721 ปี “เมืองเชียงใหม่”

ตำนานสุวรรณโคมคำและตำนานสิงหนวัติ ต่างก็ระบุไว้สอดค้องกันว่ามีการอพยพของกลุ่มคนจากทางใต้ของจีนลงมาอาศัย ณ บริเวณใกล้แม่น้ำโขง (ฝั่งประเทศลาว) อันเคยเป็นเมืองสุวรรณโคมคำครั้งก่อนพุทธกาล ในตำนานสิงหนวัติได้ย้ำว่า เจ้าสิงหนวัติได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำโขง มีชื่อว่าเมืองนาคพันธุสิงหนวัติ

ภายหลังเมืองแห่งนี้ล่มสลายกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ กลุ่มชนที่เหลือจึงได้แต่งตั้งให้มีผู้ปกครองบ้านเมืองสืบต่อกันเรื่อยมา จนในสมัยพระเจ้าอนุรุธธัมมิราชแห่งอาณาจักรพุกาม ได้ตั้งจุลศักราชขึ้นใหม่ ครั้งนั้นได้ปรากฏหัวหน้ากลุ่มชนชื่อ “ลวจังกราช” ขึ้นที่ดอยตุงหลังจากนั้น ลวจังกราชจึงได้สร้างเมืองหิรัญนครเงินยาง ต่อมากลายเป็นเมืองเชียงแสน

กษัตริย์ลำดับที่ 24 ของราชวงศ์ลวจังกราชคือ พระญามังราย ได้ครองราชสมบัติที่เมืองหิรัญนครเงินยาง เมื่อปี พ.ศ.1802 จากนั้นพระองค์ก็ได้นำทัพออกปราบปรามเมืองต่าง ๆ โดยรอบ พระญามังรายทราบถึงกิตติศัพท์ความรุ่งเรืองของเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) จึงทรงให้อำมายต์คนสนิทชื่อ “ขุนอ้ายฟ้า” ลอบเข้าไปตีสนิทและใช้อุบายทำลายความสามัคคีของชาวเมือง จนสามารถเข้าตีเมืองหริภุญไชยได้สำเร็จในปี พ.ศ.1824

ในช่วงที่ประวัติศาสตร์ของชนเผ่าไทยวนยังเลือนลางอยู่นั้นก็ปรากฏว่ามีการตั้งถิ่นฐานของคนเผ่ามอญในที่ราบระหว่างดอยสุเทพกับดอยขุนตาล ในยุตสมัยของพระนางจามเทวีครองเมืองหริภุญชัยพระองค์ได้อพยพผู้คนจากอาณาจักรละโว้ขึ้นมาและขยายพระราชอำนาจไปสร้างเมืองเขลางค์นคร (ลำปาง) ขึ้นและทั้งสองเมืองนี้ก็ได้รุ่งเรืองขึ้นมาโดยลำดับ

เมื่อพระญามังรายยึดครองเมืองหริภุญไชยได้แล้ว ก็ทรงสร้างเวียงกุมกามขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1837 แล้วจึงยกทัพไปตีรามัญประเทศและตีเมืองพุกาม กวาดต้อนผู้คนและช่างฝีมือมาไว้ในเวียงกุมกามเป็นจำนวนมาก ต่อมาเวียงกุมกามประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้งพระญามังรายจึงได้เชิญพระญาร่วงและพระญางำเมืองผู้เป็นพระสหายมาปรึกษาเพื่อที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่ ในที่สุดก็ได้ชัยภูมิบริเวณที่ราบริมฝั่งแม่น้ำปิงทิศตะวันตกสร้างเมือง นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 เหนือ ปีวอก จุลศักราช 658 ตรงกับวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.1839 เวลาประมาณ 04.30 น.

พระญามังรายประทับอยู่ในเมืองเชียงใหม่ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ เมื่อพระญามังรายสวรรคตในปี พ.ศ.1860 กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายก็ได้ปกครองเมืองเชียงใหม่สืบต่อมา ในช่วงเวลานี้มีกษัตริย์หลายพระองค์ที่มีพระราชกรณียกิจที่สำคัญในช่วงเริ่มแรกคือ พระญากือนา ได้มีการส่งราชฑูตไปอาราธนาพระสุมนเถระมาจากสุโขทัยเพื่อสืบศาสนาในเชียงใหม่ ในสมัยของพระญาติโลกราช ถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของพุทธศาสนาในเชียงใหม่เป็นอย่างมาก มีการทำสังคายนาพระไตรปิฏกขึ้นเป็นครั้งที่ 8 ของโลก ณ วัดเจ็ดยอด

กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ที่มีความสำคัญอีกพระองค์หนึ่งต่อจากพระญาติโลกราชคือ พระเมืองแก้ว ในยุคนี้เป็นยุคที่วรรณกรรมล้านนารุ่งเรืองถึงขีดสุด พระสงฆ์ที่มีความรู้ได้รจนาคัมภีร์เป็นภาษาบาลีไว้หลายเรื่อง เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ ของพระรัตนปัญญาเถระ มังคลัตทีปนี และ เวสสันตรีทีปนี ของพระสิริมังคลาจารย์ เป็นต้น

เมื่อสิ้นสมัยพระเมืองแก้ว เชียงใหม่ก็เสื่อมลง อำนาจในการปกครองบ้านเมืองตกอยู่ในมือของขุนนาง ซึ่งสามารถแต่งตั้งหรือถอดถอนกษัตริย์ได้ โดยเฉพาะในยุคของพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์มังรายนั้น บ้านเมืองระส่ำระส่ายอย่างหนัก พระเจ้าเมกุฏิฯไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นเมื่อพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่ายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2101 ทรงใช้เวลาเพียง 3 วันเท่านั้นก็สามารถยึดเมืองเชียงใหม่ได้

เมื่อพม่ายึดครองเชียงใหม่ได้แล้วก็มิได้เข้ามาปกครองโดยตรง แต่ได้แต่งตั้งให้พระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ เป็นกษัตริย์ปกครองเชียงใหม่ต่อในฐานะเจ้าประเทศราช ซึ่งต้องส่งส่วยและต้นไม้เงินต้นไม้ทองเป็นราชบรรณาการ และต้องเข้าเฝ้ากษัตริย์พม่าตามที่พม่ากำหนด เมื่อพม่าปลดพระเจ้าเมกุฏิฯ ออกจากราชบัลลังก์ ในปี พ.ศ.2107 แล้วได้นำตัวไปพำนักที่เมืองหงสาวดีจนตลอดพระชนมชีพ และได้แต่งตั้งพระนางวิสุทธเทวีเป็นนางพระญาปกครองบ้านเมืองแทน จนกระทั่งพระนางวิสุทธเทวีเสด็จสวรรคต พม่าจึงตั้งเจ้านายและข้าราชการของพม่ามาปกครองเมืองเชียงใหม่

ในช่วงที่พม่าปกครองเมืองเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ.2101 – 2317 เป็นเวลานานถึง 216 ปี พม่าได้แต่งตั้งผู้ครองเมืองเชียงใหม่ถึง 13 คน ช่วงนั้นชาวล้านนาก็ได้พยายามรวบรวมกันเพื่อ “ฟื้นม่าน” หรือปลดแอกจากพม่าหลายครั้ง จนถึงปี พ.ศ.2272 มีเจ้าอาวาสวัดนายางในนครลำปางได้ซ่องสุมผู้คนและเลือกนายพรานผู้หนึ่งชื่อ “หนานทิพช้าง” เป็นนายกองยกพลไปขับไล่พม่าจากลำพูน ซึ่งตั้งกองกำลังอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงออกไปได้ จากนั้นหนานทิพช้างได้รับการอภิเษกเป็นพระญาสุลวฤาชัยสงคราม ได้ครองเมืองลำปาง

ต่อมาพม่าเข้ายึดครองเมืองลำปางได้และตั้งให้เจ้าชายแก้ว บุตรของพระญาสุลวฤาชัยสงคราม เป็นเจ้าฟ้าชายแก้วครองเมืองลำปาง ช่วงเวลานั้นพม่าซึ่งรักษาเมืองต่าง ๆ ในล้านนาก็ได้กดขี่ข่มเหงราษฏรให้เดือดร้อน ประชาชนจึงอพยพหนีภัยและบ้างก็ซ่องสุมเป็นกองโจร เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพมาตีพม่าที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ.2314 พระญาจ่าบ้านแห่งเชียงใหม่จึงได้ชักชวนเจ้ากาวิละ ผู้เป็นบุตรของเจ้าฟ้าชายแก้วแหงลำปางให้เป็นพันธมิตร ต่อมาพระญาจ่าบ้านได้ลงไปติดต่อขอทัพจากพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นมาสนับสนุนกองกำลังชาวพื้นเมืองเชียงใหม่เพื่อขับไล่พม่า หลังจากที่ขับไล่พม่าออกไปจากเชียงใหม่แล้วพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงแต่งตั้งพระญาจ่าบ้านเป็นพระญาวิเชียรปราการ เจ้านครเชียงใหม่คนแรก พร้อมทั้งทรงตั้งเจ้ากาวิละเป็นพระญากาวิละครองนครลำปาง โดยขึ้นกับกรุงธนบุรี

ถึงจะพ่ายแพ้ไปแล้วแต่พม่ายังไม่ละความพยายาม ได้ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่อีกหลายครั้ง จนเชียงใหม่หมดเสบียง พลเมืองก็กระจัดกระจายไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ จนเมืองเชียงใหม่กลายเป็นเมืองร้าง พระญากาวิละจึงได้ยกพลมาอาศัยอยู่ที่เวียงป่าซางนานถึง 20 ปี และต้องไปกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองต่าง ๆ ในล้านนา ได้แก่ เมืองสาด เมืองยอง เมืองวะ เมืองเชียงตุง เมืองสิบสองปันนา ฯลฯ อันเป็นยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง เพื่อมาตั้งถิ่นฐานในเชียงใหม่ เมื่อเห็นว่าพอมีกำลังพลที่จะดูแลเชียงใหม่ได้แล้ว พระญากาวิละจึงยกกำลังพลเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.2339) และได้ฟื้นฟูเชียงใหม่จากสภาพเมืองร้างให้กลายเป็นศูนย์กลางของล้านนาได้ในเวลาต่อมา

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงแต่ตั้งให้พระญากาวิละ เป็นพระเจ้ากาวิละ ครองเมืองเชียงใหม่ องค์ที่ 1 (พ.ศ.2324 – 2358) และมีการสืบราชวงศ์เรียกว่า “วงศ์เจ้าเจ็ดตน” ต่อกันมาดังนี้ พระญาธัมมลังกา เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 2 (พ.ศ.2359 – 2364) พระญาคำฝั้น เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 3 (พ.ศ.2364 – 2367) พระญาพุทธวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 4 (พ.ศ.2367 – 2389) พระเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 5 (พ.ศ.2390 – 2396) พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 6 (พ.ศ.2396 – 2413) พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 7 (พ.ศ.2413 – 2440) พระเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 8 (พ.ศ.2440 – 2452) พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 9 (พ.ศ.2452 – 2482)

รวมระยะเวลาที่เมืองเชียงใหม่มีกษัตริย์ปกครองมายาวนานถึง 721 ปีนับตั้งแต่พระญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้น

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น