งานประเพณีใส่ขันดอกอินทขิล

ทุกปีเมื่อล่วงเข้าสู่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนมิถุนายน จังหวัดเชียงใหม่จะมีการจัดงานประเพณีสำคัญที่เกี่ยวกับความเชื่อของคนโบราณนั้นก็คือ “ประเพณีใส่ขันดอกอินทขิล” หรือ “ประเพณีเดือนแปดเข้าเดือนเก้าออก” โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่วัดเจดีย์หลวง ซึ่งเป็นวัดสำคัญเก่าแก่วัดหนึ่งและมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างเมืองเชียงใหม่มาตั้งแต่อดีต

วัดเจดีย์หลวง เป็นวัดที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังรายซึ่งครองราชอาณาจักรล้านนาไทย พระองค์ทรงสร้างพระธาตุเจดีย์หลวงขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1934 หรือเมื่อประมาณ 626 ปีมาแล้ว ด้านหน้าของพระวิหารหลวงเป็นที่ตั้งของ เสาอินทขิล หรือ เสาหลักเมือง ซึ่งแต่เดิมเสานี้อยู่ที่วัดสะดือเมือง (วัดอินทขิล) ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอประชุมติโลกราชข้างศาลากลางหลังเก่า ครั้นต่อมาในสมัยพระเจ้ากาวิละครองเมืองเชียงใหม่ พระองค์โปรดให้ย้ายเสาอินทขิลมาไว้ที่วัดเจดีย์หลวงและได้บูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่พร้อมทั้งสร้างวิหารครอบไว้เมื่อปี พ.ศ.2343

ต่อมาวิหารอินทขิลได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา พอปี พ.ศ.2496 ครูบาขาวปี นักบุญแห่งล้านนาไทยอีกท่านหนึ่งจึงได้สร้างวิหารอินทขิลขึ้นใหม่ในปัจจุบันและท่านยังนำเอาพระพุทธรูปปางขอฝนหรือ พระคันธารราษฏร์ประดิษฐานไว้บนเสาอินทขิลอีกด้วยเพื่อให้ชาวเมืองได้กราบไหว้บูชา

เมื่อครั้งพระเจ้ามังรายทรงเตรียมจะสร้างเมืองเชียงใหม่ ปี พ.ศ.1835 ณ บริเวณป่าละเมาะพงหญ้าคาพื้นที่ตั้งเมืองเชียงใหม่เก่าขณะนี้ “ก็ได้พบทรากเมืองเก่าลักษณะสัณฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ในขณะที่พญามังรายให้เสนาข้าราชบริพารแผ้วถางทรากเวียงเก่านั้น ได้พบโบราณวัตถุคือรูปกุมภัณฑ์ก่ออิฐถือปูน สืบมาจากชนชาวลัวะ เสนาบางพวกจะทำลายบางพวกห้ามไว้แล้วนำเรื่องขึ้นกราบทูลพญามังราย พญามังรายจึงมีบัญชาให้แต่งเครื่องบรรณาการใช้ให้เสนาชื่อ สรีกรชัย ผู้พูดภาษาลัวะได้ไปหาพญาลัวะบนดอยอุฉุจบรรพต พญาลัวะแนะนำว่า เวียงนี้หากจะให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ก็ให้บูชากุมภัณฑ์และเสาอินทขิล”

เมื่อชาวเมืองทำการกราบไหว้บูชาเสาอินทขิลมิได้ขาดและทำการเว่นไหว้พลีกรรมกุมภัณฑ์เป็นประจำ พร้อมทั้งตั้งตนอยู่ในศีลห้า รักษาสัจจะตามที่พระฤาษีสั่งสอน บ้านเมืองก็วัฒนาผาสุกร่มเย็น ทำมาหากินค้าขึ้น ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารให้ผลอุดมสมบูรณ์โรคร้ายภัยพิบัติต่างไม่เบียดเบียน ทำให้มั่งคั่งร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเวินทอง เปรียบเสมือนมีขุมทรัพย์ที่เนืองนองด้วย บ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว อยู่ทุกทิศทุกเขตของบ้านเมืองที่ใคร ๆ (มีปัญญา/ขยัน) เมื่อตั้งมั่นอยู่ในศีลสัตย์ ก็ตั้งสัจจาธิษฐานเอาได้ตามใจปรารถนา แม้ผู้คนจากบ้านอื่นเมืองไกล ที่มุ่งร้ายหมายมารุกรานย่ำยี เมื่อมาถึงเมืองนพบุรีแล้วก็จะสยบสวามิภักดิ์ แปรสภาพเป็นพ่อค้าวาณิชมุ่งทำมาค้าขายหาความร่ำรวยผาสุกรื่นรมย์ไปหมด

แต่เมื่อนานเข้า ผู้คนกลับไม่รักษาคำสัตย์ปฏิบัติตนเป็นคนทุศีล ไม่ทำการเซ่นไหว้ แต่ทำการอุกอาจย่ำยีดูหมิ่นและทิ้งของปฏิกูลบูดเน่าขี้เยี่ยวรดราดกุมภัณฑ์ กุมภัณฑ์จึงนำเสาอินทขิลกลับไปเสีย ต่อมามีผู้เฒ่าลัวะคนหนึ่งที่เคยมากราบไหว้เสาอินทขิลประจำ เมื่อไม่เห็นก็เกิดปริวิตกทุกข์ร้อน กลัวว่าจะเกิดเหตุเภทแก่บ้านเมือง ถึงกับร้องห่มร้องไห้เสียใจ จึงละเพศจากฆราวาส ถือเพศเป็นตาปะขาวรักษาศีลบำเพ็ญภาวนาอยู่ ณ บริเวณที่เคยตั้งเสาอินทขิล ใต้ต้นยางนั้นเป็นเวลานานถึง 3 ปี

ขณะนั้นมีพระเถระรูปหนึ่ง ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ในป่าเขาจนบรรลุฌานสมาบัติ มีญาณหยั่งรู้ความเป็นไปในเหตุการณ์ข้างหน้า ได้มาบอกตาปะขาวว่า บ้านเมืองจะถูกข้าศึกศัตรูย่ำยีถึงกาลวิบัติล่มจม เพราะไม่มีเสาหลักเมืองให้ผู้คนได้ยึดเหนี่ยวกราบไหว้บูชา อันเป็นที่มาของความสมัครสมานสามัคคีของผู้คน ตาปะขาวจึงประชุมปรึกษาหารือกับชาวเมืองและตกลงกันว่า ขอให้พระเถระเป็นสื่อติดต่อขอเสาอินทขิลจากพระอินทร์มาให้อีก

เสาอินทขิลที่พระเจ้ากาวิละย้ายจากวัดสะดือเมืองมาไว้ที่สัดเจดีย์หลวงเมื่อ พ.ศ.2343 นี้คือ เสาที่พระเจ้ามังรายทรงสร้างขึ้นเมื่อครั้งสร้างเมืองเชียงใหม่ปี พ.ศ.1839 แต่ต่อมาได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้ง ผู้คนเชื่อว่า รูปแบบพิธีกรรมและอุดมการณ์เกี่ยวกับเสาอินทขิล ส่วนหนึ่งสืบสานมาจากอาณาจักรลัวะโบราณนี้เอง

แสดงให้เห็นว่า เสาอินทขิลสร้างครั้งแรกทำด้วยหิน สร้างครั้งที่สองทำด้วยอิฐก่อโบกปูน เสาอินทขิลปัจจุบันก็สร้างด้วยอิฐโบกปูนประดับลวดลายติดกระจกสี หลักเมืองนั้นเป็นเหมือนหลักชัยแห่งเมือง การสร้างหลักเมืองขึ้นมาก็เพื่อให้เป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในบ้านเมืองนั้น ๆ ให้เกิดพลังคือความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพลเมือง ภายใต้กรอบศีลธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา หลักเมืองทั่วไปทำด้วยไม้แกะสลักหรือหล่อด้วยโลหะไม่ว่าจะสร้างด้วยวัตถุชนิดใด คุณค่าก็เหมือนกัน จะก่อเกิดคุณประโยชน์ก็ต่อเมื่อรู้จักใช้ให้ถูกต้อง ตามหลักโบราณประเพณี หากงมงายก็ไร้ค่าเปล่าประโยชน์

เสาอินทขิลปัจจุบัน ตั้งอยู่กึ่งกลางวิหารจตุรมุขศิลปะแบบล้านนา เป็นเสาอิฐก่อสอปูนติดกระจกสีรอบเสาวัดได้สูง 2.27.5 เมตร วัดรอบโคนเสาได้ 5.67 เมตร รอบปลายเสา 3.4 เมตร มีพระพุทธรูปทองสำริดปางรำพึง ที่พลตรีเจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) นำมาถวายวัดเจดีย์หลวง เมื่อปี 2514 ประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกเหนือเสาอินทขิลให้ได้สักการบูชาคู่กับหลักเมืองด้วย พระเจ้ามังรายปฐมกษัตริย์ ราชวงศ์มังราย ทรงสร้างเสาอินทขิลเมื่อครั้งสถาปนาราชธานี “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ปี พ.ศ.1839 แรกสร้างตั้งอยู่วัดสะดือเมือง พระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 วงศ์ทิพจักร ให้ย้ายมาไว้ ณ วัดเจดีย์หลวงเมื่อ พ.ศ.2343 พระองค์โปรดฯให้สร้างรูปปั้นกุมภัณฑ์และฤาษี ไว้พร้อมกับเสาอินทขิลนั้นด้วยเพื่อให้ประชาชนชาวเมืองได้สักการะบูชา

เสาอินทขิล เป็นเสาหลักเมืองที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ เป็นที่เคารพสักการะและนับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่รวมวิญญาณของชาวเมืองและบรรพบุรุษในอดีต เป็นปูชนียสถานที่สำคัญ ในสมัยก่อนได้มีการทำพิธีสักการะบูชาเสาอินทขิลเป็นประจำทุกปี การทำพิธีดังกล่าวจะทำในปลายเดือนแปดเหนือข้างแรมแก่ ในวันเริ่มทำพิธีนั้น พวกชาวบ้านชาวเมืองทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มสาวจะพากันนำเอาดอกไม้ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อยใส่พานหรือภาชนะไปทำการสระสรงสักการะ การทำพิธีดังกล่าวนี้มักจะเริ่มในวันแรม 13 ค่ำเดือน 8 เหนือ ไปแล้วเสร็จเอาในวันขึ้น 4 ค่ำเดือน 9 เหนือเป็นประจำทุกปีจึงเรียกประเพณีใส่ขันดอกอินทขิลว่า “ประเพณีเดือนแปดเข้า เดือนเก้าออก”

ทุก ๆ ปีจะมีงานประเพณีบูชาเสาอินทขิล หรือ เทศกาลบูชาเสาหลักเมืองเป็นเวลา 7 วัน สมัยก่อนการจัดงานประเพณีเข้าอินทขิล เป็นหน้าที่ของเจ้าผู้ครองนครและข้าราชบริพาร ปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ร่วมกับวัดเจดีย์หลวง องค์กรเอกชน สถานศึกษา และประชาชนชาวเชียงใหม่ทุกสาขาอาชีพร่วมกันจัดงาน ตลอด 7 วันของงาน ชาวเชียงใหม่ทั้งในเมืองและต่างอำเภอทุกเพศทุกวัย นำข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบน้ำหอม มาบูชาเสาอินทขิลและพระพุทธรูปฝนแสนห่ากันอย่างเนืองแน่น

งานประเพณีบูชาเสาอินทขิลจะขาดพระพุทธรูปสำคัญนี้ไม่ได้ เป็นพระพุทธรูปทองสำริดปางมารวิชัย แบบสิงห์ 2 หน้าตักกว้าง 63 ซม.สูง 87 ซม. (ของวัดช่างแต้ม) เมื่ออัญเชิญประดิษฐานบนรถแห่ไปตามถนนสายต่าง ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ แล้วก็อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในซุ้มบุษบกหน้าพระวิหารหลวง เพื่อให้ชาวเมืองบูชาคู่กับเสาอินทขิล และยามค่ำคืนจะมีการละเล่นพื้นเมืองศิลปะพื้นบ้านสมโภชบูชาตลอดงาน

สีสันและความสนุกสนานของงานประเพณีใส่ขันดอกอินทขิลในอดีตอยู่ที่มีการซอพื้นเมืองและมีช่างฟ้อนหอกฟ้อนดาบสังเวยเทพยดาอารักษ์ผีเสื้อบ้าน ผีเสื้อเมือง หรือ เจนบ้าน เจนเมือง และเมื่อถึงกำหนดพิธีนี้ทุก ๆ ปีพวกช่างซอที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่ทุกคนจะต้องเดินทางมาร่วมกันที่งานบูชาเสาอินทขิลและผลัดกันซอเป็นพลีกรรมถวาย ปัจจุบันไม่ค่อยได้เห็นการแสดงพื้นบ้านเหล่านี้แล้ว

การบูชาอินทขิลของชาวเมืองเชียงใหม่นั้น ได้ประพฤติปฏิบัติกันมาอย่างเป็นระบบระเบียบเรียบร้อยทุกปีมา ด้วยการแต่งกายที่เป็นพื้นเมืองอันเป็นการแสดงออกถึงวัฒนธรรมของชาวเชียงใหม่และเป็นความงามสง่า ในส่วนของวัตถุสิ่งของที่นำมาบูชาก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของความสูงค่าที่เกิดจากแรงศรัทธาคารวะของชาวเชียงใหม่

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น