เที่ยว “เมืองสามหมอก”ชมความงามของวัดไตในแม่ฮ่องสอน…

วิถีชีวิตของผู้คน วัฒนธรรมประเพณี ธรรมชาติอันแปลกตา ไม่ว่าจะเป็นโถงถ้ำอันตระการตา น้ำพุร้อน ทะเลหมอก ขุนเขาอันสลับซับซ้อนและสายธารน้อยใหญ่ ได้กลายเป็นเสน่ห์สำคัญที่ทำให้แม่ฮ่องสอน เป็นศูนย์รวมของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ขึ้นชื่อที่สุดของประเทศวิถีชีวิตของผู้คน วัฒนธรรมประเพณี ธรรมชาติอันแปลกตา ไม่ว่าจะเป็นโถงถ้ำอันตระการตา น้ำพุร้อน ทะเลหมอก ขุนเขาอันสลับซับซ้อนและสายธารน้อยใหญ่ ได้กลายเป็นเสน่ห์สำคัญที่ทำให้แม่ฮ่องสอน เป็นศูนย์รวมของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ขึ้นชื่อที่สุดของประเทศ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ได้แต่ปรารถนาที่จะเดินทางมาเยี่ยมเยือนและใช้ช่วงชีวิตแสนสุขในดินแดนแห่งนี้มากยิ่งขึ้น นอกจากธรรมชาติที่สวยงามของแม่ฮ่องสอนที่ดึงดูดคนทั่วสารทิศให้เดินทางเยือนเมืองในหมอกแห่งนี้แล้ว วิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชนในแม่ฮ่องสอนก็ได้สร้างความประทับให้กับผู้มาเยือนได้ไม่น้อยไปกว่าธรรมชาติอันพิสุทธิ์รอบตัว โดยเฉพาะกลุ่มชนชาว “ไต” ที่ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มชนที่เป็นพลเมืองหลักของแม่ฮ่องสอน ที่มีจำนวนประชากรราว 70 % แต่เดิมกลุ่มชนชาวไตมีถิ่นกำเนิดและอาศัยอยู่ในดินแดนรัฐฉาน ประเทศพม่า

แต่ด้วยที่เกิดกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยขึ้นในพม่าทำให้ชนกลุ่มนี้ถูกรุกรานโดยรัฐบาลทหารพม่าเป็นเหตุให้มีกลุ่มชนชาวไตบางส่วนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนประเทศไทยโดยเฉพาะในแถบแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนเป็นเมืองที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว บรรยากาศที่อบอวลไปด้วยกลิ่นไอของวัฒนธรรมชาวไตทำให้เมืองในอ้อมกอดของขุนเขานี้มีภาพลักษณ์ที่แตกต่างไปจากเมืองอื่นๆ ชาวแม่ฮ่องสอนมิได้มีแต่กลุ่มชนชาวไตอยู่เพียงกลุ่มเดียว ยังประกอบไปด้วยชาวไทยภูเขา ได้แก่ ปาด่อง กะเหรี่ยง มูเซอ ฮ่อ ลัวะ ดังนั้นแม่ฮ่องสอน จึงเป็นเมืองที่รวมเอาชนเผ่าหลายเผ่ามาแต่โบราณ ผู้คนเหล่านี้ยังคงดำรงวิถีชีวิตอันเรียบง่าย รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั่งเดิมเอาไว้เฉกเช่นเมื่อหลายร้อยปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มชนชาว “ไต” ว่ากันว่าวัดไทใหญ่ในแม่ฮ่องสอนมีอยู่หลายวัดซึ่งมีความงดงามทางสถาปัตยกรรม การเดินทางเที่ยวชมวัดในเมืองแม่ฮ่องสอนใช้เวลาไม่มากนักเพราะวัดแต่ละวัดตั้งอยู่ไม่ห่างจากกัน วัดพระธาตุดอยกองมู ถือได้ว่าเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองแม่ฮ่องสอนมากที่สุดวัดหนึ่ง เป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวเมืองมาตั้งแต่อดีต กล่าวกันว่าใครที่เดินทางมาแม่ฮ่องสอนแล้วไม่ได้ไปที่วัดนี้ถือว่ายังมาไม่ถึงแม่ฮ่องสอน

 

นอกจากจะเป็นศาสนสถานที่สำคัญแล้วข้างบนวัดยังเป็นจุดชมวิวเมืองแม่ฮ่องสอนที่สวยงามอีกด้วย วัดพระธาตุดอยกองมู เดิมชื่อว่า “วัดปลายดอย”  แต่เนื่องจากตั้งอยู่บนดอยกองมูชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า “วัดพระธาตุดอยกองมู” มากกว่า วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2403 โดยพ่อค้าชาวไทใหญ่ชื่อ  “จองต่องสู่”  เพื่อเป็นที่พักอาศัยของพระอูปั่นเต๊กต๊ะที่นิมนต์มาจากเมืองต่องกี ประเทศพม่า ต่อมาพญาสิงหนาทราชา เจ้าฟ้าเมืองแม่ฮ่องสอนได้บูรณะและสร้างเจดีย์ขึ้นมาองค์หนึ่งจากนั้นก็ได้ไปนิมนต์พระเถระชื่อ  “อูเอ่งต๊ะก๊ะ”  จากเมืองหมอกใหม่ ประเทศพม่า ครั้นเมื่อสิ้นสมัยของพญาสิงหนาทราชาแล้ว แม่เจ้านางเมี๊ยะผู้เป็นหลานของเจ้าฟ้าโกหล่านก็ได้อุปถัมภ์วัดนี้สืบต่อมา ด้วยความสำคัญของวัดพระธาตุดอยกองมูที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกในแม่ฮ่องสอน ชาวบ้านจึงถือเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน ทุกปีหลังเทศกาลออกพรรษาหนึ่งในพลังศรัทธาของชาวไตที่ได้แสดงออกต่องานบุญสำคัญ พวกเขาจะพร้อมใจกันเดินขึ้นดอยกองมูเพื่อร่วมตักบาตรเทโว ซึ่งถือเป็นงานบุญสำคัญวันหนึ่งที่ชาวไตในเมืองแม่ฮ่องสอนจะต้องปฏิบัติจนกลายเป็นประเพณีที่คนต่างถิ่นควรหาโอกาสเข้าร่วมงานสักครั้งหนึ่ง ศาสนสถานที่สำคัญของวัดพระธาตุดอยกองมูคือ พระธาตุเจดีย์แบบมอญ 2 องค์ องค์ใหญ่สร้างโดย จองตองสู่ และนางเหล็ก ผู้เป็นภรรยา เมื่อปีพ.ศ. 2403 ส่วนองค์เล็ก สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2417 สมัยของพระยาสิงหนาทราชาเป็นเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอน  วัดพระนอน เป็นวัดประจำตระกูลและบรรจุอัฐิของเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนทุกองค์

วัดนี้ตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยกองมู ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ยาว 12 เมตรในบริเวณวัดยังมีอุโบสถเก่าหลังคาทรงปราสาทสวยงามยิ่งนัก มีเรื่องเล่าพระนางเมี๊ยะ ชายาของพญาสิงหนาทราชาเป็นผู้สร้างพระนอนองค์นี้ นอกจากนั้นภายในวัดยังมีรูปปั้นสิงห์ขนาดใหญ่ 2 ตัวที่มีความสวยงามและสมบูรณ์ตั้งเคียงข้างกันอยู่บริเวณเชิงบันไดขึ้นวัดพระธาตุดอยกองมู นอกจากนั้นยังมีวัดสำคัญของแม่ฮ่องสอน อีกวัดหนึ่งที่มีความสวยงามด้านศิลปกรรมไทใหญ่ คือวัดจองคำและวัดจองกลาง ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของแม่ฮ่องสอน เวลาที่มีพิธีกรรมสำคัญของชาวไตก็มักจะจัดขึ้นที่วัดนี้ เช่นประเพณีปอยส่างลอง ประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด เป็นต้น วัดทั้งสองแห่งนี้อยู่ในบริเวณเดียวกัน ริมบึงใหญชื่อ หนองจองคำ วัดจองคำเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดของแม่ฮ่องสอน

 

สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2340 มีวิหารหลังคาปราสาทแบบไทใหญ่ที่สวยงามมาก ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อโต ขนาดกว้าง 4.85 เมตร ส่วนที่วัดจองกลาง มีตุ๊กตาไม้แกะสลักรูปคนและสัตว์ จำนวน 33 ตัว เป็นเรื่องราวจากพุทธประวัติและเวสสันดรชาดก ที่วัดหัวเวียง เป็นวัดที่ประดิษฐานพระเจ้าพลาละเข่ง ซึ่งจำลองมาจากพระมหามัยมุณี เมืองมัณฑะเลย์ ที่ชาวไตเชื่อว่าเป็น 1 ใน 3 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพม่าที่ต้องไปเคารพสักการะให้ครบ (พระมหาเจดีย์ชเวดากอง,พระธาตุอินแขวน,พระมหามัยมุณี) พระเจ้าพลาละเข่งองค์นี้ สร้างขึ้นด้วยศรัทธาของเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง ที่จะจำลองไปประดิษฐานไว้ที่วัดพระเจ้าตนหลวงเมืองเชียงตุง แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วไม่ทรงชอบ คหบดีชาวแม่ฮ่องสอน จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดหัวเวียง โดยแยกองค์พระออกเป็น 9 ท่อน ขนย้ายไปรอนแรมไปยังเมืองมัณฑะเลย์ ลงเรือข้ามทะเลสาบอินเลในรัฐฉาน รัฐคะยา เข้ามาตามลำน้ำสาละวิน ลำน้ำปายจนมาขึ้นฝั่งตรงข้ามกับบ้านน้ำเพียงดิน นำมาประกอบที่วัดพระนอน จากนั้นจึงอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดหัวเวียง ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง หากนักท่องเที่ยวมาเที่ยวในจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะพบกับวิถีชีวิตและงานประเพณีของชาวไต หรือ ไทใหญ่ที่ไม่เคยเห็นจากที่ไหนมาก่อน สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ว่าการอำเภอหลังเก่า 053-612-982 – 3

จักรพงษ์  คำบุญเรือง [email protected]

 

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น