ผลการจัดอันดับเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยโลก Ranking Web of Universities

เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 4 ของประเทศ อันดับที่ 9 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับที่ 80 ของเอเชีย และอันดับที่ 609 ของโลก จากผลการจัดอันดับเว็บไซต์  มหาวิทยาลัยโลก Ranking Web of Universities ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัย ที่ได้รับการจัดอันดับ มากกว่า 20,000 แห่งทั่วโลก

รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง รักษาการ ผอ.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มช. เปิดเผยว่า การจัดอันดับเว็บไซต์มหาวิทยาลัยโลก หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Ranking Web of Universities นั้นเป็นการจัดอันดับการชี้วัดคุณภาพของการเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ ของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยมีการจัดอันดับทุกปี และประกาศผลปีละ 2 ครั้ง ในเดือน ม.ค. และเดือน ก.ค. บนเว็บไซต์ webometrics.info ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับมากกว่า 20,000 แห่งทั่วโลก ซึ่งจากผลการจัดอันดับครั้งล่าสุดในรอบเดือน ม.ค. พ.ศ.2560 นั้น มช. อยู่ที่อันดับ 4 ของประเทศ อันดับที่ 9 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับที่ 80 ของเอเชีย และอันดับที่ 609 ของโลก

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มช. ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาเว็บไซต์ทั้งในทุกคณะและหน่วยงาน โดยได้มีการจัดประชุมหารือร่วมกับผู้พัฒนาเว็บไซต์ เพื่อทำการพัฒนาเว็บไซต์ภายใต้ความรับผิดชอบ ให้ได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งในการจัดอันดับรอบล่าสุดนั้น ได้มีเกณฑ์การชี้วัดคุณภาพอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 ข้อ ได้แก่
Presence: คือการนับจำนวนเพจทั้งหมดบนเว็บไซต์ภายใต้โดเมน โดยอ้างอิงตัวเลขจาก Google ซึ่งรวมถึงไฟล์ PDF และไฟล์เอกสารอื่น ๆ ด้วย โดยคิดคะแนนเป็นร้อยละ 10

Impact: เป็นการใช้วิธีการวัด External Inlinks จากเว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูลการจราจรบนเว็บไซต์คือ ahrefs และ Majestic คิดคะแนนเป็นร้อยละ 50

Openness: ใช้วิธีการนับคะแนนจากบทความทางวิชาการที่มีการอ้างอิงจาก Google Scholar Citations คิดคะแนนเป็นร้อยละ 10

Excellence: คิดคะแนนจากฐานข้อมูล Scimago โดยเลือกเอาจากร้อยละ 10 ของผลงานตีพิมพ์ ที่ถูกใช้ในการอ้างอิงผลงานทางวิชาการมากที่สุด โดยเลือกผลงานมาจากปี พ.ศ.2553- พ.ศ.2557 คิดคะแนนเป็นร้อยละ 30
โดยอันดับในแต่ละเกณฑ์ของ มช. นั้น อันดับ Presence อยู่ที่ 76 ของโลก Impact อยู่ที่ 339 ของโลก Openness อยู่ที่ 1931 ของโลก และ Excellence อยู่ที่ 988 ของโลก ในส่วนของ Presence และ Impact นั้น เป็นส่วนที่เกิดจากนโยบายและความต่อเนื่องในการให้ความสำคัญ ในการพัฒนาเว็บไซต์ที่ถูกต้อง ตามมาตรฐานและรองรับการใช้งานจากทุกอุปกรณ์ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคณะและหน่วยงานในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องตามมาตรฐานและมีความเป็นปัจจุบัน เนื่องจากเกณฑ์ของการจัดอันดับนั้นมีการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ รอบ

สำหรับ Openness และ Excellence นั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับผลงานทางวิชาการที่ตีพิมพ์ และอ้างอิงจากฐานข้อมูลมาตรฐานระดับนานาชาติ ซึ่งจากผลการจัดอันดับ แสดงให้เห็นว่า มช.นั้นยังต้องการผลงานทางวิชาการ เพื่อเผยแพร่บนฐานข้อมูลระดับนานาชาติอีกจำนวนมาก ดังนั้น ทาง มช.จึงต้องขอความร่วมมือกับคณาจารย์ทุกท่าน ในการสร้างผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพ เพื่อตีพิมพ์บนฐานข้อมูลระดับนานาชาติ โดยจะส่งผลให้ถูกนำไปใช้อ้างอิง และยังเป็นการยกระดับงานวิจัยในภาพรวมของมหาวิทยาลัย

ผลจากการพัฒนาเว็บไซต์ ตามเกณฑ์มาตรฐานดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น จะเห็นได้ว่า ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา มช. สู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล แต่ทั้งหมดนี้จะสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนภายใน มช.

ร่วมแสดงความคิดเห็น