ทำนาเปียกสลับแห้งได้ผลผลิตสูง เร่งขยายพื้นที่ปลูกแปลงใหญ่ใน อ.พร้าว

วันที่ 24 ก.พ.60 ณ แปลงนาบ้านป่าไหน่ ต.สันทราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ โครงการชลประทานเชียงใหม่ สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ อำนวยการโดย นายจานุวัตน์ เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ นำโดย นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ นายนภดล นิ่มนวล นายช่างชลประทาน ฝ่ายจัดสรรน้ำและบำรุงรักษาระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ นายสมพร กันธวงศ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานแม่แตง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ร่วมกับ สำนักงานเกษตรอำเภอพร้าว จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและสาธิตการจัดการแปลงนาให้แก่ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการสาธิตการทำนาแบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว ประจำปีเพาะปลูกนาปรัง 2560


นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล กล่าวว่า ขอต้อนรับเกษตรกรพันธุ์ใหม่ที่เข้าร่วมโครงการการทำเกษตรที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตได้ 20 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนได้กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ด้วย ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการเพาะปลูกในพื้นที่และปริมาณที่เท่าเดิม เป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยให้เกษตรกรรายได้เพิ่มมาขึ้นโดยมีเป้าหมายว่าภายใน 4 ปีนี้ เกษตรกรจะมีรายได้เดือนละ24,000 บาทต่อครอบครัว ขณะนี้ผลการคัดเลือกตัวแทนตัวแทนเกษตรแปลงใหญ่ในเขตตรวจราชการที่ 15 เพื่อจะไปแข่งขันในระดับประเทศกับอีก 18 จังหวัด โดยภายในเดือนมีนาคมนี้จะคัดให้เหลือ 4 จังหวัด และภายในเดือนเมษายนจะคัดเหลือเพียงจังหวัดเดียว เป็นจังหวัดชนะเลิศระดับประเทศ


“ซึ่งหากได้ที่ 1 ของประเทศแล้ว สิ่งที่จะตามมาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คือ ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ จะลงมาสู่พื้นที่อย่างมากมายชนิดที่เรียกว่ามโหฬาร ในส่วนของกรมชลประทานที่จะเข้ามาดำเนินการสนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ของ อ.พร้าว ภายใน 3 ปีนี้ ระบบจ่ายน้ำในพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำแม่โก๋นจะเป็นรางตัวยูทั้งหมดเต็มพื้นที่ นอกจากนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร การเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมทั้งเรื่องการทำเกษตรรูปแบบใหม่ และอีกหลายเรื่องซึ่งเป็นเรื่องต่างๆ ที่กระทรวงเกษตรฯ จะทุ่มเทลงมายังพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ตามโครงการในพื้นที่ อ.พร้าว นี้ ซึ่งจะได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการที่จะต้องเสียเวลาบ้างมาเพื่อรับความรู้ใหม่ๆ ที่หลายหน่วยงานราชการจะระดมลงสู่พื้นที่ตามโครงการ แต่ที่สุดแล้วเมื่อครบถ้วนตามโครงการที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนดไว้ เกษตรกรก็จะได้รับประโยชน์โดยตรงเต็มรูปแบบ เป้าหมายปลายทางสำคัญที่สุดคือ ในพื้นที่นี้จะมีเครื่องมือสำหรับทำการเกษตรครบวงจร ตั้งแต่เริ่มผลิตจนถึงผลผลิตที่ได้พร้อมจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นโรงสีชุมชน ลานตาก โกดัง จะมีในพื้นที่อย่างพร้อมเพรียง” หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าว
ด้าน นายนภดล นิ่มนวล กล่าวว่า พื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ที่ดำเนินการในพื้นที่ อ.พร้าว ในพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำแม่โก๋นจะมีการวางแผนการใช้น้ำโดยเริ่มจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในแต่ละปี สำหรับปี 2559 ที่ผ่านมาเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อยไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกจึงให้งดการปลูกข้าวนาปลัง สำหรับปี 2559/2560 คือปีนี้ ปริมาณน้ำต้นทุกค่อนข้างจะดีซึ่ง ณ เวลานี้เหลือน้ำต้นทุนอยู่ราว 3 ล้าน ลบ.ม. ราว 60 เปอร์เซ็นต์ของความจุ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปีนี้เกษตรกรทำการเพาะปลูกเกือบเต็มทั้งพื้นที่ การบริหารจัดการจะอาศัยความร่วมมือของผู้ใช้น้ำในการวางแผนร่วมกัน


“ในแต่ละพื้นที่จะมีแก่เหมือแก่ฝายเป็นผู้ประสานงาน จัดรอบเวรการใช้น้ำร่วมกัน อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการทำนาแบบเปียกสลับแห้งนั้นจะใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกแบบปกติทั่วไปอยู่แล้ว ในปีที่ผ่านๆ มาตัวเลขที่เป็นสถิติที่เก็บได้สามารถตอบโจทย์การปลูกข้าวได้เป็นอย่างดี ปริมาณน้ำที่ใช้ต่อไร่อยู่ที่ 1,100 ลบ.ม. โดยที่การปลูกข้าวโดยทั่วไปปกติใช้น้ำอยู่ราว 1,500 ลบ.ม.ต่อไร่ ลดการใช้น้ำได้มากถึง 23 เปอร์เซ็นต์ ในขณะนี้ผลผลิตจากตัวเลขปีการผลิต 2557/2558 ซึ่งเริ่มต้นโครงการนำร่องซึ่งมีการปลูกเปรียบเทียบกันใน 2 แปลง ปลูกแบบปกติและแบบเปียกสลับแห้งพบว่าผลผลิตจากแปลงปกติได้ 711 กก.ต่อไร่ ส่วนแปลงที่ปลูกแบบเปียกสลับแห้งได้ผลผลิตที่ 844 กก.ต่อไร่ กล่าวคือได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นกว่าการปลูกแบบปกติราว 11 เปอร์เซ็นต์” นายนภดลฯ กล่าว
นายนภดล นิ่มนวล กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่เพาะปลูกนั้นจากเริ่มต้นในแปลงนำร่องทั้ง 2 แปลงที่ปลูกเปรียบเทียบกันดังกล่าวแปลงละ 1 งาน ได้มีการขยายผลในปีถัดมาโดยนโยบายของอดีตอธิบดีกรมชลประทานท่านก่อน นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ ได้ให้นโยบายไว้ว่าต้องขยายผลให้ได้พื้นที่ 1 ไร่ต่อ 1 โครงการ ในพื้นที่ อ.พร้าว ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการไปแล้วจึงกำหนดการขยายผลของพื้นที่การผลิตมากกว่านโยบายของกรมชลประทานที่กำหนดไว้ ขณะนี้ในพื้นที่ อ.พร้าว เชียงใหม่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทำนาแบบเปียกสลับแห้งแล้วราว 340 ไร่ ซึ่งในอนาคตก็จะมีการขยายพื้นที่เพิ่มต่อไปเรื่อยๆ เพราะประเด็นที่สำคัญซึ่งเกษตรกรเห็นชัดมากคือ การทำนาเปียกสลับแห้งนั้นง่ายต่อการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างมาก หากเป็นการทำนาแบบเดิมๆ เกษตรกรไม่สามารถกำหนดได้เลยว่าจะต้องใช้น้ำเท่าไร อยากใช้ก็เปิดใช้แบบไม่มีจำกัดใช้กันอย่างเต็มที่ หากแต่เปลี่ยนมาทำนาแบบเปียกสลับแห้งแล้วเกษตรกรสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ในรอบการปลูกข้าว 120 วัน จะประหยัดน้ำไปทั้งสิ้น 30 วัน หากทำนาแบบเปียกสลับแห้ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น