ดันเมืองไทย ขึ้นแท่น”ฮับ” เที่ยวเชิงอาหาร

ททท.วางหมากต่อ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวเชิงอาหาร ชี้ตัวเลขน่าสนรายจ่ายนักท่องเที่ยว 1 ใน 3 คือค่าอาหารการกิน พร้อมแจงผลต่อต่อเนื่องสู่เกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบทั่วประเทศ
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ไทยจะมุ่งเน้นเรื่องการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ซึ่งจัดเป็น 1 ในรายจ่าย 3 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกชื่นชอบ ประเทศไทยมีชื่อเสียงมากด้านอาหาร ตั้งแต่อาหารถิ่นในทุกภูมิภาค และมีร้านอาหารดังที่ได้รับรางวัลหลายร้าน เช่น ร้านน้ำ ร้านกากั้น และเมนูอาหารดัง เช่น ผัดไทย ต้มยำกุ้ง แกงมัสมั่น เป็นต้น ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยว และนักชิมนานาชาติว่าเป็นสวรรค์ของนักกิน ซึ่งพบว่าสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวมาจากการใช้จ่ายด้านอาหาร 20% ของค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวทั้งหมด
โดยปัจจัยบวกด้านอาหารไทยนี้จะเป็นตัวทวีคูณที่สำคัญในการเพิ่มอรรถรสและความสุขในการท่องเที่ยวได้ แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ การที่เกษตรกรผู้ผลิตจะได้นำเสนอวัตถุดิบ จากทุกท้องถิ่นมาเป็นองค์ประกอบในการปรุงอาหาร จะทำให้เกิดการกระจายรายได้อย่างชัดเจน ตรงไปยังท้องถิ่น เพราะเป้าหมายสำคัญ คือ เราต้องทำให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างรายได้ กระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในประเทศ โดยใช้สินค้าทางการเกษตร-การบริการ ท้องถิ่นของไทย เป็นตัวขับเคลื่อน
นางกอบกาญจน์กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมเกี่ยวกับอาหารสามารถเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวรูปแบบอื่นได้หลายมิติ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agriculture-tourism), การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Eco-tourism) เช่น ให้นักท่องเที่ยวได้ปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ การสีข้าว การปลูกแปลงผัก ปลอดสารพิษแล้วเก็บพืชผัก ผลไม้เหล่านั้นนำมาประกอบอาหาร หรือการนำวัตถุดิบจากโครงการหลวงมาประกอบอาหาร ส่วนด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความงาม (Wellness tourism) เราจะสนับสนุนให้นำผลิตภัณฑ์ เกษตรอินทรีย์มาประกอบอาหารและเครื่องดื่มเชิงสุขภาพ หลังผลการสำรวจพบว่านักท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาคชื่นชอบอาหารไทย โดยเฉพาะอาหารทะเล นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวในปัจจุบันมีแนวโน้มชื่นชอบอาหารริมทาง (Street Food) และอาหารท้องถิ่น (Local Food)
ทั้งนี้ สถิติในปี 2559 มีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอาหาร 329,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 16% ซึ่งสถิติปี2559 รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอาหาร มีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 20 สูงเป็นอันดับที่ 3 ในขณะที่ อันดับที่ 1 เป็นค่าที่พัก (29%) อันดับที่ 2 ค่าซื้อสินค้า/ของที่ระลึก (24%) โดยมีข้อมูล นักท่องเที่ยวที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอาหารสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.จีน 83,313 ล้านบาท ขยายตัว 19% 2.รัสเซีย 20,818 ล้านบาท ขยายตัว 32% 3.สหราชอาณาจักร 18,409 ล้านบาท ขยายตัว 10% 4.มาเลเซีย 16,106 ล้านบาท ขยายตัว 7% และ 5.สหรัฐอเมริกา 13,930 ล้านบาท ขยายตัว 18%

ร่วมแสดงความคิดเห็น