เตือนระวัง โรคลมแดดช่วงฤดูร้อน ชัก หมดสติ อันตรายอาจเสียชีวิตได้ แนะดื่มน้ำบ่อยๆ

สำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ เตือนระวัง โรคลมแดดในช่วงฤดูร้อน อันตรายถึงเสียชีวิต ส่วนมากเป็นคนทำงานหรือเล่นกีฬากลางแจ้ง ควรดื่มน้ำเปล่าบ่อยๆ อย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน หากตัวร้อนจัด แต่เหงื่อไม่ออก ให้รีบเข้าที่ร่มทันที ระบายความร้อนในร่างกาย ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว ถ้าชักหรือหมดสติ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทรสายด่วน 1669

ร้อยเอกภูรีวรรธน์ โชคเกิด นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ฤดูร้อนปี 2560 กรมอุตุนิยมวิทยา ประเมินว่า ตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. ถึงกลางเดือน เม.ย. จะมีอากาศร้อนอบอ้าว และร้อนจัดในบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิสูงสุด อาจจะสูงถึง 42-43 องศา ซึ่งปกติร่างกายของมนุษย์ มีอุณหภูมิอยู่ที่ 37 องศา หากร่างกายเผชิญกับอากาศที่ร้อนกว่านี้ และไม่สามารถปรับลดอุณหภูมิได้ อาจเกิดโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งมีอันตรายอย่างรุนแรง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต จากการทำงานที่ผิดปกติของระบบสมอง หากได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ก็จะสามารถช่วยรักษาชีวิตได้ และลดความพิการได้อย่างมาก

ผู้ที่มีความเสี่ยง เป็นโรคลมแดดได้สูงกว่าคนทั่วไปมี 6 กลุ่ม ได้แก่

  1. ผู้ที่ทำงาน หรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ทหารที่เข้ารับการฝึกใหม่ และผู้ที่ออกกำลังกายกลางแดด
  2. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดี เท่าคนหนุ่มสาว
  3. ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งมีปัญหาการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดเดิมอยู่แล้ว
  4. คนอ้วน
  5. ผู้ที่อดนอน โดยร่างกายของคนอ้วน และผู้ที่อดนอน จะตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ โดยเฉพาะในคนอ้วนจะมีไขมันใต้ผิวหนังมาก ไขมันจะเป็นฉนวนกันความร้อน ร่างกายจะสามารถเก็บความร้อนได้ดี และระบายความร้อนออกได้น้อยกว่าคนทั่วไป จึงเกิดปัญหาได้ง่าย
  6. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ จะทำให้เส้นเลือดฝอยที่อยู่บริเวณใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ขณะเดียวกัน ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้ สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจทำงานต้องหนัก เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อก และเสียชีวิตได้

การช่วยเหลือผู้ที่มีอาการเป็นลมแดด ให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองมากขึ้น คลายชุดชั้นใน และถอดเสื้อผ้าออกให้เหลือน้อยชิ้น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก ร่วมกับการใช้พัดลม ช่วยเป่าระบายความร้อน หรือใช้น้ำเย็นราดตัว เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลง และรีบส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ในรายที่อาการยังไม่มาก ควรให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ

แนะนำให้ประชาชนสวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา ระบายความร้อนได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน หากเป็นไปได้ควรอยู่ภายในบ้าน เช่นใต้ถุนบ้าน หรืออยู่ใต้ร่มไม้ ลดทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้ง สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง ควรดื่มน้ำมากกว่าปกติ เพื่อให้ร่างกายปรับอุณหภูมิให้คงที่ ชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก น้ำจะเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ให้อยู่ในระดับปกติ ปรับตัว สู้กับอากาศร้อนได้ดีขึ้น หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด “อย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแจ้ง ความร้อน ภายในรถ จะเสี่ยงต่อการเป็นลมแดดสูงมาก ผู้ที่มีโรคประจำตัว หากมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียนปวดศีรษะ ใจสั่น ขอให้พบแพทย์ หรือไปรับการรักษา ที่ สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ตลอด 24 ชม. นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงใหม่ กล่าวในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น