เกษตรเดินเครื่องโครงการ “9101 ตามรอยเท้าพ่อ”

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯได้เตรียมดำเนินงาน “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” โดยขับเคลื่อนโครงการผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ และเครือข่าย 8,219 แห่ง ทั่วประเทศ

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


สำหรับความหมายของโครงการ9101 นั้น 9 หมายถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ(ร.9), 10 หมายถึง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร(ร.10) และ 1 หมายถึงปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน ได้นำเสนอต่อครม.เพื่อขออนุมัติ งบป 22,000 ล้านบาท เป็นงบกลางปี เพื่อสนับสนุนโครงการละ 2.5 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนิน ถึง 30 กันยายนนี้
ทั้งนี้ โครงการ 9101 ที่แต่ละชุมชนเสนอ จะต้องเป็นกิจกรรมในลักษณะลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ภายใต้ 8 กลุ่ม โครงการ ประกอบด้วย ด้านการผลิตพืช ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ด้านการจัดการศัตรูพืช ด้านฟาร์มชุมชน ด้านการผลิตอาหาร และการแปรรูปการผลิต ด้านปศุสัตว์ (ขนาดเล็ก) ด้านประมง และด้านอื่นๆ เช่น การปรับปรุงบำรุงดิน เป็นต้น และจะต้องเป็นการจ้างแรงงาน ร้อยละ 50 ในพื้นที่โดยชุมชนคัดเลือกและรับรองด้วยกันเอง

ด้าน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมฯได้ชี้แจงเจ้าหน้าที่และ ประธานศพก. กว่า 882 คน ทั่วประเทศ เพื่อให้รับทราบและเข้าใจวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยชุมชนที่จะขอดำเนินกิจกรรมจะต้องรวมตัวไม่น้อยกว่า 10 คน/กิจกรรม/โครงการ และต้องมีการจ้างแรงงานเกษตรกรในชุมชนไม่น้อยกว่า 50% ของวงเงินงบประมาณ ยกเว้นกรณีจำเป็นอาจให้มีการจ้างได้ 30% แต่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโครงการระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม ทั้งนี้จะต้องเบิกจ่ายงบไม่น้อยกว่าร้อยละ 50% ภายในกรกฎาคม และที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจะต้องเบิกจ่ายภายในสิงหาคมนี้

นายปริญญา เพ็งสมบัติ โฆษกกระทรวงเกษตรฯระบุว่า โครงการนี้ ปลัดฯธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้ประชุมชี้แจง พร้อมกำชับแนวทางที่คณะผู้บริหารเน้นย้ำ และทางกรมส่งเสริมการเกษตรต้องติดตามการดำเนินงานแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด หากพบปัญหาจะระดมทีมเข้าไปช่วยเหลือ ติดตามตรวจสอบร่วมกับชุดจากสำนักงานโครงการ 9101ฯ ” มั่นใจว่า กิจกรรม โครงการ ที่เสนอเข้ามาจะเกิดประโยชน์ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ด้วยทุนที่รัฐฯจัดสรรให้ มีการใช้งบประมาณอย่างโปร่งใส และมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายโครงการ

อย่างไรก็ตามศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอป่าซาง จ.ลำพูน (ศพก.อ.ป่าซาง ) ชี้แจงว่า กิจกรรม โครงการที่จัดเตรียมไว้นั้นคงมีการหารือ ประชาคมชาวบ้าน ซึ่งต้นทุนที่ได้รับการรัฐฯ และแนวทางที่ประเมินน่าจะเป็นการแปรรูปลำไย สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ภายในสัปดาห์นี้คงได้ข้อสรุป

ร่วมแสดงความคิดเห็น