เตือนดินถล่ม-ฝนทิ้งช่วง

ปภ.เชียงใหม่ เตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติ พร้อมติดตามและเฝ้าระวัง เพื่อสามารถเตือนภัยล่วงหน้าพื้นที่เสี่ยงเกิดดินสไลด์ ให้เพิ่มความระวังดินตามภูเขาที่เริ่มอุ้มน้ำไว้สูง อาจจะเป็นอันตรายต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ ขณะที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ หวั่นภาวะฝนทิ้งช่วงต้นเดือน ก.ค. เตือนเกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำ และสำรองน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ทางการเกษตรด้วย

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2560 ที่ ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ นายธนา นวลปลอด หน.กลุ่มยุทธศาสตร์และการจัดการ สนง.ปภ.จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เตือนรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในในช่วงหน้าฝน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ประชาชนได้สร้างที่อยู่อาศัยตามเชิงเขา และใกล้ทางน้ำไหลผ่าน ความเสี่ยงในการประสบอันตราย จากเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ให้เพิ่มความระวังดินตามภูเขาที่เริ่มอุ้มน้ำไว้สูง อาจจะเป็นอันตรายต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวได้

จึงได้มีคำสั่งจัดตั้ง ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ซึ่งปัจจุบันได้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ประชาชนเริ่มได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย และยังมีแนวโน้มเกิดฝนตกหนักในอีกหลายพื้นที่ ดังนั้น เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงดำเนินการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้ศูนย์ฯ ดังกล่าวเป็นศูนย์สั่งการหลัก สำหรับการระดมสรรพกำลัง และอำนวยการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งฝ่ายพลเรือน ฝ่ายทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อบูรณาการในการปฏิบัติงาน

ซึ่งหากเกิดเหตุทาง อปท.และเทศบาลในพื้นที่นั้นๆ จะต้องเข้าไปช่วยเหลือเป็นอันดับแรก หากท้องถิ่นรับมือไม่ไหวถึงจะเป็นทางอำเภอและต่อมาถึงระดับจังหวัด โดยทางจังหวัดมีศูนย์เตือนภัยล่วงหน้ากว่า 200 สถานี ที่จะสามารถเตือนภัยล่วงหน้า โดยประเมินสถานการณ์จากปริมาณน้ำฝน เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชม. พร้อมกับมิสเตอร์เตือนภัย 5,000 กว่าคน เพื่อให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบปัญหาจากการเกิดอุทกภัยอยู่บ่อยครั้ง ให้เตรียมความพร้อมและระมัดระวังตลอดช่วงฤดูฝน เช่น การระวังอันตรายจากไฟฟ้ารั่ว การป้องกันตนเองจากการถูกฟ้าผ่า และโรคระบาดในฤดูฝน เป็นต้น

ทั้งนี้ ทาง จ.เชียงใหม่ ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการ หน่วยงานทหาร อปท. รวมทั้งภาคเอกชน และภาคประชาชน ดำเนินการเปิดเส้นทางและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำ และฟื้นคืนความสมบูรณ์ให้กับแม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะวัชพืชและขยะต่างๆ ซึ่งขอความร่วมมือประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาในการดูแลรักษา ไม่ทิ้งขยะสิ่งกีดขวางในพื้นที่ชุมชน ทำให้ช่วยระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น โดยผักตบชวาและวัชพืชที่ถูกกำจัด จะนำไปแปรสภาพเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ในการเกษตรต่อไป

ทางด้าน นายวรพจน์ คุณาวิวัฒนางกูร นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าวว่า คาดหมายลักษณะอากาศทั่วไป โดยมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยเกือบตลอดเดือน และจะมีกำลังปานกลางเป็นส่วนใหญ่ และมีโอกาสที่ประเทศไทย จะได้รับอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อนในทะเลจีนใต้ได้ โดยคาดว่าในเดือนนี้ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่ จะใกล้เคียงกับค่าปกติ มีฝนฟ้าคะนอง 20-30 % และจะเพิ่มมากขึ้นในวันที่ 17 – 19 มิ.ย. จะเพิ่มปริมาณฝนเป็นปกติที่จะตกต่อเนื่องทุกวัน ปริมาณและการกระจายของฝนส่วนใหญ่ จะอยู่ในระยะครึ่งหลังของเดือนไปจนถึงต้นเดือน ก.ค. มีฝนฟ้าคะนอง 40-60 % จะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากบางพื้นที่

หลังจากนั้นอาจจะมีภาวะฝนทิ้งช่วง การกระจายของฝนลดลง ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกร ควรวางแผนการใช้น้ำ และสำรองน้ำไว้ใช้ในพื้นที่การเกษตรด้วย อาจก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยพื้นที่ที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน แม้ปริมาณน้ำในเขื่อนจะมีไม่มากนัก แต่ยังมีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยนำในเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีเพียง 16 % และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล 33 % ควรจะคำนึงถึงบทเรียนจากภัยแล้งที่เราได้เผชิญจากในปีที่ผ่านมา ดังนั้นในการใช้น้ำทุกกิจกรรม ควรที่จะคำนึงให้รอบคอบในการจะใช้แต่ละกิจกรรมด้วย หรือท่าจะให้ดีเป็นไปได้นั้น อยากจะให้ทุกท่านใช้น้ำกันอย่างประหยัด เพื่อให้น้ำที่เก็บรักษาไว้ในตอนนี้ เหลือพอที่จะใช้ในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น