วัดสะดือเมือง วัดโบราณเมืองเชียงใหม่

วัดอินทขิล ได้เจริญรุ่งเรืองมีพระสงฆ์จำพรรษาตลอดเรื่อยมา จากเอกสารสำรวจวัดในสมัยครูบาปัญญา เจ้าอาวาสวัดหัวข่วง พ.ศ.2425 ยังปรากฏชื่อวัดอินทขิลอยู่ สันนิษฐานว่าวัดอินทขิลได้กลายเป็นวัดร้างในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ.2416-2439) ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของการรวมศูนย์เข้ากับส่วนกลางให้เป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศ เจ้านายฝ่ายเหนือถูกลดบทบาทลงอย่างมาก ต้องแบ่งเงินภาษีอากรส่งไปส่วนกลาง วัดจึงขาดการทำนุบำรุง พระสงฆ์ก็ขาดการอุปถัมภ์ วัดอินทขิลหรือวัดสะดือเมืองจึงตกอยู่ในสภาพรกร้าง

ในสมัยพญามังรายได้ทรงสร้างวัดสะดือขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมือง หรือเสาอินทขิล ซึ่งตามตำนานพื้นเมืองเหนือกล่าวถึงการบูชาเสาอินทขิลไว้ว่า พระอินทร์ได้ประทานให้ลัวะในสมัยการสร้างเวียงนพบุรี โดยเศรษฐีลัวะ 9 ตระกูล พระฤาษีให้กุมภัณฑ์ 2 ตน เอาเสาอินทขิลใส่สาแหรกหามนำไปประดิษฐานไว้ ณ แท่นกลางเมืองนพบุรี ให้ชาวเมืองของลัวะสักการะบูชาก่อนที่จะกลายเป็นเมืองร้าง

กระทั่งพญามังราย ได้สุบินนิมิตรไล่ตามกวางเผือกจนมาพบชัยภูมิที่ดี จึงมีดำริจะสร้างเมืองขึ้นใหม่ พ.ศ.1835 ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ พญามังรายได้มาสำรวจพื้นที่บริเวณเมืองนพบุรีร้าง ได้พบซากเสาอินทขิลและรูปกุมภัณฑ์ ณ ที่กลางเมืองนั้น จึงมีบัญชาให้เสนาชื่อ สรีกรชัย แต่งเครื่องบรรณาการไปหาพญาลัวะบนดอยสุเทพ พญาลัวะจึงแนะนำว่า หากเจ้าพญามังรายจะสร้างเมืองขึ้นใหม่ให้อยู่เย็นเป็นสุขก็ให้บูชากุมภัณฑ์และเสาอินทขิล เมื่อพญามังรายสร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่แล้ว จึงโปรดให้ยกรูปกุมภัณฑ์และเสาอินทขิลที่ประดิษฐานในบริเวณสะดือเมืองขึ้นมาเพื่อให้คนสักการะกราบไหว้ตามคำแนะนำของพญาลัวะ

ต่อมาจึงได้สร้างวัดขึ้นชื่อว่า วัดอินทขิล แต่เนื่องจากว่าวัดนี้ตั้งอยู่บริเวณสะดือเมือง ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดสะดือเมือง ในตลอดรัชสมัยของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายวัดสะดือเมืองได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ ก่อนที่จะเป็นวัดร้างภายหลังล้านนาถูกพม่าเข้าปกครอง จนถึงปี พ.ศ.2343 พระเจ้ากาวิละ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์แรก ได้ขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาและได้ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ขึ้น ได้ย้ายเสาอินทขิลจากวัดอินทขิลมาประดิษฐานอยู่ ณ วัดเจดีย์หลวง พร้อมกับบูรณะฟื้นฟูวัดอินทขิล โดยได้สร้างวิหารคล่อมฐานเดิม อัญเชิญพระอุ่นเมือง (หลวงพ่อขาว) มาประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหาร

วัดอินทขิล ได้เจริญรุ่งเรืองมีพระสงฆ์จำพรรษาตลอดเรื่อยมา จากเอกสารสำรวจวัดในสมัยครูบาปัญญา เจ้าอาวาสวัดหัวข่วง พ.ศ.2425 ยังปรากฏชื่อวัดอินทขิลอยู่ สันนิษฐานว่าวัดอินทขิลได้กลายเป็นวัดร้างในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ.2416-2439) ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของการรวมศูนย์เข้ากับส่วนกลางให้เป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศ เจ้านายฝ่ายเหนือถูกลดบทบาทลงอย่างมาก ต้องแบ่งเงินภาษีอากรส่งไปส่วนกลาง วัดจึงขาดการทำนุบำรุง พระสงฆ์ก็ขาดการอุปถัมภ์ วัดอินทขิลหรือวัดสะดือเมืองจึงตกอยู่ในสภาพรกร้าง

กระทั่งปัจจุบัน คงเหลือหลักฐานทางโบราณคดีของวัดอินทขิลปรากฏอยู่บริเวณด้านทิศใต้ของหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ (ศาลากลางหลังเก่า) คือองค์พระเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมและวิหารพระเจ้าอุ่นเมือง (หลวงพ่อขาว) วัดอินทขิล หรือ วัดสะดือเมือง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงต้นของประวัติศาสตร์ล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ประกอบด้วยโบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม พงศาวดารโยนกและตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่าบริเวณที่สร้างเจดีย์แปดเหลี่ยมเคยเป็นสถานที่พญามังรายต้องอัสนีบาตสวรรคต ต่อมาพระยาไชยสงคราม ราชโอรสทรงสร้างเจดีย์บรรจุพระอัฐิไว้ จากรูปแบบสถาปัตยกรรมของพระเจดีย์ที่ปรากฏอยู่ภายในบริเวณศาลากลางหลังเก่า เป็นเจดีย์ทรงกลมผสมเรือนธาตุแปดเหลี่ยม องค์ระฆังคว่ำ ซึ่งนิยมสร้างกันมากในสมัยหริภุญไชย ซึ่งพบที่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า เจดีย์ดังกล่าวน่าจะสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันคือราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19
เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม ด้านหลังวิหารพระเจ้าอุ่นเมือง(หลวงพ่อขาว) เป็นเจดีย์ทรงกลมฐานสี่เหลี่ยม มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 – 21 แต่เจดีย์องค์ในที่ถูกห่อหุ้มเป็นเจดีย์แบบสี่เหลี่ยมที่ได้รับอิทธิพลมาจากหริภุญไชยคือ เจดีย์เชียงยันในวัดพระธาตุหริภุญไชย

วิหารพระเจ้าอุ่นเมือง(หลวงพ่อขาว) ตามตำนานเชื่อว่า วัดอินทขิลเป็นสถานที่พญามังรายต้องอัศนีบาตจนสิ้นพระชนม์ สำหรับวิหารของพระเจ้าอุ่นเมืองนั้น คงสร้างขึ้นคล่อมฐานเดิมพร้อม ๆ กับการสร้างเจดีย์องค์นอกที่ห่อหุ้มองค์ในประมาณ พ.ศ.2380 สมัยของพระเจ้ากาวิละ ลักษณะเป็นวิหารโถง ผังเดิมเป็นแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีหลวงพ่อขาวประดิษฐานเป็นพระประธานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น