การประปาเต้น ชาวจอมทอง เตรียมปลูกข้าว รอบที่ 3 หวั่นกระทบน้ำใช้ กระทบถึงสวนลำไยด้วย

ปรับแผนจัดสรรน้ำ………..นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 เชียง ใหม่ เรียกประชุมด่วนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำตลอดทั้งแม่น้ำปิงตอนท้ายเมืองเชียงใหม่ เพื่อปรับแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงแล้งที่เหลือ หลังพบมีเกษตรกรในพื้นที่จอมทองเตรียมปลูกข้าวรอบที่ 3 ของปีเพาะปลูกนี้

เย้ยคำสั่งรัฐบาลชาวนาพื้นที่ อ.จอมทอง วางแผนจะปลูกข้าวรอบที่ 3 ของปีมากกว่า 1,000 ไร่ ข้อมูลที่ชัดอยู่ในพื้นที่หน้า ปตร.แม่สอย 700 ไร่ ด้านท้ายประตูอีก 80 ไร่ เผยเตรียมปักดำ 1 เม.ย.60 นี้ ชลประทานเต้นเตรียมพบ ผวจ.เชียงใหม่ สกัดการปลูก เชื่อหากปล่อยผ่านปริมาณน้ำที่มีอยู่ส่งผลกระทบต่อลำไยแน่นอน พร้อมแจงสาเหตุหากปลูกช่วงนี้ทั้งข้าวและลำไยจะให้น้ำในปริมาณมากในช่วงเวลาเดียวกัน ย้ำน้ำหน้าตักไม่มีให้ใช้มากขนาดนั้น เปรียบเทียบชัดข้าวปลูกกว่า 1,000 ไร่ ต้องใช้น้ำในปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำข้างโรงแรมกรีนเลคมากถึง 10 อ่าง

เมื่อวันที่ 23 มี.ค.60 เวลา 15.00 น. ที่ต้องติดตามสถานการณ์น้ำ สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ เรียกประชุมด่วนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำตลอดทั้งแม่น้ำปิงตอนท้ายเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ประตูระบายน้ำท่าวังตาล ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ ถึงประตูระบายน้ำแม่สอย อ.จอมทอง ซึ่งประกอบด้วย ปตร.ท่าวังตาล ฝายแม่ปิงเก่า ฝายท่ามะโก๋ ฝ่ายสบร้อง ฝายพญาอุด ฝายหนองสลีก ปตร.ดอยน้อย ปตร.วังปาน และ ปตร.แม่สอย

นายธนิต จ่าภา หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำ ส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ รายงานการส่งน้ำในรอบเวรที่ 7 เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการปรับแผนการจะส่งน้ำในรอบเวรที่ 8 ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่แม่น้ำปิงตอนบน ณ วันที่ 23 มี.ค.60 มีน้ำไหลจากแม่น้ำปิงที่ อ.เชียงดาว ที่ 0.34 ลบ.ม.ต่อวินาที มีน้ำที่ไหลจากเมืองเชียงใหม่ลงสู่เขื่อนภูมิพลที่สถานี P73A ในอัตรา 1.50 ลบ.ม.ต่อวินาที ในรอบเวรที่ 7 มีการส่งน้ำจากเขื่อนแม่งัดจำนวน 4 วัน คือส่งที่ 18, 18, 12 และ 14 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำ 5.4 ล้าน ลบ.ม. โดยเริ่มส่งตั้งแต่ วันพฤหัสบดี ที่ 16 มี.ค.60 จนถึง วันจันทร์ ที่ 20 มี.ค.60 เวลา 13.00 น. โดยน้ำเดินทางจากเขื่อนแม่งัดมาถึง ปตร.ท่าวังตาลในรอบนี้ใช้เวลา 15 ชั่วโมง เร็วกว่าเดิม 3 ชั่วโมง และใช้เวลายกระดับน้ำ 4 ชั่วโมง จากที่เคยยกในรอบเดิม 10 ชั่วโมง เนื่องจากช่องว่างของน้ำที่ต้องเติมเข้ามาน้อยลงจึงส่งผลให้น้ำลงมาเติมเต็มในระบบเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก

“น้ำรอบนี้ใช้เวลาเดินทางไปถึงฝายหนองสลีก 16 ชั่วโมง โดยใช้เวลาในการเพิ่มระดับน้ำ 6 ชั่วโมง เดิมใช้เวลา 11 ชั่วโมง จากหนองสลีกมีน้ำล้นไปท้ายน้ำถึง ปตร.ดอยน้อย ใช้เวลา 3 ชั่วโมง ไปถึง ปตร.วังปาน ใช้เวลา 7 ชั่วโมง และไปถึง ปตร.แม่สอย ใช้เวลา 3 ชั่วโมง รวมแล้วน้ำจากเขื่อนแม่งัดเดินทางถึง ปตร.แม่สอย ใช้เวลา 92 ชั่วโมง เดิมต้องใช้เวลา 119 ชั่วโมง ใช้เวลาเร็วขึ้น 27 ชั่วโมง” นายธนิตฯ กล่าว

สำหรับการตรวจสอบปริมาณน้ำพบว่า น้ำจากเขื่อนแม่งัดส่งมาที่ 5.4 ล้าน ลบ.ม. มาถึงสถานี P75 จำนวน 4.5 ล้าน ลบ.ม. ถึงสถานี 103 บริเวณวงแหวนรอบ 3 ปริมาณ 4.7 ล้าน ลบ.ม. ส่วนน้ำที่เหลือซึ่งตามลงมาราว 2 วันถึง ปตร.แม่สอย ปริมาณน้ำก็ใกล้เคียงกับปริมาณน้ำที่ส่งจากเขื่อนแม่งัด

ในปีนี้ที่สถานีสูบน้ำของประปาอำเภอจอมทอง มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว 46 ซม. ปีนี้เช่นกันที่สถานีสูบน้ำบ้านแท่นคำมีการกั้นกระสอบทรายเสริมในลำน้ำ ทำให้สามารถสูบน้ำได้วันละ 12 ชั่วโมง จากเดิมในปีที่แล้วสูบได้เพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเมื่อกั้นกระสอบทรายที่จุดนี้ส่งผลให้จุดสูบน้ำสถานีประปาจอมทองมีน้ำเท้อขึ้นไปสนับสนุนด้วย

นายธนิต จ่าภา ประเด็นปัญหาที่พบมีอยู่ว่า ได้รับรายงานจากสถานีสูบน้ำหน้า ปตร.แม่สอย 5 สถานี และท้าย ปตร.อีก 1 สถานี จะมีการปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 ก็คือการปลูกข้าวในรอบที่ 3 ของปีนี้ราว 780 ไร่ ซึ่งแจ้งว่าจะทำการปักดำใน วันที่ 1 เม.ย.60 นี้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีอีก 1 สถานี แจ้งอย่างไม่เป็นทางการมาแล้วว่าจะมีการปลูกข้าวด้วยเช่นกันแต่ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัดว่าจะมีกี่ไร เชื่อว่าหากรวมทั้ง 7 สถานี ที่มีข้อมูลเข้ามานี้ คาดว่าน่าจะมีพื้นที่ที่ปลูกข้าวในรอบที่ 3 นี้มากกว่า 1,000 ไร่

ทั้งนี้ข้อมูลรายละเอียดพื้นที่ที่จะปลูกข้าวทั้ง 780 ไร่ ประกอบด้วย ปลูกในพื้นที่ ต.แม่สอย อ.จอมทอง ในพื้นที่รับน้ำจากสถานีสูบน้ำบ้านห้วยมะควัด พื้นที่ปลูก 85 ไร่ สถานสูบน้ำบ้านโรงวัว 65 ไร่ สถานีสูบน้ำบ้านใหม่สารภี 130 ไร่ สถานีสูบน้ำบ้านหนองคัน 3 พื้นที่ปลูก 350 ไร่ และสถานีสูบน้ำบ้านหนองคันอีก 70 ไร่ นอกจากนี้ยังมีในพื้นที่บ้านข่วงเปาใต้ ต.บ้านแปะ อ.จอมทอง ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากสถานีสูบน้ำบ้านห้วยทรายอีก 80 ไร่ หากเปรียบเทียบให้เห็นชุดประเมินได้ว่าการใช้น้ำสำหรับการปลูกข้าวในพื้นที่ขนาดนี้ต้องใช้น้ำที่มีในอ่างเก็บน้ำห้วยหยวกข้างโรงแรมกรีนเลคมากถึง 8 อ่าง

ด้าน นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผส.ชป.1 เชียงใหม่ กล่าวว่า เรื่องนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำในรอบเวรที่เหลืออยู่ ในอนาคตยังไม่รู้ชัดว่าฝนจะมาเมื่อไร ทั้งที่ได้มีการประชุมผู้ใช้น้ำทั้งระบบไปแล้วโดยมีข้อสรุปว่าขอให้ทำนาแค่เพียงรอบที่ 2 หรือนาปรังรอบแรกเท่านั้น แต่ยังปรากฏว่ามีผู้ฝ่าฝืนมติที่ประชุมผู้ใช้น้ำจะปลูกข้าวในรอบที่ 3 ของปีอีก และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าข้าวเป็นพืชใช้น้ำน้อย อีกทั้งนโยบายและข้อสั่งการของ รมว.เกษตรฯ ไม่ให้มีการปลูกข้างนาปรังรอบที่ 2 โดยเด็ดขาด แต่ยังพบว่ามีเกษตรกรในบางพื้นที่ฝ่าฝืนอีก

“ปัญหาที่จะตามมาคือ พฤติกรรมเลียนแบบ หากพื้นที่นี้ปลูกได้ พื้นที่ที่ยังไม่ได้ปลูกในบริเวณเดียวกันหรือใกล้เคียงกันก็ปลูกตามบ้าง นั่นหมายถึงจะต้องมีการใช้น้ำในปริมาณที่มากเกินกว่าแผนที่กำหนดไว้แต่ต้น ตรงนี้จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนโดยตรงอย่างแน่นอน ซึ่งจะมีปัญหาคือการใช้น้ำในปริมาณที่มากในช่วงเวลาเดียวกันในเดือนเมษายนต่อเนื่องเดือนพฤษภาคม โดยลำไยก็ต้องการน้ำมากในช่วงนี้ ข้าวที่ปลูกในรอบที่ 3 ก็ต้องการน้ำมากในช่วงเวลานี้เช่นกัน นั่นหมายความว่าปัญหาใหญ่มากที่ไม่อาจคาดเดาได้จะขนาดไหนต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” ผส.ชป.1 เชียงใหม่ กล่าว

นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผส.ชป.1 เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ประเด็นเรื่องของการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 หรือข้าวรอบที่ 3 ของปีนี้ ในส่วนของสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ จะเร่งทำเอกสารเพื่อนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ให้ทราบเป็นการเร่งด่วนภายในสัปดาห์หน้า โดยขอให้จังหวัดเชียงใหม่มีข้อสั่งการไปยังทุกอำเภอตั้งแต่ อ.สารภี หางดง สันป่าตอง ดอยหล่อ จอมทอง และ อ.ฮอด งดการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 หรือการปลูกข้าวในรอบที่ 3 นี้โดยเด็ดขาด เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัดฯ ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้ได้ทั้งลำไยและข้าวที่จะปลูกในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งจะส่งให้ผลผลิตทั้งข้าวและลำไยเกิดความเสียหายได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น