หวั่นเด็กจมนํ้าช่วงปิดเทอมใหญ่ เผยเสียชีวิตแล้วเกือบ 200 ราย

เมื่อเร็วๆ นี้ นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมนายแพทย์สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายพิสิษฐ์ พงษ์ศิริศุภกุล มูลนิธิพุทธธรรม 31 (ฮุก 31) จ.นครราชสีมา ร่วมการแถลงข่าววันรณรงค์ป้องกันเด็กจมนํ้า ในหัวข้อ “บ้านเริ่ม ชุมชนร่วม…ป้องกันเด็กจมนํ้า” พร้อมชมการจำลองสถานการณ์และสาธิตวิธีการเอาชีวิตรอดในนํ้า วิธีการช่วยเหลือคนตกนํ้า และสาธิตการปฐมพยาบาลคนจมนํ้า จากครูและนักเรียนโรงเรียนวัฒนพฤกษา จ.นนทบุรี และสมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางนํ้า

นายแพทย์เจษฎา กล่าวว่า การจมนํ้าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่งมาตลอด โดยปี 2559 มีเด็กอายุตํ่ากว่า 15 ปี จมนํ้าเสียชีวิต 699 คน โดยช่วงปิดเทอม 3 เดือน (มีนาคม-พฤษภาคม) พบเด็กจมนํ้าเสียชีวิตสูงถึง 197 คน ซึ่งลดลงกว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่มีเด็กจมนํ้าเสียชีวิตเฉลี่ย 348 คน โดยที่ใน
บางปีมีจำนวนสูงถึงเกือบ 450 คน ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมนํ้า ซึ่งได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และจิตอาสา จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันการจมนํ้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยในเรื่องนี้ และได้เน้นยํ้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแหล่งนํ้าต้องมีการป้องกัน เพราะส่วนใหญ่เด็กจมนํ้าในแหล่งนํ้าตามธรรมชาติ ควรมีป้ายเตือนหรือที่กั้น และต้องมีการอบรมเด็ก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นมาตรการที่ต้องเริ่มจากบ้าน และชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม อีกมาตรการคือเรื่องการปฐมพยาบาลคนจมนํ้าที่เคยมีการเผยแพร่ภาพและคลิปผ่านทาง Social Network เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือคนจมนํ้าด้วยวิธีการจับเด็กที่จมนํ้าห้อยหัว หรืออุ้มพาดบ่า หรือกระแทกท้อง เพื่อเอานํ้าออก ซึ่งวิธีการต่างๆ เหล่านั้นเป็นวิธีที่ผิด และอาจเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เพราะนอกจากจะทำให้คนจมนํ้าได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีล่าช้าออกไปแล้ว นํ้าที่ออกมาเป็นนํ้าที่ออกมาจากท้อง ซึ่งอาจสำลักกลับเข้าไปในปอดได้อีก ทั้งนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2560 นี้ ได้กำหนดเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมนํ้าของเด็กอายุตํ่ากว่า 15 ปี ให้ลดลงเหลือ 5.0 ต่อประชากรเด็กแสนคน หรือน้อยกว่า 600 คน ซึ่งปีนี้ได้กำหนดหัวข้อที่ใช้ในการรณรงค์ คือ “บ้านเริ่ม ชุมชนร่วม
…ป้องกันเด็กจมนํ้า” โดยมีแนวคิดให้ครอบครัว(บ้าน) เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความปลอดภัยทางนํ้า และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและชุมชนพึ่งตนเองได้

การป้องกันเด็กจมนํ้าสามารถเริ่มทำได้จากที่บ้าน เพราะเด็กเล็กจะจมนํ้าในภาชนะที่อยู่ภายในบ้าน ที่มีนํ้าสูงเพียง 1-2 นิ้ว เช่น เทนํ้าทิ้งหรือปิดฝาภาชนะใส่นํ้าทุกครั้งหลังใช้งาน ทุกครัวเรือนที่มีเด็กอายุตํ่ากว่า 2 ปีควรจัดให้เด็กอยู่ในคอกกั้นเด็ก ไม่ควรให้เด็กคลาดสายตา ส่วนในกลุ่มเด็กโต มักพบจมนํ้าในแหล่งนํ้าที่อยู่ในชุมชน จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของเด็กที่จมนํ้าจะเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ เพราะตั้งแต่เด็กตกลงไปในนํ้าจนจมอยู่ใต้นํ้า เวลาเพียง 4 นาที ก็ทำให้สมองขาดออกซิเจนและเสียชีวิตได้ ดังนั้นการป้องกันก่อนเกิดเหตุจึงสำคัญที่สุด อย่างไรก็ตาม เมื่อตกนํ้าจมนํ้าแล้ว มีหลายกรณีที่เราพบว่า คนจมนํ้ารอดชีวิตเพราะได้รับการช่วยเหลือและปฐมพยาบาลที่เร็วและถูกวิธี

นอกจากนี้กรมควบคุมโรค ยังได้จัดให้มีกิจกรรมรณรงค์โดยการประกวดสปอตวิทยุเพื่อนำไปใช้สื่อสารในวงกว้างตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม โดยผ่านสถานีวิทยุชุมชน หอกระจายข่าว หรือรถกระจายเสียง เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายระดับชุมชนซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงหลัก

ส่วนนายพิสิษฐ์ พงษ์ศิริศุภกุล มูลนิธิพุทธธรรม 31 (ฮุก 31) กล่าวว่า ชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการ เช่น การสร้างรั้วหรือติดป้ายคำเตือน การจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยเหลือไว้บริเวณแหล่งนํ้าเสี่ยง การเฝ้าระวัง/สื่อสารประชาสัมพันธ์ในชุมชน การสอนให้เด็กมีทักษะการเอาชีวิตรอดในนํ้าและวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ซึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินงานภายใต้ทีมผู้ก่อการดี (Merit Maker) ป้องกันการจมนํ้า

ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข

ร่วมแสดงความคิดเห็น