เดินหน้าส่งเสริม เกษตรพันธสัญญา

กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงด้านการตลาด และสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 เพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 วัน คือตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2560 เป็นต้นไป โดยมีเจตนารมณ์เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม รวมทั้งกำหนดกลไกในการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ทั้งนี้ “ระบบเกษตรพันธสัญญา” หมายถึง ระบบการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรที่เกิดขึ้นจากสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกับบุคคลธรรมดา ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่สิบรายขึ้นไป หรือกับองค์กรทางการเกษตรที่มีกฎหมายรองรับ โดยผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตด้วย โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ และให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ สป.กษ. ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลและสภาพปัญหาเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมในระบบเกษตรพันธสัญญาเสนอต่อคณะกรรมการ จัดให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่ป็นธรรม พิจารณาปัญหาเกี่ยวกับระบบเกษตรพันธสัญญาและนำเสนอคณะกรรมการฯ และเผยแพร่ ให้ความรู้แก่เกษตรกรในการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา
นางสาวชุติมา กล่าวต่อว่า ระบบเกษตรพันธสัญญา ประกอบด้วย 1.ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร ต้องจดแจ้งการประกอบธุรกิจหรือการเลิกประกอบธุรกิจต่อ สป.กษ. และให้ สป.กษ. จัดทำทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรและเปิดเผยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ 2.การทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรต้องทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนและร่างสัญญาให้เกษตรกรทราบเป็นการล่วงหน้าก่อนทำสัญญา และต้องส่งสำเนาเอกสารให้ สป.กษ. เพื่อใช้เป็นเอกสารในการตรวจสอบ ซึ่งสัญญาดังกล่าวต้องจัดทำเป็นหนังสือ ใช้ข้อความภาษาไทยที่เข้าใจง่าย รวมทั้งมีการกำหนดรายละเอียดที่อย่างน้อยต้องมีเนื้อหาสาระในสัญญาเพื่อทำให้คู่สัญญาได้รับทราบข้อมูลสำคัญที่จำเป็น และมีข้อมูลในสัญญาที่สมบูรณ์ในทางปฏิบัติ รวมทั้งให้อำนาจคณะกรรมการในการประกาศกำหนดแบบของสัญญา ในกรณีที่การทำสัญญาอาจมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกำหนดให้ข้อตกลงหรือเงื่อนไขที่เข้าข่ายมีสาระในลักษณะเลือกปฏิบัติ หรือการให้ใช้สิทธิตามกฎหมายโดยไม่สุจริตและไม่เป็นธรรม มีผลทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าสมควร ให้ไม่มีผลใช้บังคับ 3.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนจึงจะมีสิทธินำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการหรือนำคดีไปสู่ศาล โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำจังหวัด ทั้งนี้ จะมีมาตรการคุ้มครองระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยห้ามมิให้คู่สัญญาชะลอ ระงับ หรือยุติการปฏิบัติตามสัญญาจนเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหาย กระทำการใด ๆ ให้คู่สัญญาอีกฝ่ายได้รับความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมในกรณีที่สัญญาสิ้นสุดลงแล้ว หรือทำข้อตกลงเพิ่มเติมหรือแก้ไขสัญญาเพื่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับความเสี่ยงภัย รับภาระ หรือมีหน้าที่เพิ่มเติมโดยไม่มีค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม 4) บทกำหนดโทษปรับในกรณีต่าง ๆ ได้แก่ กรณีผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรไม่แจ้งการประกอบธุรกิจ ไม่แจ้งการยกเลิกการประกอบธุรกิจ ไม่จัดทำเอกสารและร่างสัญญาให้เกษตรกรทราบก่อนการทำสัญญา หรือไม่ส่งสำเนาเอกสารให้ สป.กษ. กรณีคู่สัญญาชะลอ ระงับ หรือยุติการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจนเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายในระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่งในกรณีที่สัญญาสิ้นสุดลงแล้วในระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรดำเนินการใด ๆ เพื่อให้การทำสัญญาไม่เข้าลักษณะของสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายในกรณีที่การผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรที่ใช้ปัจจัยการผลิตหรือกระบวนการผลิตภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกำหนด ส่งผลให้เกิดผลกระทบกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในพระราชบัญญัติฯ จำนวน 16 เรื่อง คาดว่าจะสามารถจัดทำให้แล้วเสร็จได้ภายในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ กฎหมายลำดับรองที่ต้องเร่งดำเนินการประกาศใช้ทันที เมื่อพระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับ เพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติในด้านต่าง ๆ ได้แก่ หลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการประกอบธุรกิจและการเลิกการประกอบธุรกิจ หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดส่งและเก็บรักษาเอกสารสำหรับการชี้ชวนเกษตร และหลักเกณฑ์และวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและการจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความ รวมทั้งกำหนดแนวทางจัดทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติฯ ประกอบด้วย การจัดทำเว็บไซต์ และการจัดทำฐานข้อมูล ตลอดจนเตรียมการความพร้อมในส่วนงานสนับสนุน ได้แก่ โครงสร้าง อัตรากำลัง แผนให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ข่าวสารแก่เจ้าหน้าที่ เกษตรกร และผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร
ประโยชน์ของการมีพระราชบัญญัติดังกล่าว 1. ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาให้เป็นธรรมอย่างยั่งยืน มีกฎหมายรองรับและคุ้มครองการทำสัญญา สร้างความร่วมมือและพัฒนาศักยภาพในการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร ระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเกษตรกรจะได้รับความคุ้มครองในการทำสัญญา กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงด้านการตลาด มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐานไปยังเกษตรกร ส่งผลต่อการสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้ของเกษตรกร ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรสามารถประกอบธุรกิจได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ทำให้สร้างความเข้มแข็งในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศได้อย่างยั่งยืน 2.คุ้มครองคู่สัญญาในการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา ป้องกันปัญหาการโฆษณาชวนเชื่อและชี้ชวนเกินจริง ข้อสัญญามีความชัดเจน โปร่งใส และคุ้มครองคู่สัญญาในกรณีป้องกันไม่ให้เกิดสัญญาที่มีสาระในลักษณะเลือกปฏิบัติ หรือการให้ใช้สิทธิตามกฎหมายโดยไม่สุจริตและไม่เป็นธรรมทำให้คู่สัญญา ทำให้คู่สัญญารับภาระเกินกว่าสมควร และ 3.ลดความขัดแย้งที่เกิดจากการทำสัญญาและลดการนำคดีขึ้นสู่ศาล โดยมีกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทำให้การแก้ปัญหามีความรวดเร็วและยืดหยุ่นกว่ากระบวนการระงับข้อพิพาทในศาล รวมทั้งมีมาตรการคุ้มครองคู่สัญญาระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท นางสาวชุติมา กล่าวส่งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น