ได้โปรด….หยุดใช้ความรุนแรง (เสียที)

ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติ เมื่อผู้คนที่มาอยู่ร่วมกันในสังคมมีความปรารถนาที่แตกต่างกัน ย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา บางครั้งมนุษย์เลือกใช้ความรุนแรงมายุติความขัดแย้ง เป็นเหตุให้เกิดความคิดว่าความรุนแรงคือความขัดแย้ง หรือ อาจเกิดความเข้าใจว่าความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมชาติ การกระทำรุนแรงที่เกิดจากภาวะจิตใจที่ผิดปกติ มักเกิดจากคนที่มีจิตใจไม่ปกติซึ่งปะปนอยู่ในสังคม มีทั้งที่เราสังเกตเห็นและไม่เห็น ระดับความรุนแรงขึ้นอยู่กับระดับความผิดปกติของภาวะจิตใจ

นอกจากนั้นยังมีการกระทำรุนแรงอันเกิดจากภาวะจิตใจที่ผิดปกติให้เห็นอีกมากมาย เช่น คนเป็นเอดส์แพร่เชื้อโดยใช้เข็มวิ่งไล่แทงคนอื่น คนวิปริตทางเพศโชว์อวัยวะเพศต่อหน้าผู้อื่นจนเกิดความหวาดกลัว เป็นต้น การกระทำรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างคนใกล้ชิด ปัจจุบันเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขั้นส่วนใหญ่จะเกิดในครอบครัว โรงเรียน หรือชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกัน ตั้งแต่ดุด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย เป็นต้น

การลวนลามโดยใช้กำลังประทุษร้ายซึ่งถือว่าเป็นการกระทำรุนแรงเป็นภัยทางสังคมที่น่ากลัว ปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคม ประกอบด้วย ความเชื่อของผู้ใช้ความรุนแรงที่ผิด อาทิ การทุบตีด่าว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ ความรุนแรงเป็นวิธีการแก้ไขปัญหา เป็นต้น

ทุกวันนี้ที่น่าเป็นห่วงมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น นั่นคือ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นได้หลายสถานการณ์ ตั้งแต่เรื่องความขัดสน ขาดแคลนความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต ด้านอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ไปจนถึงเรื่องการขาดความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว การกระทำทารุณทางร่างกาย ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว นำไปเร่ขาย ทอดทิ้งให้อดอยากหิวโหย ต้องเร่ร่อน รวมทั้งการทำแท้ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สังคมเกิดภาวะไร้ระเบียบวินัย รวมทั้งการเกิดสภาพความเป็นเมือง ทำให้สังคมละทิ้งคุณค่าทางวัฒนธรรม และการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวล้มเหลว ทำให้เสี่ยงต่อการ กระทำทารุณต่อเด็กยิ่งขึ้น

ครอบครัวที่มีสุขภาพที่ดี (มีภูมิคุ้มกันจากการใช้ความรุนแรง) ต้องประกอบด้วย 6 ประการดังนี้ 1.ทำความตกลงแหล่งการใช้อำนาจภายในครอบครัว 2.กำหนดกติกาและทำการตัดสินใจในการใช้กติกาอย่างมั่นคง 3.แสดงพฤติกรรมเชิงแลกเปลี่ยนความเอื้ออาทรในการพิทักษ์คุ้มครองซึ่งกันและกันอย่างสมํ่าเสมอ 4.ทำการเลี้ยงดูผู้เยาว์และเด็กรักษาสถานภาพชีวิตสมรสอย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคง 5.ทำการกำหนดเป้าหมายของครอบครัวที่สมาชิกแต่ละคนมีส่วนร่วม 6. มีความยืดหยุ่นและการปรับตัวยอมรับพัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างปกติ และรวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด

แนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ความเชื่อ และค่านิยม โดยให้ผู้นำทางสังคมทุกระดับควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการไม่สร้างไม่สนับสนุน ไม่ปกป้องผู้ใช้ความรุนแรงในครอบครัวทุกรูปแบบ

นอกจากนี้ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการต่อต้านการใช้ความรุนแรงในสังคม แก้ไขในเชิงโครงสร้างสังคม ควรเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มต่างๆ ในสังคม เช่น ครอบครัว กลุ่มเพื่อน ท้องถิ่น

แนวทางการใช้มาตรการทางกฎหมาย ต้องแก้ไข ปรับปรุง รวมทั้งจัดทำกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวเป็นต้น ปัญหาความรุนแรงกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนเราทุกวันนี้ โดยเฉพาะ “สื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ” ได้เผยแพร่และชักนำพฤติกรรมความรุนแรงเข้ามา จนเกือบจะเหมือนว่า “ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติของชีวิต” คนมากมายไม่สามารถแยกแยะ และตัดสินได้ว่าตัวเองกำลังเผชิญความรุนแรง หรือกำลังก้าวไปสู่การตกเป็น “เหยื่อ” ความรุนแรงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการยับยั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้

หากพบเจอเหตุการณ์การกระทำความรุนแรงในครอบครัวแจ้งศูนย์ประชาบดี โทร.1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ท้ายนี้ขอฝากว่า ช่วยกันสรรสร้างสังคมของไทย ยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ด้วยความปรารถนาดีจาก ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-935045 www.nurse.cmu.ac.th

ร่วมแสดงความคิดเห็น