพากษาลงโทษทหารที่ทำร้ายรองกงสุลสหรัฐลดหลั่นกันตามความเหมาะสม

หลังจากที่พิจารณาคดีนี้กำลังจะแล้วเสร็จ นายปิแอร์ โอร์ต ก็ได้รับคำบัญชาจากพระยาอภัยราชาให้ออกเดินทางไปเยี่ยมยังเมืองต่าง ๆ ในภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งสร้างความยินดีให้กับปิแอร์ เป็นอย่างมาก

ปิแอร์ โอร์ต ออกเดินทางไปเยี่ยมหัวเมืองต่างๆ เริ่มจากเมืองลำพูน ลำปาง พะเยา เชียงราย แพร่ น่าน ซึ่งขณะนั้นรวมเป็นมณฑลลาวเฉียง ซึ่งการเดินทางในครั้งนั้นใช้เวลานานหลายเดือน โดยปิแอร์ ใช้วิธีการเดินทางด้วยการนั่งช้าง ขี่ม้าและเดินเท้า เมื่อไปถึงเมืองใดปิแอร์ ก็จะหารือข้อราชการกับข้าหลวงถึงปัญหาต่างๆ ถ้าเรื่องไหนเห็นว่าสามารถแก้ไขได้ก็จะแนะนำให้ข้าหลวงดำเนินการโดยทันที

หลังจากที่ออกเดินทางจากเมืองน่านแล้ว ท่านได้เดินทางไปถึงเมืองปากสายริมแม่นํ้าโขง แล้วล่องแพไปตามลำนํ้าจนถึงเมืองเวียงจันทน์ จากนั้นก็ใช้แพเดินทางล่องลงมาจนถึงเมืองหนองคาย ผ่านเมืองหมากแข็ง หรือ จังหวัดอุดรธานี จนมาถึงเมืองโคราช ผ่านดงพญาไฟและมาขึ้นรถไฟที่หมู่บ้านหินลังในเขตจังหวัดสระบุรี ก่อนที่จะเข้าสู่เมืองบางกอก โดยปิแอร์ โอร์ต ใช้เวลาในการเดินทางเยี่ยมหัวเมืองต่างๆ ทั้งหมดนานถึง 5 เดือนเต็ม

บันทึกของ ปิแอร์ โอร์ต ในหนังสือล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง ได้เล่าถึงการเดินทางมาเชียงใหม่ ตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าไปพบเจ้าเมืองและเจ้าผู้ครองนครผู้เฒ่า เจ้าเมืองพำนักอยู่ในคุ้มที่ปลูกต้นไม้ซึ่งได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และออกมาต้อนรับข้าพเจ้าพร้อมด้วยลูกชายและเจ้านายอื่น ๆ อีก 2 องค์ เจ้าเมืองคะคั้นคะยอให้ข้าพเจ้ารับหอกไม้ที่หุ้มด้วยเงิน 2 เล่ม ซึ่งเป็นงานฝีมือของช่างพื้นเมือง”

นอกจากนั้นในบันทึกยังเขียนไว้อีกว่า เมืองเชียงใหม่สมัยนั้น (พ.ศ.2440) มีประชากรราว 5 หมื่นคน ลักษณะของเมืองแบ่งเป็น 2 เขตแต่ละเขตมีกำแพงสูง 2 – 3 เมตรและมีป้อมสูงที่แต่ละมุมกำแพง ตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งของแม่นํ้าปิง มีสะพานไม้ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นสะพานแห่งแรกที่สร้างข้ามแม่่นํ้าปิง (บริเวณหน้าวัดเกต) ทำด้วยไม้สัก ต่อมาได้พังลงเนื่องจากถูกท่อนซุงที่ไหลมากับกระแสนํ้าเชี่ยวพุ่งชน

อย่างไรก็ตามในบันทึกยังกล่าวถึงเมืองต่างๆ ที่ท่านได้เดินทางผ่านไว้ในหลายแง่มุม ซึ่งหากอยากทราบว่าท่านได้เดินทางไปเมืองไหน พบเจออะไรบ้าง สามารถหาอ่านได้ในหนังสือ ล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งแปลโดย พิษณุ จันทร์วิทัน ตามร้านหนังสือทั่วไป

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น