ชี้ค้าปลีก กระเตื้องเล็กน้อยเหตุเงินฝืด

สมาคมค้าปลีกประเมิณปี 60 ค้าปลีกกระเตื้องเล็กน้อย หนี้ครัวเรือน-ราคาน้ำมัน ยังเป็นปัจจัยฉุด เสนอรัฐ 6 มาตรการกระตุ้น

น.ส.จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาพรวมดัชนีค้าปลีกปี 2560 น่าจะดีกว่า ปี 2559 เล็กน้อย คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตน่าจะอยู่ประมาณ 3.0-3.2% จากปี 2559 เติบโตขึ้นถึง 2.97% ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลข 3.0% ที่ประมาณการณ์ไว้เมื่อต้นปี นับว่ามีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีการเติบโตเพียง 2.8% สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผลของนโยบายการใช้จ่ายภาครัฐและมาตรการเร่งรัดงบประมาณ ที่ส่งผลให้การบริโภคของประชาชนในระดับฐานรากเพิ่มสูง

ทั้งนี้ คาดการณ์ปัจจัยบวกที่มีต่อสถานการณ์ธุรกิจค้าปลีก 2560 มาจากการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่า 80% งบเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่า 75% และการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน พร้อมกันนี้การเพิ่มงบประมาณกลางปีอีก 1.9 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะเห็นผลในไตรมาสสองและไตรมาสสามตามลำดับ

รวมถึงการรักษาการขยายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยว โดยการดำเนินการตามยุทธศาสตร์แผนการตลาดท่องเที่ยวปี 2560 โดยประมาณการณ์จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ 35 ล้านคน และสร้างรายได้ถึงกว่า 2.8 ล้านบาท ส่วนการปรับตัวของรายได้เกษตรกร คาดการณ์น่าจะดีขึ้นจากภาวะภัยแล้งที่คลี่คลาย และระดับราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อสถานการณ์ธุรกิจค้าปลีก 2560 จากปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่ยังส่งสัญญาณที่จะทรงตัวในระดับ 80.2% มีผลต่ออำนาจการซื้อของครัวเรือนต่ำ ทำให้การบริโภคสินค้าในหมวดคงทนถาวรและหมวดสินค้ากึ่งคงทนถาวรอาจต้องชะลอออกไป ขณะเดียวกันแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของเอสเอ็มอี จากสถาบันการเงินมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบหดตัวลง การลงทุนลดลง การว่างงานเพิ่มขึ้น

ตลอดจนราคาน้ำมันสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มแรงกดดันต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยชะลอการจับจ่ายลง และเป็นภาระต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชน ยังคงต้องดูและปรับตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวน

น.ส.จริยา กล่าวต่อว่า ข้อเสนอต่อภาครัฐ มาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งของสมาคม คือ
1.รัฐต้องเร่งหามาตรการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายและการลงทุน เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซั่น โดยอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาคการท่องเที่ยว, โรงแรม และค้าปลีก ซึ่งจะสามารถกระตุ้นให้ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้นได้
2.สร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศและผู้บริโภคที่เป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประกาศจัดงาน “ไทยแลนด์ แบรนด์ เซลล์ (Thailand Brand Sale)” เป็นระยะเวลา 3 เดือน สร้างบรรยากาศเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และกระตุ้นการจับจ่ายผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ให้กลับคืนมานอกจากนี้
3.เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และด้านศิลปวัฒนธรรม รวมถึงโรงแรมและภาคบริการในระดับโลก ดังนั้นเพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวที่ครบวงจร รัฐบาลควรศึกษาและพิจารณาเรื่องการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรูอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง และนาฬิกาชั้นนำ เพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้นได้
4.รัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนอย่างชัดเจน โดยพิจารณาผ่อนผันการเปิดด่านต่างๆ การเพิ่มจำนวนด่าน และการอำนวยความสะดวก รวมทั้งพิจารณาให้มีการคืนภาษีแก่นักท่องเที่ยว หรือVAT Refund for Tourist ในกรณีนักท่องเที่ยวเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามาในประเทศทางบก
5.กำหนดมาตรการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหากระแสเงินสดหมุนเวียนที่ขาดสภาพคล่อง อันเนื่องมาจากต้นทุนแรงงานและต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น เช่น แก้กฎเกณฑ์ผู้ประกอบการภาคผลิตและจัดจำหน่ายระดับเอสเอ็มอีที่เป็นคู่ค้ากับสมาชิกของสมาคมฯ สามารถนำใบสำคัญการสั่งซื้อที่ได้รับจากห้างค้าปลีกเป็นหลักประกันในการกู้เงินจากธนาคารทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เป็นต้น และ
6.การค้าออนไลน์ ให้จัดระเบียบการทำธุรกิจที่อยู่นอกกรอบให้เข้าระบบ

ร่วมแสดงความคิดเห็น