สดร. มอบกล้องโทรทรรศน์พร้อมสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2560

สดร. มอบกล้องโทรทรรศน์พร้อมสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2560

เมื่อวันที่10 มิถุนายน 2560 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดพิธีมอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ โครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 77 จังหวัดฯ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2560 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ปทุมธานี เผยปีนี้แจกครบตามเป้า 100 โรงเรียน ดำเนินการมา 3 ปี มอบไปแล้วกว่า 260 แห่งใน 72 จังหวัด หวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่โรงเรียนและชุมชนรอบข้าง สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ดึงร่วมเป็นเครือข่ายจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลก วันที่ 15 มิถุนายนนี้

รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า สดร. ดำเนินโครงการกระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ “77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” มาเป็นปีที่ 3 ตั้งแต่ปี 2558-2560 ได้คัดเลือกโรงเรียนเข้ารับมอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ พร้อมจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้กล้องโทรทรรศน์ รวมแล้วกว่า 260 โรงเรียน ใน 72 จังหวัด ที่ผ่านมาโรงเรียนในโครงการฯ ได้นำกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ต่าง ๆ ที่ได้รับมอบไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งการจัดการเรียนการสอนดาราศาสตร์ในโรงเรียน การทำโครงงานวิจัยดาราศาสตร์ การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน สนองนโยบายรัฐ “ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้” กล้องโทรทรรศน์ที่มอบให้แก่โรงเรียนจะเป็นอาวุธสำคัญที่จะช่วยจุดประกายความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก ๆ ทั่วประเทศได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง ยังขยายผลการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์สู่ชุมชนใกล้เคียง โดยเฉพาะช่วงที่เกิดปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ ทุกโรงเรียนในโครงการฯ จะร่วมเป็นเครือข่ายจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ร่วมกับ สดร. ช่วยส่งเสริม กระตุ้นการเรียรู้วิทยาศาสตร์ผ่านดาราศาสตร์ สร้างความตระหนักและความตื่นตัวด้านดาราศาสตร์ให้กระจายไปทุกพื้นที่ของประเทศ

นายสัญญา ยุบลชิต ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอร่องคำ จังหวัดสุโขทัย ตัวแทนครูที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า ที่ศูนย์ กศน. ร่องคำ เรามีการจัดค่ายวิทยาศาสตร์เป็นประจำทุกปี ซึ่งมีฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องดาราศาสตร์ นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมค่ายพักแรมลูกเสือกศน. ช่วงกลางคืนก็จะมีการสอนดูดาว กล้องโทรทรรศน์ สื่อการเรียนรู้ และองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าอบรมในครั้งนี้จะนำไปในการจัดกิจกรรมดังกล่าว รวมถึงจัดกิจกรรมดาราศาสตร์แก่ชุมชน ดึงชาวบ้านให้มาเข้าร่วมเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทางดาราศาสตร์เพื่อผนวกเข้ากับภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ประชาชนที่อยูในถิ่นที่ห่างไกลหรือขาดแคลนอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะดาราศาสตร์ ก็จะได้รับและนำไปใช้จัดกิจกรรมต่าง ๆ โครงการนี้ได้สนับสนุนทั้งอุปกรณ์และองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์ ซึ่งทางเราก็จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายบัญชา แซ่หมื่อ ครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบำรุงที่ 87 อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า เคยเข้าร่วมอบรมนักดาราศาสตร์สมัครเล่นกับสดร. ประมาณ 2 ปีที่แล้ว และยังเคยสมัครเป็นอาสาสมัครพี่เลี้ยงในค่ายเยาวชนคนดูดาวและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของ สดร. ด้วย จึงติดตามข้อมูลข่าวสารกิจกรรมและดาราศาสตร์จากเฟสบุคสถาบันวิจัยดาราศาสตร์อยู่ตลอด พอเห็นโครงการฯ นี้จึงสนใจและส่งใบสมัครเข้ามา ด้วยหวังว่านักเรียนจะมีโอกาสดูดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์ โรงเรียนเราอยู่ห่างไกล กันดาล และขาดแคลนอุปกรณ์ จึงรู้สึกดีใจที่โรงเรียนได้รับคัดเลือกเข้ารับมอบกล้อโทรทรรศน์ในครั้งนี้และภูมิใจที่ได้ช่วยให้เด็ก ๆ มีโอกาสดูดาวของจริง จะนำกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ที่ได้รับไปจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียน สังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ดาวเคราะห์ต่าง ๆ และจะเชิญชวนชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงมาร่วมด้วย ชาวบ้านจะได้รู้ว่าดาวบนท้องฟ้าที่เห็นกันทุกคืนนั้นของจริงเป็นอย่างไร โดยเฉพาะดาวเสาร์ โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ขอบคุณ สดร. ที่ช่วยให้โรงเรียนหรือชุมชนที่ด้อยโอกาส โดยเฉพาะเด็กชาวเขาได้มีโอกาสดูดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์

ด้านนางวรรณพร วิทธวัช ครูแกนนำดาราศาสตร์โรงเรียนอุดมดรุณี อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า เคยผ่านการอบรมครูขั้นต้นและขั้นกลางกับสดร. จึงทราบข่าวเกี่ยวกับโครงการนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์แก่โรงเรียน โรงเรียนเรามีนักเรียนค่อนข้างมากประกอบกับอุปกรณ์ที่มีอยู่ก็เริ่มชำรุดจึงส่งใบสมัครเข้ามา ดีใจที่ได้รับคัดเลือกหวังจะใช้กล้องโทรทรรศน์และสื่อดาราศาสตร์ที่ได้รับสำหรับจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียน ให้นักเรียนได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อย่างทั่วถึง เรามีชุมนุมดาราศาสตร์ในโรงเรียนด้วยซึ่งเด็กมีความสนใจมาก ไม่เพียงเท่านั้น โรงเรียนเราเป็นศูนย์กลางชุมชน ตั้งอยู่กลางเมืองและมีเครือข่ายโรงเรียนรอบข้างทั้งระดับประถมและมัธยมอีกเป็นจำนวนมาก จึงเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้ดาราศาสตร์แก่โรงเรียนรอบข้างได้ นอกจากนี้ จะนำไปจัดกิจกรรมดาราศาสตร์บริการชุมชนด้วย ที่ผ่านมาทางโรงเรียนจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ Super Full Moon ร่วมกับอุทยานแห่งชาติประวัติศาสตร์สุโขทัยและตั้งกล้องโทรทรรศน์บริการประชาชนบริเวณถนนคนเดินภายในจังหวัด เป็นต้น

สำหรับโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ “77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” มอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ พร้อมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้กล้องโทรทรรศน์ ประจำปี 2560 สดร. ตั้งเป้าคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 100 โรงเรียน จัดพิธีมอบฯ ครั้งที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 12-14 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ปทุมธานี จำนวน 50 โรงเรียน ใน 28 จังหวัด ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายน 2560 จำนวน 50 โรงเรียน ใน 25 จังหวัด ผลการดำเนินงานปี 2558-2560 รวมทั้งสิ้น 260 โรงเรียน ใน 72 จังหวัดและจะเดินหน้าให้ครบ 77 จังหวัด ภายในปี 2561 สำหรับในปีต่อไป โรงเรียนที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง www.narit.or.th หรือ www.facebook.com/NARITpage

ในวันที่ 15 มิถุนายนที่จะถึงนี้ จะเกิด “ปรากฏการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลก” ทั้ง 260 โรงเรียนจากทั่วประเทศที่ได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์ในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ฯ จะร่วมเป็นเครือข่ายจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลก ตั้งกล้องส่องวงแหวนดาวเสาร์และดวงจันทร์ไททัน (ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์) รวมถึงวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ ที่น่าสนใจในคืนดังกล่าว ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00-22.00 น. ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ตรวจสอบรายชื่อโรงเรียนได้ที่ www.facebook.com/NARITpage รศ.บุญรักษา กล่าวปิดท้าย
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-225569 ต่อ 210 , 081-8854353 โทรสาร 053-225524

ร่วมแสดงความคิดเห็น