กลุ่มแม่บ้านบ้านแม่โป่ง “นพรัตน์สิ่งทอ” สืบสารสายใยเส้นฝ้ายสู่ผลิตภัณฑ์

ตำนานผ้าฝ้ายทอมือสายใยความผูกพันแห่งชีวิตและเส้นใย ฝ้าย (cotton) คือ เส้นใยเก่สาแก่ชนิดหนึ่งซึ่งใช้ในการทอผ้ามาแต่สมัยโบราณ สิ่งที่บ่งบอกให้รู้ว่ามนุษย์มีการปลูกฝ้ายและปั่นฝ้ายเป็นเส้นด้ายมานานแล้ว คือหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งขุดพบในซากปรักหักพังอายุประมาณ 3,000 ปี ก่อนคริสตกาลที่แหล่งโบราณคดีโมฮันโจดาโร (Mohenjo daro) ซึ่งอยู่ในบริเวณแหล่งอารยธรรม ลุ่มน้ำสินธุในเขตประเทศปากีสถานปัจจุบันเตรียมฝ้ายเข้าสู่กระบวนการผลิตส่วนการทอผ้าฝ้ายในประเทศไทยนั้น คงมีขึ้นหลังการทอผ้าจากป่านกัญชา สันนิษฐานว่าการปลูกฝ้ายในไทยรับเอาพันธุ์และวิธีการมาจากประเทศอินเดีย และหลังจากพบว่าผ้าทอจากฝ้ายมีเนื้อนุ่ม สวมใส่สบายและย้อมติดสีดีกว่าผ้าป่านกัญชา อีกทั้งขั้นตอนและกระบวนการแยกและเตรียมฝ้ายก็ไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาน้อยกว่าการเตรียมป่านกัญชามาก ชาวไทยจึงค่อย ๆใช้ป่านกัญชาลดลงตามลำดับ ปัจจุบันแหล่งปลูกฝ้ายในประเทศไทย คือ จังหวัดเลย เพชรบูรณ์ นครสวรรค์

นางสาวสังวาลย์ ขัติยนต์ ประธานกลุ่มกลุ่มแม่บ้านบ้านแม่โป่ง เปิดเผยถึงประวัติการจัดตั้งกลุ่มว่าในปี พ.ศ. 2539 ตน เห็นว่าแม่บ้านหลายคนในหมู่บ้านไม่มีอาชีพเสริม จึงได้ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มบ้านเกษตรกรบ้านแม่โป่งขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2540 มีสมาชิกแรกเริ่ม 36 คน เรียกย่อๆ ว่า “กลุ่มบาติก” มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้กับสมาชิก และลดปัญหาการว่างงานในช่วงรอผลผลิตทางการเกษตร โดยทำการผลิตผ้าบาติกและผ้าฝ้าย เป็นสถานที่ศึกษาและให้ความรู้ในการผลิตผ้าบาติกและผ้าฝ้ายให้แก่บุคคลที่สนใจ และเป็นส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้าน จากนั้นพระครูมานิตภัทรคุณ เจ้าอาวาสวัดแม่โป่ง ได้ตั้งชื่อให้กลุ่มฯ ว่า “นพรัตน์สิ่งทอ” ตามชื่อเจดีย์ของวัด และในปีนี้เองที่สมาชิกกลุ่มฯ ได้ตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นมาอีกกลุ่ม มีสมาชิก 13 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตผ้าผืนเป็นวัตถุดิบให้กลุ่มบาติก และขยายงานให้ครบวงจรมากขึ้นโดยการแปรรูปผ้าฝ้ายเป็นผ้าถุง กระโปรง และกรอบรูป จนกระทั่งปัจจุบันกลุ่มฯ มีสมาชิกทั้งหมด 93 คน และกลุ่มฯ ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานเกษตรอำเภอดอยสะเก็ด และได้รับรางวัลชนะเลิศผลิตภัณฑ์ดีเด่นประเภทผ้าทอ จากงานมหกรรมสินค้าชุมชน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(สิงห์ทอง) 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาชุมชน เขตที่ 5 โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลคือ ผ้าถุงปักลายชาวเขา (ผลิตภัณฑ์อยู่ที่สำนักงานพัฒนาชุมชน) กลุ่มฯ กลายเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของหน่วยงานราชการ เอกชน และกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่มีความสนใจ

ทางด้านผลิตภัณฑ์มีรูปแบบหลากหลาย มีทั้งผ้าสีพื้น ผ้าถุงปักลาย เพ้นท์สี ด้น บาติก เสื้อถักสำเร็จรูป กระเป๋าโทรศัพท์ และกลุ่มรับทำตามออเดอร์ ณ ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มที่เข้ามาทำงานแต่ละคนมีรายได้เฉลี่ยที่เกิดจากกิจกรรมคนละ 4,500 บาทต่อเดือน และมีการจ้างแรงงาน 11 คน ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ทั้งหมด เพื่อสร้างรายได้เสริมให้แก่แม่บ้านเกษตรกร ประกอบกับความสามารถในการตัดเย็บของประธานกลุ่ม จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมทั้งคุณภาพผลิตภัณฑ์ จนได้รับการอนุมัติให้ใช้ตราสัญลักษณ์เชียงใหม่แบรนด์

ด้านช่องทางการจำหน่าย ขายผู้บริโภคโดยตรง 50% ผ่านตัวแทนจำหน่าย 50% กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ผู้บริโภคและตัวแทนจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศมาตรฐานผลิตภัณฑ์ 1. ได้รับการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ของจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2546 ระดับ 4 ดาวของอำเภอและระดับ 2 ของจังหวัด 2. ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ประเภทเส้นด้ายใยธรรมชาติ (เส้นด้ายฝ้าย) มผช.18/2546 ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2547 – 16 มิถุนายน 2550

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้ทำการจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2540 ที่ตั้งสำนักงาน เลขที่ 126 หมู่ 5 ตำบลบ้านแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ 50220 โทรศัพท์ 098-507712

ร่วมแสดงความคิดเห็น