เอกลักษณ์การแต่งกายของคนเมืองล้านนา

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนล้านนามีอยู่หลายกลุ่มหลากเชื้อชาติ คนล้านนาและเชียงใหม่จะเรียกตนเองว่า เป็นคนไทหรือคนไต บางคนก็เรียกตนเองว่า “คนเมือง” ซึ่งสันนิษฐานว่าสมัยก่อนดินแดนล้านนาเคยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ครั้นเมื่อมีคนพม่าเข้ามาปะปนอยู่มาก ชาวพื้นเมืองเชียงใหม่เดิมจึงได้คิดคำเรียกตนเองใหม่ว่าเป็น คนเมือง บางท่านก็ว่าคำว่า “คนเมือง” เป็นการประกาศยืนยันว่าตนเองเป็นคนในเมืองที่มีความเจริญทางวัฒนธรรม

หลังจากที่ล้านนาได้กลับฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งหลังการกอบกู้บ้านเมืองของพระเจ้ากาวิละ ในยุคนี้นับว่าเป็นการรวบรวมผู้คนจากต่างถิ่นให้เข้ามาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ อันถือเป็นยุคที่ว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” พระเจ้ากาวิละได้กวาดต้อนผู้คนจากภาคเหนือของพม่าทั้งจากเมืองลื้อ เมืองเขิน เมืองยอง เมืองไตและยังรวมไปถึงบางส่วนของสิบสองปันนาให้เข้ามาอยู่ในเชียงใหม่และลำพูน ในยุตนี้เองทำให้ผู้คนในเชียงใหม่มีหลายเชื้อชาติพันธุ์ คนพื้นเมืองเชียงใหม่เดิมที่มีเชื้อชายมาจากลัวะและไทยวนค่อย ๆ หายไปจากสังคมเมือง แต่ยังมีบางส่วนหลงเหลืออยู่ตามหมู่บ้านในชนบทแถบอำเภอแม่แจ่ม คนเมืองที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่เองกลับไม่ใช่คนพื้นเมืองดั่งเดิม ทว่าเป็นกลุ่มชนที่อพยพเข้ามาอยู่ทีหลังอันได้แก่ ชาวลื้อ ชาวไต ชาวเขิน ชาวยอง เป็นต้น

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475 ประชาชนชาวเชียงใหม่หันมาสนใจวัฒนธรรมจากตะวันตกกันมากขึ้น จะสังเกตได้ว่าช่วงเวลานี้มีการปฏิรูปการเมืองการปกครอง ปฏิรูประบบเศรษฐกิจและสังคมใหม่ ขณะเดียวกันมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามายังเชียงใหม่มากขึ้น ดังนั้นร้านค้าของคนเมืองที่เป็นอาคารไม้สักต่าง ๆ ได้แปรเปลี่ยนเป็นอาคารพานิชรูปทรงแบบฝรั่งมากยิ่งขึ้น การแต่งกายของชาวเชียงใหม่จากที่เคยนุ่งซิ่นก็หันมานิยมสวมใส่กระโปรงและเสื้อผ้ารูปทรงตะวันตก

ทิศทางการเจริญเติบโตของเมืองเชียงใหม่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพียงไม่กี่สิบปีให้หลังมีอาคารพานิชสูงนับสิบชั้นผุดเกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด นักวิชาการหลายท่านได้แสดงความคิดเห็นว่า เชียงใหม่ในอีก 20 ปีก็คงไม่ต่างกับกรุงเทพมหานคร และที่สำคัญอนาคตของเชียงใหม่ที่รุดหน้าจนแทบจะฉุดไม่อยู่นี้กำลังทำให้วัฒนธรรมบางอย่างของเมืองสูญหายไปด้วย นั่นก็คือการดำรงชีวิตและการแต่งกายที่นับวันจะหดหายไปจากความทรงจำ

เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าหลายปีมานี้กระแสแห่งการหวนคืนธรรมชาติและการดำรงอยู่ของคนเมืองในอดีตกำลังได้รับความสนใจจากนักวิชาการและประชาชนเป็นจำนวนมาก มีหลายกลุ่มหลายหน่วยงานออกมาสนับสนุนวัฒนธรรมแบบล้านนาด้วยการพร้อมใจกันแต่งกายย้อนยุคในโอกาสงานเทศกาลต่าง ๆ นัยว่าเพื่อเป็นการอนุรักษ์รักษาประเพณีและวัฒนธรรมของคนเมืองเอาไว้ไม่ให้สูญสลาย

แม้ว่ากระแสการแต่งกายของคนเมืองล้านนาจะกำลังได้รับความนิยมไม่มากนัก แต่การได้เริ่มต้นนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ผมเองนิยมชมชอบเป็นอย่างยิ่งเมื่อมีโอกาสได้พบเห็นผู้หญิงชาวเชียงใหม่แต่งกายด้วยผ้าซิ้น เกล้าผมมวยปักด้วยดอกไม้

การแต่งกายของคนเมืองล้านนาในอดีตที่ผ่านมาสันนิษฐานกันว่า จะนิยมทอผ้าฝ้ายและผ้าไหมขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่มห่มสำหรับถวายพระภิกษุสงฆ์ หรือให้เป็นทานแก่ผู้ยากจน ตลอดจนเป็นสินค้าสำหรับส่งไปขายยังอาณาจักรอื่น ๆ ผ้าที่เชื่อกันว่าทอขึ้นใช้ในสมัยนั้นได้แก่ ผ้าสีจันทน์ขาว, ผ้าสีจันทน์แดง, ผ้าสีดอกจำปา, ผ้าธรรมดาและผ้ากัมพล เป็นต้น

เมื่อชาวล้านนานิยมการสักตามตัวในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น ชาวล้านนามักจะไม่สวมเสื้อ นอกจากในการแต่งตัวเต็มยศ โดยทั่วไปผู้ชายจะสักยันต์ตามตัวนุ่งผ้าต้อย ซึ่งเป็นผ้านุ่งขนาดต่าง ๆ กัน โดยจะม้วนชายผ้าเป็นเกรียวสอดระหว่างขาซึ่งเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมรและโจงกระเบน นิยมใช้ผ้าคล้องไหล่และโพกหัว ส่วนผู้หญิงจะนุ่งซิ่นลายขวางเกือบคล่อมเท้า ท่อนบนมีผ้าผืนหนึ่งไว้คล้องคอ พันหน้าอก หรือ พาดบ่า เกล้าผมมวยกลางศรีษะปักปิ่นไว้ที่ผม

หญิงชาวล้านนาจะนิยมห่มผ้าเฉียงแบบสไบเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” นุ่งผ้าซิ่น ส่วนผู้ชายจะนุ่งผ้าต้อยขนาดยาวแบบโจงกระเบน สวมเสื้อคอจีนติดกระดุม ถ้าเป็นเจ้านายจะสวมเสื้อไหมคล้ายเสื้อครุยทับอีกชั้นหนึ่ง มีผ้าพันเอว 2 ผืน คือ รัดทับผ้าต้อยและเสื้อ

อาณาจักรล้านนามีพัฒนาการด้านการเมืองมาหลายยุคหลายสมัยนับตั้งแต่การสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาเมื่อปี พ.ศ.1839 จนกระทั่งปีพ.ศ.2101 เป็นยุคแห่งราชวงศ์มังราย ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2101 – 2317 อาณาจักรล้านนากลายเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรพุกามแห่งพม่าและเป็นประเทศราชของอาณาจักรไทย ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2435 อาณาจักรล้านนาได้เปลี่ยนมาเป็นมณฑลพายัพ จากพัฒนาการด้านการเมืองนี่เองสามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวล้านนาที่จะนิยมสวมเสื้อผ้าฝ้ายสีขาวตุ่น หรือสีครามคอกลมแขนสั้น แขนสามส่วนติดกระดุมหรือผูกเชือก ผู้ชายนุ่งกางเกงจีนผ้าฝ้ายสีดำเรียกว่า “เตี่ยวสะดอ” ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นแบบโบราณ เวลาไปงานพิธีจะห่มผ้าสไบทับลงบนเสื้ออีกชั้นหนึ่ง

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระบรมราชานุญาติให้เสด็จกลับมาประทับที่เมืองเชียงใหม่ พระองค์ได้ทรงนำรูปแบบการแต่งกายของสตรีในกรุงเทพฯ เข้ามาใช้ในคุ้ม แล้วแพร่หลายอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูง คือจะสวมเสื้อแขนหมูแฮมแบบยุโรปใส่กับผ้าซิ่นไหมลายพม่าต่อตีนจกแบบเชียงตุงหรือเชียงใหม่ เกล้าผมทรงญี่ปุ่นปักด้วยดอกไม้ไหวทองคำ ส่วนผู้ชายจะนิยมสวมเสื้อราชประแตนสวมกางเกงแพรหรือนุ่งโจงกระเบนผ้าไหมทรงหางกระรอก ขณะที่สามัญชนทั้งชายหญิงยังแต่งกายแบบเดิม

คนชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ร่วมกับคนเมืองมาแต่อดีต ปัจจุบันได้ผสมผสานเข้าด้วยกันในทางวัฒนธรรม ทั้งภาษาพูด อาหาร การแต่งกาย ประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ จนดูเหมือนว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จในการผสมผสานทางวัฒนธรรมได้อย่าลงตัวและเหมาะสม อาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมล้านนาได้มีส่วนหล่อหลอมให้กลุ่มคนเหล่านี้ผสมกลมกลืนกันกลายเป็น “ชาวเชียงใหม่” จนถึงปัจจุบัน

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น