ปอยส่างลองวัดป่าเป้า วิถีชีวิตของชาวไตในเชียงใหม่

ต้นเดือนเมษายนลมร้อนเข้ามาเยือนเป็นสัญญาณให้รู้ว่าความแห้งแล้งกำลังจะมาถึง ชาวเขาบนดอยกำลังสาละวนอยู่กับการตระเตรียมเครื่องดับไฟป่า ขณะที่ชาวพื้นราบอย่างเราต่างก็กำลังตระเตรียมเครื่องไทยทานเพื่อไปทำบุญที่วัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์

กลางเมืองเชียงใหม่ในช่วงเวลานี้ก็มีงานประเพณีหลายอย่างในสัปดาห์ย้อนอดีตล้านนาเริ่มต้นจากงานปอยส่างลองวัดป่าเป้าที่ชุมนุมของชาวไทใหญ่ทั่วภาคเหนือ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีระหว่างวันที่ 5 – 7 เมษายนถนนรอบคูเมืองบริเวณหน้าวัดป่าเป้าจะคราคร่ำไปด้วยยวดยานและผู้คน เพราะว่าในวันนี้มีการจัดงานปอยส่างลองซึ่งถือว่าเป็นงานบวชลูกแก้วงานเดียวของเชียงใหม่ที่มีส่างลองเป็นจำนวนมากเข้าร่วมในพิธีจนกระทั่งงานปอยส่างลองของวัดป่าเป้าได้ถูกบรรจุลงในปฏิทินท่องเที่ยวของเชียงใหม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว

ในบริเวณวัดจะมีการตั้งประรำพิธีและเต๊นท์สำหรับให้ส่างลองได้พัก เสียงเพลงทำนองไทใหญ่ดังระงมกลบเสียงพูดของผู้คนเสียสิ้น ผมแทรกตัวผ่านกลุ่มคนที่นั่งจับกลุ่มอยู่หน้าประรำเพื่อพาตัวเองไปยังตลาดนัดเล็ก ๆ ที่อยู่ด้านหลังวัด ที่ตลาดนี่เองมีข้าวของเครื่องใช้แทบทุกชนิดจำหน่ายโดยเฉพาะสินค้าของไทใหญ่ที่นำมาจำหน่ายเป็นที่สนใจของผมอย่างมาก เทปเพลง หนังสือพิมพ์ไทใหญ่ โปสเตอร์ รวมถึงหนังสือทำนองปลุกใจรักชาติถูกนำมาวางขายให้พี่น้องชาวไทใหญ่ได้รับทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหวสถานการณ์ในพม่า

ประเพณีปอยส่างลอง เป็นวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาซึ่งชาวไต หรือ ไทใหญ่ เชื่อว่า เกิดมาเป็นชายการบรรพชาหรืออุปสมบทเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่

คำว่า “ส่างลอง” หรือ “จางลอง” หมายถึง “นาค” ดังนั้นประเพณีปอยส่างลอง จึงเป็นการทำพิธีจัดงานฉลองก่อนบรรพชาเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นภิกษุในพุทธศาสนา มีตำนานกล่าวว่า เมื่อสมัยพุทธกาล เจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง 4 องค์แล้วมีความรำพึงในพระทัยว่า พระองค์จะเสด็จออกบวชเป็นสมณะเพื่อแสวงหาความหลุดพ้น ความเกิด แก่ เจ็บ ตายและอาสวกิเลส จากนั้นทรงฉลองพระองค์เต็มยศแล้วทรงเสด็จหนีไปในตอนกลางคืน เมื่อไปถึงในป่าพระองค์ทรงตัดพระเกศาบวชเป็นสมณะแล้วปฏิบัติตนในการทำทุกขกิริยา เมื่อเห็นว่าไม่ใช่หนทางที่จะบรรลุมรรคผลได้ พระองค์จึงทรงเลิกปฏิบัติแล้วมาปฏิบัติทางจิตทำสมาธิจนบรรลุธรรมพิเศษตรัสรู้ เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ภายหลังที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานไปแล้ว 220 ปี ในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งปกครองเมืองปาตลีบุตร พระองค์ทรงสนพระทัยเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนามาก จึงได้ทรงสร้างพระธาตุเจดีย์ ศาลา บ่อน้ำ จำนวนกว่า 84,000 แห่ง แล้วจึงทำการฉลองสมโภชเป็นการใหญ่โต หลังจากนั้นแล้วพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงทูลถามพระอรหันต์ที่เป็นประธานสงฆ์ว่า ตามที่พระองค์ได้สร้างพระธาตุเจดีย์ ศาลา บ่อน้ำและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาใหญ่โตเป็นอันมากแล้วจะถือว่าเป็นผู้สืบทอดทายาททางพุทธศาสนาหรือไม่ พระอรหันต์จึงทูลตอบว่า ท่านยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบทอดทายาททางพุทธศาสนา พระองค์จะต้องเข้าบวชในพุทธศาสนาหรือให้พระราชโอรส หรือรับเอาบุตรของผู้อื่นบวชในพระพุทธศาสนา จึงจะได้ชื่อว่าท่านเป็นผู้สืบทอดทายาททางพุทธศาสนา

เมื่อได้ยินดังนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชจึงทรงให้พระราชโอรสของพระองค์ คือเจ้าชายมหินตะ ได้เข้าบวชในพุทธศาสนาและในการบวชครั้งนั้น เจ้าชายมหินตะได้ทรงฉลองพระองค์อันวิจิตรงดงามแล้วทรงทำปทักษิณา จำนวน 3 รอบแล้วเสด็จเข้าไปหาพระอรหันต์ที่เป็นประธานสงฆ์ ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ในพระพุทธศาสนา ต่อมาได้บรรลุเป็นพระอรหันต์มีชื่อว่า พระมหินตอรหันต์ จึงได้เสด็จไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในดินแดนต่าง ๆ รวมถึงสุวรรณภูมิด้วย

ดังนั้นประเพณีปอยส่างลอง วัดป่าเป้าจึงถือเอาแบบอย่างที่เจ้าชายสิทธัตถะและเจ้าชายมหินตะ ออกบวชมีการแต่งกายเป็นเจ้าชายเต็มยศแล้วทรงขี่ม้ามาเป็นแบบอย่างการแต่งกายของส่างลอง จัดเป็นประเพณีของพี่น้องชาวไทใหญ่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

ความเชื่อของชาวไทใหญ่อีกประการคือ ส่างลองเมื่อบรรพชาแล้วจะต้องอยู่กรรมที่วัดนี้ประมาณ 3 – 7 วันเพื่อให้บิดา มารดานำอาหารมาถวายเป็นการดูแลเณรใหม่ที่ก้าวเข้าสู่ร่มโพธิสมภาร โดยมีข้อห้ามว่าเณรใหม่จะออกนอกบริเวณวัดไม่ได้ในขณะที่อยู่กรรม

ในงานปอยส่างลองวัดป่าเป้าจะเห็นว่า หนุ่มสาวที่มาร่วมงานจะแต่งกายด้วยชุดประจำชาติของชาวไทใหญ่แบบเต็มยศ เพราะถือว่าในปีหนึ่งจะมีงานบุญสำคัญยิ่งใหญ่เช่นนี้เพียงไม่กี่ครั้ง เช่น งานบุญสงกรานต์ งานวันเข้าพรรษา งานปอยส่างลองและงานจองพาราเท่านั้น ที่พวกเขาจะมีโอกาสแต่งกายอวดโฉมกันอย่างเต็มที่

ประเพณีปอยส่างลอง จะจัดขึ้นเพียง 3 วัน โดยวันสุดท้ายเป็นวันบรรพชาสามเณร ในตอนกลางวันจะมีการแห่ส่างลองไปรอบ ๆ พระอุโบสถแล้วขึ้นไปรับศีลในพระวิหารก่อนจะทำการบรรพชาต่อไป หลังจากนั้นประเพณีปอยส่างลองจะถือเป็นอันสิ้นสุด พี่น้องไทใหญ่ที่มาร่วมงานทั้งหลายก็จะทยอยเดินทางกลับยังภูมิลำเนาเพื่อรอโอกาสในปีหน้าฟ้าใหม่ จึงจะได้มาร่วมงานบุญสำคัญเช่นนี้กันอีกครั้ง

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น