สธ.เชียงใหม่ขอควรร่วมมือในการ ช่วยกันควบคุมและเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก 

นายแพทย์วรัญญู จำนงประสาทพร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่  กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกจังหวัดเชียงใหม่(ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 9 ก.ค. 2560) จังหวัดเชียงใหม่เป็นอันดับที่ 17 ของประเทศ และเป็นอันดับที่ 3 ของเครือข่ายบริการสาธารณสุขเขต1 รองจากจังหวัดน่าน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีรายงานผู้ป่วยมากกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี  เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 761 ราย  อัตราป่วย  40.77 ต่อแสนประชากร และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย เป็นชาย อายุ 75 ปี ที่อำเภอฝาง  และพบผู้เสียชีวิตอีก 2 ราย ที่สงสัยว่าเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก รายแรกเป็นชายอายุ 22 ปี ที่อำเภอแม่แตง และรายล่าสุดเป็นหญิง อายุ 10 ปี ที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ ขณะนี้กำลังรอผลการยืนยัน สำหรับจังหวัดเชียงใหม่พบผู้ป่วย 23 อำเภอ โดยอำเภอที่พบมาก 5 อันดับแรก ได้แก่  อำเภอจอมทอง(144.26 ต่อแสน), เวียงแหง(115.46ต่อแสน),  แม่อาย(107.61 ต่อแสน), ดอยหล่อ (65.31 ต่อแสน) และแม่วาง(49.07 ต่อแสน) อำเภอที่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย มี 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสะเมิง และอำเภอกัลยานิวัฒนา

สำหรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก จังหวัดเชียงใหม่ 1.กำหนดเรื่องไข้เลือดออกเป็นวาระจังหวัดเชียงใหม่ ทำ MOU ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ 2.แต่งตั้งคณะกรรมการไข้เลือดออกระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล 3.จัดตั้งทีมนิเทศติดตามการดำเนินงานตามมาตรการทั้งระดับจังหวัด อำเภอและไขว้ตำบล 4.จัด warroomระดับจังหวัดทุกเดือน 5.กำหนดมาตรการพื้นที่ 6 สี (แดง เหลือง เขียว ขาว เทา ดำ) ประกอบด้วยมาตรการ ดังนี้ 5.1 มาตรการ 3-3-1-5-14-28 5.2 มาตรการประชาคมและ warroom5.3 Big Cleaning Day ทุกเดือน 5.4 การสำรวจและทำลายแหล่งให้ค่า HI เป็น 0 ภายใน 5 วัน 5.5 การพ่นสารเคมีฆ่ายุงตัวแก่ 6 ครั้ง(0,3,7,14,21,28)5.6 การประชาสัมพันธ์และสื่อสารความเสี่ยง 5.7 ค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ 6.จัดทำแนวทางการดูแลรักษาและส่งต่อโรคไข้เลือดออกในโรงพยาบาลชุมชน

 

รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงนี้มีฝนตกต่อเนื่องเพิ่มแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทำให้มีปริมาณยุงเพิ่มมากขึ้น การดำเนินงานในพื้นที่ยังพบดัชนีลูกน้ำยุงที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะพื้นที่เกิดโรคที่ยังไม่สามารถทำให้ค่า HI เป็น 0 ได้   ซึ่งประเด็นปัญหาที่พบส่วนใหญ่แต่ละครัวเรือนยังไม่มีส่วนร่วมในการจัดการแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้านตนเอง  แหล่งที่พบบ่อยได้แก่  ยางรถยนต์, ภาชนะเก็บน้ำในบ้านและเศษขยะบริเวณรอบๆบ้าน จึงขอความร่วมมือประชาชนทุกหลังคาเรือน หน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการ ภาครัฐและเอกชน สำรวจและจัดการแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน/นอกบ้านและหน่วยงานของตนเองทุกสัปดาห์ รวมทั้งจัดการขยะ และสิ่งแวดล้อมไม่ให้เอื้อต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและควรป้องกันตนเองและลูกหลานไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุงหรือสมุนไพรกันยุง

โรคไข้เลือดออกยังไม่มีวัคซีนฉีดอย่างแพร่หลายและราคาแพง ยกเว้นใน รพ.เอกชนบางแห่ง ฉีดในกลุ่มอายุ 9 – 45 ปี  ประสิทธิภาพวัคซีน 65.6%   ลดความรุนแรง 93.2% ลดอัตราการนอน รพ. 80.8%   ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ห่างกันเข็มละ 6 เดือน แต่ละสายพันธุ์ภูมิคุ้มกันขึ้นไม่เท่ากัน ผู้ที่เคยเป็นมาก่อนภูมิคุ้มกันจะขึ้นดีกว่า(81.9%)  คนที่เป็นครั้งแรก(52.5%)  ราคารวม 3 เข็มประมาณ 10,000 บาทสำหรับผู้ที่มีอาการสงสัยไข้เลือดออก ได้แก่ มีไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก/ข้อต่อ  คลื่นไส้  อาเจียน  มีจุดเลือดออกตามผิวหนังหรือมีอาการเลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดา มีประจำเดือนมากกว่าปกติ ควรไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย     ควรไปตามแพทย์นัดทุกครั้งและควรป้องกันตนเองและลูกหลานไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุงหรือสมุนไพรกันยุง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ กลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โทร.053-211048-50 ต่อ 110-12.

ร่วมแสดงความคิดเห็น