ผุดโครงการฝากน้ำป้องกันภัยแล้ง ชลประทานคาดแก้ปัญหา น้ำท่วม-น้ำแล้ง เชียงใหม่ได้

กรมชลประทานนำร่องบูรณาการ “โครงการฝากน้ำ Two in one” มั่นใจช่วยสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำ แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เผยไม่กระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม เพราะเป็นการนำปริมาณน้ำส่วนเกินความต้องการ ในช่วงฤดูน้ำหลากไปฝากเก็บไว้

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์  รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 1  โครงการชลประทานจ.เชียงใหม่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง บูรณาการร่วมกันกับ มทบ.33 กองพันสัตว์ต่าง กองพลทหารราบที่ 7 กองรบพิเศษที่ 5 และ สำนักงานพัฒนาพิงนคร (องค์กรมหาชน) จัดทำ “โครงการฝากน้ำ ป้องกันภัยแล้ง” ขึ้นมาเป็นโครงการนำร่อง เพื่อเป็นการสำรองน้ำไว้ใช้ในยามวิกฤต ช่วงที่แหล่งน้ำสำคัญๆที่มีอยู่ขาดแคลนน้ำ โดยเป็นการนำน้ำจากลำน้ำแม่แตง ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีการส่งน้ำเข้าแปลงเพาะปลูก ไปเก็บไว้ในแหล่งกักเก็บน้ำที่จัดเตรียมไว้ เพื่อเป็นหลักประกันในเรื่องความมั่นคงทางน้ำ ให้แก่คนเชียงใหม่ว่า จะมีน้ำเพียงพอกับความต้องการอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบันสถานการณ์ภัยแล้งของ จ.เชียงใหม่ มีแนวโน้มจะมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย เป็นเหตุให้น้ำในลำน้ำแม่แตงมีปริมาณน้ำน้อย ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำของคนเชียงใหม่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ น้ำเพื่อการท่องเที่ยว และอื่นๆ

สำหรับหลักการบริหารจัดการน้ำของ “โครงการฝากน้ำ ป้องกันภัยแล้ง” นั้น จะเริ่มจากการสูบน้ำจากคลองน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาที่รับน้ำมาจากฝายแม่แตง เข้าไปเก็บกักในแหล่งน้ำ 5 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยหยวก สามารถเก็บกักได้ 300,000 ลบ.ม.,สระเก็บน้ำในศุนย์ประชุมนานาชาติ 6 แห่ง เก็บกักได้ 532,000  ลบ.ม. ,สระเก็บน้ำในกองพันสัตว์ต่าง 1 แห่ง เก็บกักได้ 120,000 ลบ.ม. ,สระเก็บน้ำกองพลทหารราบที่ 7 จำนวน 3 แห่ง เก็บกักได้  119, 000 ลบ.ม. และสระเก็บน้ำพลรบพิเศษที่ 5 อีก 1 แห่ง เก็บกักได้  20,000 ลบ.ม. รวมทั้งหมดประมาณ 1.1 ล้าน ลบ.ม. โดยจะทำการสูบในช่วงฤดูฝน หรือช่วงที่เกษตรกรกำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี

ซึ่งปริมาณน้ำในช่วงนั้น จะมีปริมาณมากกว่าความต้องการ จึงไม่มีผลกระทบใดๆต่อการทำการเกษตร จากนั้นก็จะนำมาใช้ในช่วงฤดูแล้ง ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ

นอกจากนี้ในอนาคตหากต้องการกักเก็บน้ำในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ยังสามารถที่ทำการขุดสระน้ำหรือพัฒนาเป็นพื้นที่แก้มลิง บริเวณสองข้างคลองส่งน้ำสายใหญ่ ที่เป็นพื้นที่ในเขตทหาร เพื่อเก็บน้ำเพิ่มเติมช่วงที่เกิดน้ำหลากได้อีกด้วย และ ถ้าหาก “โครงการฝากน้ำ ป้องกันภัยแล้ง” ซึ่งเป็นโครงการนำร่องดังกล่าวประสบผลสำเร็จ กรมชลประทานจะนำไปขยายผลไปดำเนินโครงการในพื้นที่อื่นๆ ที่มีลักษณะปัญหาใกล้เคียงกัน

“โครงการฝากน้ำ ป้องกันภัยแล้ง มีลักษณะการดำเนินการใกล้เคียงกับ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ที่กรมชลประทานกำลังดำเนินการก่อสร้างในขณะนี้  ซึ่งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก จะเจาะอุโมงค์ผันน้ำจากลำน้ำแม่แตงมาเก็บ หรือฝากไว้ที่อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชลในช่วงฤดูน้ำหลาก และจากอ่างฯแม่งัดสมบูรณ์ชลไปยังอ่างฯแม่กวงอุดมธารา

รวมปริมาณน้ำที่จะผันทั้งสิ้น 160 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และเมื่อถึงช่วงฤดูแล้งก็จะส่งน้ำที่ฝากไว้ในอ่างแม่งัดสมบูรณ์ชลย้อนกลับมาช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำแม่แตง อีกประมาณ 40 ล้าน ลบ.ม./ปี เป็นการสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับ จ.เชียงใหม่” ดร.สมเกียรติกล่าว

รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม จ.เชียงใหม่ ไม่ไช่ประสบเฉพาะปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งเท่านั้น  ในช่วงฤดูฝนจะประสบปัญหาน้ำท่วมด้วย ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากฝนที่ตกในพื้นที่เมือง และมีน้ำหลากมาจากดอยสุเทพ-ปุย ไหลเข้ามาท่วมในเมืองเชียงใหม่  เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากในทุกๆปี

กรมชลประทานจึงมีแผนที่จะทำการปรับปรุงคลองแม่แตง  ให้สามารถดักน้ำที่หลากจากดอยสุเทพ-ปุย ที่อยู่ฝั่งตะวันตก เข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่แทนการไหลเข้าเมืองเชียงใหม่  พร้อมทั้งทำการปรับปรุงอาคารรับน้ำจากห้วยช่างเคี่ยนและห้วยแก้ว ลงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา ก่อสร้างกำแพงริมคลองช่างเคี่ยนทั้งสองฝั่ง น้ำไม่ล้นตลิ่ง โดยระดับสันกำแพงกำหนดให้ใกล้เคียงกับ ระดับดินของคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา หรือสูงกว่าเล็กน้อย เพื่อบังคับน้ำในห้วยช่างเคี่ยน และห้วยแก้วให้ระบายลงคลองส่งน้ำสายใหญ่ ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก  ตลอดจนปรับปรุงขยายอาคารรับน้ำลงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา ของห้วยช่างเคี่ยนให้สามารถรองรับน้ำหลากได้ในปริมาณ 25.62  ลบ.ม./วินาที และห้วยแก้วให้รองรับน้ำหลากได้  26.51 ลบ.ม./วินาที

ร่วมแสดงความคิดเห็น