งานวิจัยศูนย์วิจัยโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คว้ารางวัลวิจัยดีเด่นจากงานประชุม สกว.

อาจารย์ ดร.ภก.จิรภาส ศรีเพชรวรรณดี อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ (CERT Center) คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โชว์ผลงานการศึกษากลไกสาเหตุของการเกิดภาวะเหล็กเกิน ส่งผลต่อความผิดปกติของกระบวนการเรียนรู้และความจำ ทำให้ทราบกลไกพยาธิสภาพของโรคอัลไซเมอร์ นำไปสู่การพัฒนายาที่ใช้ได้ในการรักษาโรคในคนที่เป็นภาวะเหล็กเกินได้ในอนาคต คว้ารางวัลผลงานวิจัยยอดเยี่ยมชนิดโปสเตอร์ จากงานประชุมนักวิจัยรุ่นใหม่ พบเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ครั้งที่ 16

งานวิจัยเด่นจากศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ (CERT Center) และภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้ารางวัลผลงานวิจัยยอดเยี่ยมชนิดโปสเตอร์ จากการนำเสนอโดย อาจารย์ ดร. ภก. จิรภาส ศรีเพชรวรรณดี อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ (CERT Center) จากหน่วยวิจัย Neuroelectrophysiology จากผลงานวิจัย เรื่อง “A Combination of an iron chelator with an antioxidant effectively diminishes the dendritic loss, tau-hyperphosphorylation, amyloids-? accumulation and brain mitochondrial dynamic disruption in rats with chronic iron-overload” ในงานประชุมนักวิจัยรุ่นใหม่ พบเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ครั้งที่ 16 จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ณ โรงแรมเดอะ รีเจนท์ ชะอำบีช รีสอร์ท หัวหิน ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นผู้มอบรางวัล โดยผลงานวิจัยนี้มี ศาสตราจารย์ ดร. ทพญ. สิริพร ฉัตรทิพากร นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2559 และ หัวหน้าหน่วย Neuroelectrophysiology ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ (CERT Center) เป็นอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาถึงกลไกสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะเหล็กเกินที่ส่งผลต่อความผิดปกติของกระบวนการเรียนรู้และความจำมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้ทราบกลไกพยาธิสภาพของโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับภาวะเหล็กเกิน ตลอดจนทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาต่างๆ ได้แก่ ยาขับเหล็ก 3 ชนิด สารต้านอนุมูลอิสระ และเปรียบการให้ยาแบบเดี่ยวกับการให้ยาร่วมกันระหว่างยาขับเหล็กและสารต้านอนุมูลอิสระ โดยทางทีมผู้วิจัยพบว่า ภาวะเหล็กเกินทำให้ส่งผลเสียต่อสมองโดยเกิดการสะสมของเหล็กและอนุมูลอิสระในสมอง และยังทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของไมโตคอนเดรียในสมอง ตลอดจนเกิดพยาธิสภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ และมีการลดลงของ dendritic spine ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการถ่ายทอดข้อมูลระหว่างเซลล์ประสาท นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาพบว่า การให้ยาร่วมกันระหว่างยาขับเหล็กและสารต้านอนุมูลอิสระ มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการลดผลเสียต่อสมองดังกล่าว

ผลกระทบของงานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยทำให้ทราบถึงในระดับเซลล์ว่าเมื่อเกิดภาวะเหล็กเกิน เหล็กจะถูกนำเข้าสู่สมองผ่านช่องทางไหน ซึ่งเมื่อทราบถึงกลไกต่างๆดังกล่าวจะทำให้นำไปสู่การพัฒนายาที่ใช้ได้ในการรักษาโรค cognitive impairment ในคนที่เป็นภาวะเหล็กเกินได้ในอนาคต

ร่วมแสดงความคิดเห็น