แค่เดือนเดียวไหว 101 ครั้ง เชียงใหม่ จัดซ้อมแผนรับมือแผ่นดินไหว เต็มรูปแบบ

ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายมนัส ขันใส ปลัดจังหวัดฯ เป็นประธานการประชุมการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัด แผ่นดินไหวและอาคารถล่ม ประจำปีงบ ประมาณ  พ.ศ.2560 โดยมีวาระการประชุมในการกำหนดแผนการซักซ้อม กรอบการดำเนินงาน การมอบหมายภารกิจการฝึกซ้อมให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่จะร่วมบูรณาการการซ้อมรับมือแผ่นดินไหว โดยมี นายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ.เชียงใหม่ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการ ให้ข้อมูลถึงแนวทาง กำหนดการ และกรอบการปฏิบัติของแต่ละหน่วยงาน

ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การเตรียมการในการที่จะฝึกการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัดเกี่ยวกับภัยแผ่นดินไหว อาคารถล่ม เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่หลายครั้ง ทั้งนี้เพื่อความไม่ประมาท เพื่อซักซ้อมความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยในการที่จะช่วยเหลือประชาชนหากเกิดเหตุการณ์ เป็นการเตรียมการให้พร้อมในการรับมือ และแจ้งเตือนประชาชนให้รู้จักการปฏิบัติตัว หากเกิดภัยขึ้นในพื้นที่ จึงมีการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางในการซ้อมแผนรับมือแผ่นดินไหวในพื้นที่

ด้านนายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ ปภ.เชียงใหม่ กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ ได้มีคำสั่ง ที่ 184/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 แล้วเมื่อวันที่ 17 ม.ค.60 ที่ผ่านมา ลงนามโดยนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าฯ ในฐานะ ผอ.กองอำนวย การฯ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการการฝึกฯ เป็น 3 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการ ซึ่งมี ผู้ว่าฯเป็นประธานกรรมการ มี รองผู้ว่าฯ หน.กลุ่มภารกิจด้านความมั่นคง ผบ.มทบ.33 และ นายก อบจ. เป็นรองประธานกรรมการ พร้อมด้วยหน่วยงานราชการ ทหาร ตำรวจ ในพื้นที่มากกว่า 52 หน่วยงานเป็นคณะกรรมการ และมี ปภ.เชียงใหม่ เป็นเลขานุการ

“คณะกรรมการชุดที่ 2 คือ คณะทำงานดำเนินการการฝึกการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม ประจำปีงบประมาณ 2560 มี รอง ผู้ว่าฯ หน.กลุ่มภารกิจด้านความมั่นคง เป็นประธานคณะทำงาน มี นายก อบจ. ปลัดจังหวัดฯ เป็นรองประธานคณะทำงานฯ ส่วนคณะที่ 3 เป็นคณะทำงานประเมินผลการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่มฯ มี รอง ผู้ว่าฯ เป็นประธานคณะทำงาน” นายไพรินทร์ฯ กล่าว

ปภ.เชียงใหม่ แจงอีกว่า ในการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แผ่นดินไหวและอาคารถล่มครั้งนี้ จะกำหนดสถานการณ์สมมุติความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่ระดับ 2 เหตุการณ์ในพื้นที่ อ.จอมทอง โดยกำหนดกรอบการดำเนินการไว้ 3 กรอบใหญ่ ได้แก่ การให้ความรู้เรื่องการป้องกันตนเองจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 2 ครั้ง ทั้งในพื้นที่ อ.จอมทอง และ อ.แม่วาง โดยครั้งแรกจัดการอบรมเมื่อวันที่ 19 ม.ค.60 ณ ที่ว่าการ อ. จอมทอง มีกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ 180 คน เข้าร่วมการอบรม ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ม.ค.60 เป็นการอบรมให้ความรู้การป้องกันตนเองจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่มในพื้นที่ อ.แม่วาง มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมการฝึกอบรม 180 คน เช่นกัน

ปภ.เชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ส่วนอีกกรอบการดำเนินการตามแผนการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแผ่นดินไหวและอาคารถล่มในอีก 2 กรอบ คือ การฝึกซ้อมบนโต๊ะ หรือ TTX ซึ่งเป็นการประชุมการซักซ้อมการแบ่งภารกิจให้แก่หน่วยงานต่างๆ ที่บูรณาการการฝึกการป้องกัน กำหนดการฝึกซ้อมในวันที่ 7 มี.ค.60 และกรอบการดำเนินการที่สำคัญของการฝึกซ้อมกรอบ ที่ 3 เป็นการฝึกเต็มรูปแบบ หรือ Full Scale Exercise : FSX ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมเสมือนจริงกำหนดการฝึกซ้อมวันที่ 9 มี.ค.60 โดยกำหนดจุดเกิดเหตุไว้ที่โรงเรียนศรีจอมทอง และกำหนดที่ว่าการ อ.จอมทอง เป็นจุดลงทะเบียนและบัญชาการให้ความช่วยเหลือ

การฝึกซ้อมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม เต็มรูปแบบครั้งนี้ มีหน่วยงานร่วมบูรณาการทั้งสิ้น 21 หน่วยงาน ประกอบด้วย ที่ทำการปกครอง อ.จอมทอง ทต.บ้านหลวง ทต.จอมทอง อบต.ข่วงเปา ทต.ดอยแก้ว ทต.บ้านแปะ ทต.แม่สอย ทต.สบเตี๊ยะ รพ.จอมทอง หน่วยบินตำรวจ มทบ.33 สำนักงานพัฒนาภาค 3 โรงเรียนชุมชนศรีจอมทอง กองบิน 41 สภ.จอมทอง พิสูจน์หลักฐาน จ.เชียงใหม่ สสจ.เชียงใหม่ อบจ.เชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และ ศูนย์ ปภ.เขต 10 ลำปาง รวมกำลังเจ้าหน้าที่และประชาชน เข้าร่วมการฝึกซ้อมมากกว่า 1,200 คน

“สถิติแผ่นดินไหวในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พบว่า ในปี 2557 ตลอดทั้งปีมีจำนวนแผ่นดินไหวในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อ.สันทราย อ.แม่วาง อ.ดอยสะเก็ด และ อ.เชียงดาว รวมทั้งสิ้น 11 ครั้ง ปี 2558 เกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ 9 อำเภอ คือ อ.พร้าว อ.สันทราย อ.แม่วาง อ.ฝาง อ.เวียงแหง อ.แม่แจ่ม อ.ดอยสะเก็ด อ.สะเมิง และ อ.เชียงดาว รวมทั้งสิ้น 22 ครั้ง ปี 2559 เกิดเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อ.พร้าว อ.สันทราย อ.แม่วาง อ.ฝาง อ.ดอยสะเก็ด อ.สะเมิง อ.ฮอด อ.ไชยปราการ อ.จอมทอง อ.ดอยหล่อ และ อ.เชียงดาว จำนวน 39 ครั้ง

ส่วนในปี 2560 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 ที่ผ่านมา เกิดเหตุแผ่นดินไหวแล้วทั้งสิ้น 101 ครั้ง ในพื้นที่ 8 อำเภอ คือ อ.จอมทอง อ.แม่วาง อ.ดอยหล่อ อ.สันทราย อ.แม่แจ่ม อ.พร้าว อ.ดอยสะเก็ด และ อ.เชียงดาว ซึ่งสถิติการสั่นไหวของปี 2559 ต่อเนื่องต้นปี 2560 นี้เอง จึงเป็นที่มาของการฝึกซ้อมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแผ่นดินไหวและอาคารถล่มในครั้งนี้” นายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ ปภ.เชียงใหม่ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น