เปิดยุทธศาสตร์ สร้างเครือข่าย ค้าชายแดน

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เดินหน้าจัดโครงการ “ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายทางการค้าชายแดน และพัฒนา Supply Chain ชายแดน” เพื่อพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการ SME s และช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนของสมาชิกกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 สามารถสร้างเครือข่ายทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นางสาว มลิวัลย์ ศรีวรกุล นักศึกษาฝึกประสบการณ์ สาขาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ นางรัชดาวัลย์ ขันเฉียง นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเรื่องการจัด “โครงการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายทางการค้าชายแดน และพัฒนา Supply Chain ชายแดน” โดย กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ในวาระแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 16/2560 ณ ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

โดยนางรัชดาวัลย์ ขันเฉียง นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการจัดกิจกรรมการสัมมนาและการอบรมเชิงปฏิบัติการ ภายใต้ “โครงการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายทางการค้าชายแดน และพัฒนา Supply Chain ชายแดน” พร้อมศึกษาดูงาน และเยี่ยมชมสถานประกอบการ ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2560 ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการ SME’s ด้านการค้าชายแดนในลักษณะ Supply Chain ในอนาคต รวมถึงการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนของสมาชิกกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน

นางรัชดาวัลย์ กล่าวต่อว่า โดยรายละเอียดของโครงการนั้น แบ่งเป็น 2 ส่วนได้แก่ การจัดกิจกรรมการสัมมนา/การอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้ความรู้ด้าน SMEs จำนวน 3 วันในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และการศึกษาดูงาน 1 วัน ณ ด่านศุลกากรบ้านแม่แจ๊ะ โดยทั้ง 2 กิจกรรมนี้ มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับการจัดการสมัยใหม่ ที่พัฒนาต่อยอดมาจาการจัดการด้านโลจิสติกส์ (Logistics Management) หรือ Holistic management การนำแนวคิดหรือการจัดการด้านซัพพลายเชน ไปใช้ในองค์กรได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับองค์กร เหมาะสมกับการแข่งขัน และเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ และยกระดับพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งในระดับแผนกกลยุทธ์ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดคุณค่าสูงสุด ต่อองค์กรและลูกค้า

นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ทำการคัดเลือกผู้ประกอบการ จำนวน 70 รายจาก 4 จังหวัด สมาชิกเข้าร่วม ผู้สมัครต้องผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจากทางกลุ่ม มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจด้านการค้าชายแดน ที่ครอบคลุมด้านการลงทุนและเกิดความตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมในการสร้างโอกาสที่จะมาถึงในอนาคต ทั้งเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบรายย่อยในพื้นที่ 4 จังหวัดให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

กิจกรรมอีกส่วนที่มีความสำคัญคือ การจับคู่ธุรกิจ (Networking/Business Matching) เป็นเวลา 1 วันเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการค้า การลงทุน ระหว่างผู้ประกอบการต่างประเทศ CLMV ( ผู้ประกอบการค้าชายแดน) กับผู้ประกอบการภาคเหนือ เนื่องจากการเล็งเห็นถึงศักยภาพของพื้นที่อันเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งใหม่ของการค้าชายแดน ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ในอนาคต นางรัชดาวัลย์ กล่าวส่งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น