เราทุกคนเป็นเจ้าของ ระบบหลักประกันสุขภาพ

กว่า 15 ปีแล้วที่ “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง” ได้กลายเป็นสวัสดิการตามสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนให้ได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่เหมาะสม มีมาตรฐาน มีคุณภาพ โดยรัฐทำหน้าที่รับประกันว่าประชาชนคนไทยกว่า 48.7 ล้านคนสามารถเข้าถึงบริการได้โดยไม่มีอุปสรรคด้านการเงิน

ในแต่ละปีรัฐจะจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน (ที่มีรายได้หลักมาจากการจัดเก็บภาษีทั้งทางตรงและอ้อม) มาใช้ในการบริหารจัดการระบบทั้งหมดตั้งแต่การจ่ายเป็นเงินเดือนของหน่วยบริการ การรักษา การป้องกัน ฟื้นฟู และดูแลสุขภาพของประชาชน เช่น งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี พ.ศ. 2560 ได้รับทั้งสิ้น 1.65 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าเหมาจ่ายรายหัวเฉลี่ยประมาณ 3,109 บาทต่อหัวประชากร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 1.61 เป็นต้น

ประชาชนที่ใช้สิทธิส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยหรือรู้จักกับบัตรทองในแง่ของการเข้าไปใช้บริการด้านการรักษาพยาบาลตั้งแต่เจ็บป่วยทั่วไปไปจนถึงการรักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงหรือโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประชาชนบางกลุ่มอาจเคยเข้าไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบของการพัฒนาโครงการด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับกลุ่มประชาชนในตำบลผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กองทุนฯ) รวมถึงส่วนหนึ่งอาจเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการของกองทุนฯ เพื่อเอื้ออำนวยให้ประชาชนในตำบลเข้ามามีส่วนร่วมในงานสุขภาพมากขึ้น

แต่ภาพการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีต่อระบบบัตรทองในอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การที่มี “ภาคประชาชน” กลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาทำงานด้านระบบหลักประกันสุขภาพในรูปแบบของการเป็น “ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน” (ศูนย์ประสานงานฯ) ที่เป็นการสร้างภาพใหม่ให้สังคมเห็นว่า “งานสุขภาพเป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถทำได้”

นางอัญชลี จอมธัญ ผู้ประสานงานของศูนย์ประสานงานฯ จ.เชียงใหม่ และเป็นคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระดับเขต (อปสข.) เขต 1 เชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่าศูนย์ประสานงานฯ เป็นการทำงานของภาคประชาชนที่ครั้งหนึ่งเคยมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและเสนอกฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ทำให้มีความความเข้าใจในหลักการสำคัญของการมีระบบหลักประกันสุขภาพ และในอีกด้านหนึ่งก็เป็นผู้รับบริการที่มองเห็นปัญหาหลายอย่างที่เป็นช่องว่างในระบบ เช่น ประชาชนยังไม่มีความเข้าใจเรื่องสิทธิ หรือมีมาตรฐานการรักษาบางอย่างที่ประชาชนยังเข้าไม่ถึง จึงอาสาเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพทั้งที่อยู่ในระดับเครือข่าย/พื้นที่และเชิงนโยบาย

นางอัญชลีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บทบาทโดยทั่วไปของศูนย์ประสานงานฯ นั้น จะเน้นการเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่องระบบสุขภาพและการใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ การให้คำปรึกษา การรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบจากการรับบริการด้านการแพทย์ พร้อมทั้งประสานส่งต่อข้อร้องเรียนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนองค์กรชุมชน/ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมด้านการส่งเสริม ป้องกัน ดูแลสุขภาพคนในชุมชน โดยส่งตัวแทนภาคประชาชนในนามของศูนย์ประสานงานฯ เข้าไปเป็นคณะกรรมการกองทุนฯ ในระดับพื้นที่

ปัจจุบันศูนย์ประสานงานฯ มีทั้งหมด 148 ศูนย์ ครอบคลุม 77 จังหวัด ในส่วนของ จ.เชียงใหม่ มีศูนย์ประสานงานฯ 5 ศูนย์ คือ ศูนย์ประสานงานฯ ระดับจังหวัด กับศูนย์ประสานงานฯ ระดับเครือข่าย ประกอบด้วยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ชาติพันธุ์ คนพิการ และแรงงานนอกระบบ

“แม้ศูนย์ประสานงานฯ จะเป็นเพียงองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานกับกลุ่มคนในระดับพื้นที่หรือในระดับเครือข่ายที่คนอื่นอาจมองว่าเป็น “กลุ่มเล็กๆ” แต่เรามีความเชื่อว่าถ้าภาคประชาชนช่วยกันเองจะทำให้ประชาชนกล้าเข้ามาหาเราได้ในฐานะประชาชนเหมือนกัน

และนั่นย่อมทำให้กลุ่มคนเล็กคนน้อยได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูล รับรู้เรื่องสิทธิที่ตนเองพึงจะได้รับ และเข้ามาใช้สิทธิของตนเองตามที่ระบุใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ซึ่งนับเป็นบันไดขั้นแรกที่จะช่วยสร้างแนวร่วมของ “ความเป็นเจ้าของ” และ “เกิดความหวงแหน” ในระบบ ส่งผลให้การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพเป็นไปอย่างมีคุณภาพ มาตรฐาน อีกทั้งยังทำให้ระบบสุขภาพเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง” นางอัญชลีกล่าว

ติดต่อสอบถาม ปรึกษา ร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้บริการในระบบบัตรทองใน จ.เชียงใหม่: ศูนย์ประสานงานฯ จ.เชียงใหม่ 111 หมู่ 5 ต.แม่เหียะ อ.เมือง จงเชียงใหม่ 50100 เบอร์ติดต่อ 089 – 6331638 เฟสบุ๊ค: หลักประกันสุขภาพ คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เชียงใหม่

ข้อมูล…ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.เชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น