ให้โชว์ตัวอีก 14 วัน ปล่อย ’หลินฮุ่ย’ พัก / สวนสัตว์ชม.เฮ ได้ลูกจิงโจ้แดง

เฝ้าติดตาม………เจ้าหน้าที่โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย เฝ้าติดตามดูอาการของ แพนด้า “หลินฮุ่ย” อย่างใกล้ชิด หลังดำเนินการผสมพันธุ์เทียมเสร็จสิ้น โดยล่าสุดได้ทำการปล่อยออกสู่ส่วนจัดแสดงตามปกติไร้ผลข้างเคียง และไม่มีอาการกระวนกระวายอย่างเช่นก่อนหน้านี้แล้ว ขณะที่สวนสัตว์ฯ เปิดตัวสมาชิกใหม่ เป็นลูกจิงโจ้แดง พร้อมเปิดให้ชมความน่ารักแล้ว

สวนสัตว์เชียงใหม่ปล่อยแม่หมีแพนด้า “หลินฮุ่ย” ออกสู่ส่วนจัดแสดงตามปกติ ไร้ผลข้างเคียง หลังการผสมเทียมเสร็จสิ้นไปแล้วอย่างสมบูรณ์ทุกขั้นตอน โดยมีการจัด เจ้าหน้าที่ดูแลและเฝ้าสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้จะเปิดให้นักท่องเที่ยวชมอีกประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนปิดส่วนจัดแสดงให้ “หลินฮุ่ย” ใช้ชีวิตส่วนตัวปราศจากการรบกวน เพิ่มโอกาสตั้งท้อง ขณะที่สวนสัตว์ฯ ได้เฮ ต้อนรับจิงโจ้แดง สมาชิกใหม่ พร้อมเปิดให้ชมความน่ารักแล้ว

วันที่ 7 ก.พ.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ทางสัตวแพทย์และทีมนักวิจัยโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ได้ทำการผสมเทียมให้กับหมีแพนด้าตัวเมีย “หลินฮุ่ย” เมื่อคืนวันที่ 4 ก.พ.60 ที่ผ่านมา โดยการรีดน้ำเชื้อสดจากหมีแพนด้าตัวผู้ “ช่วงช่วง” แล้วฉีดเข้ารังไข่ของ “หลินฮุ่ย” ซึ่งการดำเนินการเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบทุกขั้นตอน ซึ่งในวันนี้หมีแพนด้าทั้ง “ช่วงช่วง” และ “หลินฮุ่ย” ถูกปล่อยออกสู่ส่วนจัดแสดงตามปกติ ด้วยท่าทีที่ฟื้นตัวเป็นอย่างดีแล้วหลังจากรับยาสลบเพื่อทำการรีดน้ำเชื้อและผสมเทียมเมื่อคืนวันที่ 4 ก.พ.60 ที่ผ่านมา โดยมี นายนิพนธ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย เฝ้าดูแลและสังเกตติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย มีการวางแผนว่าจะมีการปล่อย “หลินฮุ่ย” ออกสู่ส่วนจัดแสดงตามปกติอีกประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นจะปิดส่วนจัดแสดงและงดให้ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวชม “หลินฮุ่ย” ประมาณ 3-4 เดือน โดยจะให้อยู่ในส่วนจัดแสดงและคอกกัก ทั้งนี้เพื่อให้ “หลินฮุ่ย” ปราศจากความเครียดและการรบกวน เป็นการเพิ่มโอกาสให้มีความเป็นส่วนตัวในระยะตั้งท้อง พร้อมกันนี้จะมีการบำรุงอาหารเสริมและวิตามินต่างๆ ด้วย แต่ในส่วนของ “ช่วงช่วง” ยังคงเปิดให้เข้าชมตามปกติ แต่จะย้ายไปจัดแสดงในส่วนจัดแสดงที่เคยเป็นของ “หลินปิง” เป็นการชั่วคราว หลังจากนั้นจะให้ใช้ชีวิตอยู่ในส่วนจัดแสดง และในคอกกัก โดยไม่เปิดให้เข้าชมประมาณ 3-4 เดือน ส่วน “ช่วงช่วง” ให้ชมตามปกติ โดยย้ายไปจัดแสดงในส่วนจัดแสดงที่เคยเป็นของ “หลินปิง” ทั้งนี้เพื่อให้ “หลินฮุ่ย” ปราศจากความเครียดและการรบกวน เป็นการเพิ่มโอกาสให้มีความเป็นส่วนตัวในระยะตั้งท้อง พร้อมกันนี้จะมีการบำรุงอาหารเสริมและวิตามินต่างๆ ด้วย

สำหรับโอกาสความสำเร็จจากการผสมเทียมหมีแพนด้าในครั้งนี้นั้น เบื้องต้นทางทีมงานสัตวแพทย์และนักวิจัยโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ระบุว่า การดำเนินการในครั้งนี้มีการตรวจสุขภาพหมีแพนด้าทั้งคู่ พบว่าแข็งแรงสมบูรณ์ดี โดยน้ำเชื้อของ “ช่วงช่วง” จากการตรวจวิเคราะห์พบว่ามีคุณภาพดีกว่าเมื่อครั้งที่ทำการผสมเทียมจนได้ “หลินปิง” ลูกหมีแพนด้าตัวแรกที่เกิดในประเทศไทยเสียอีก ส่วนรังไข่ของ “หลินฮุ่ย” ก็มีความสมบูรณ์เช่นกันและปีนี้ช่วงตกไข่ก็ใกล้เคียงกับฤดูผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ รวมทั้งใกล้เคียงกับเมื่อครั้งที่ตั้งท้อง “หลินปิง” ด้วย ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่ามีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามต้องรอเวลาประมาณ 70-80 วันหลังการผสมเทียม จะทำการอัลตร้าซาวน์ จึงจะรู้ผลว่าการผสมเทียมครั้งนี้ประสบความสำเร็จจนตั้งท้องหรือไม่

วันเดียวกัน นายนิพนธ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ เปิดเผยว่าสวนสัตว์เชียงใหม่ประสบความสำเร็จได้ลูกจิงโจ้แดงมาเพิ่ม โดยเมื่อวันก่อนที่บริเวณส่วนจัดแสดงจิงโจ้แดง ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ พบลูกจิงโจ้แดงที่ซ่อนตัวอยู่ในถุงหน้าท้องของแม่ ได้ออกมาจากกระเป๋าถุงหน้าท้องแม่จิงโจ้ แต่ยังไม่สามารถระบุเพศได้ชัดเจน ขณะนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดส่วนจัดแสดงจิงโจ้แดงเฝ้าระมัดระวัง ดูแลอย่างใกล้ชิดและให้รายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทั้ง แม่และลูกจิงโจ้แดง อยู่ในสภาพที่ปกติ แข็งแรง ส่วนตัวลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ดี แต่ยังไม่สามารถระบุเพศได้ เนื่องจากแม่ยังหวงลูกอยู่ ลูกจิงโจ้แดงตัวนี้เกิดเมื่อประมาณ เดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา เกิดจากแม่ที่มีชื่อว่าผักกาดอายุ 3 ปี ส่วนตัวพ่อชื่อพร้อมพนธ์ อายุ 5 ปี ซึ่งให้ลูกเป็นตัวที่สองแล้ว ปัจจุบันจิงโจ้แดงในสวนสัตว์เชียงใหม่ มีด้วยกัน 4 ตัว รวมถึงสมาชิกใหม่ลูกน้อยตัวล่าสุดนี้ ดังนั้น จึงเชิญชวนนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป มาเยี่ยมชมความน่ารักจิงโจ้แดงได้ทุกวัน บริเวณส่วนแสดงจิงโจ้แดง ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่อยู่ ณ.บริเวณส่วนแสดงสัตว์ออสเตรเลียด้านหน้าจุดลิงไทย สวนสัตว์เชียงใหม่

สำหรับ จิงโจ้แดง หรือ Red kangaroo มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Macropus rufus เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง (Marsupialia) ชนิดหนึ่ง จำพวกจิงโจ้ โดยจิงโจ้แดงเป็นสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันยังคงดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ ถือกำเนิดขึ้นในออสเตรเลียราว 1 ล้านปี มีความสูงประมาณ 75-140 เซนติเมตร หางยาว 65-100 เซนติเมตร น้ำหนักเต็มที่ประมาณ 17-85 กิโลกรัม อายุขัยโดยเฉลี่ย 12-18 ปี จิงโจ้แดงตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียและมีขนสีน้ำตาล แดง ส่วนตัวเมียขนสีเทา ขาหน้าสั้นเล็ก ใช้ในการต่อสู้หรือเล่นหยอกล้อกันและใช้หยิบจับอาหารเข้าปาก ขาหลังเป็นรูปตัว Z มีกล้ามเนื้อแข็งแรง ใช้รับน้ำหนักตัวและช่วยในการกระโดดได้ไกลถึง 2 เมตร แต่ไม่สามารถเดินถอยหลังได้ มีส่วนหางแข็งแรงมาก เพราะต้องใช้ยันรับน้ำหนักตัวเวลาพักผ่อนกินอาหาร และใช้ยันพื้นเวลาต่อสู้กัน เพราะใช้ขาหลังเป็นอาวุธในการถีบ และขาหน้าใช้การป้องปัดและสาวใส่กัน โดยเฉพาะตัวผู้ที่โตเต็มวัยคล้ายกับการ “ชกมวย”

จิงโจ้แดงกระจายพันธุ์ทั่วประเทศออสเตรเลีย อาศัยตามทุ่งหญ้าโล่งและทะเลทราย อาหารหลัก คือ หญ้า กินใบไม้และไม้พุ่มขนาดเล็กบางชนิด ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง มีตัวผู้เป็นจ่าฝูง นอนพักผ่อนในเวลากลางวันและหากินในเวลากลางคืน ทั้งนี้จิงโจ้แรกเกิดที่ยังไม่มีขนและต้องคลานไปยังเต้านมแม่เพื่อดูดนม เรียกกันว่า “โจอี้” (Joey) เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 2 ปี ตั้งท้องนาน 33 วัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว โดยลูกจิงโจ้ลำตัวยาว 2.5-4 เซนติเมตร น้ำหนัก 0.5-1 กรัม ไม่มีขน ซ่อนตัวอยู่ในถุงหน้าท้องของแม่เพื่อดูดนมและหลบซ่อนศัตรู เมื่ออายุ 8 เดือน จึงออกมาหากินข้างนอก และกลับเข้าถุงหน้าท้องเป็นครั้งคราว ด้วยการเอาส่วนหัวเข้ามุดไปก่อน ปล่อยให้ส่วนหางและขาหลังโผล่อยู่ด้านนอก จากนั้น จึงจะม้วนตัวในถุงหน้าท้องเพื่อโผล่แต่หัวออกมาข้างนอก

ร่วมแสดงความคิดเห็น