ดอยสะเก็ด เมืองแห่งศรัทธา

“ดอยสะเก็ด” เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางตอนกลางของจังหวัด และเป็นพื้นที่ๆ มีความเจริญทางเศรษฐกิจในลำดับต้นๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นเส้นทางสำคัญที่ผ่านจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังจังหวัดเชียงราย ทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีที่งดงาม ที่สำคัญ ดอยสะเก็ดยังมีสถานที่สำคัญๆ ทางพุทธศาสนาตั้งอยู่มากมาย ทุกทิศทั่วถิ่นฯ วันนี้จะพาไปแนะนำเผื่อหากใครมีโอกาสจะได้ไปเที่ยวชมและศึกษาเรียนรู้กัน

เริ่มจากวัดพระธาตุดอยสะเก็ด ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เป็นวัดที่ชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธากัน อย่างมาก เพราะมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานคู่กับเมือง ล้านนา ได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. 2155 ปัจจุบันวัดพระธาตุดอยสะเก็ดยังได้รับการ ยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างประจำอำเภอ เป็นศูนย์รวมจิตใจของพระสงฆ์และชาวอำเภอดอยสะเก็ดรวมถึงพุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศอีกด้วย
วัดแห่งนี้ มีตำนานเรื่องเล่าขานกันว่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรม อันวิเศษแล้ว พระองค์ได้ออกเดินทางเผยแพร่ธรรมะแก่ชาวชนบทน้อยใหญ่ในแถบดินแดน ชมพูทวีป จนมีผู้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมเป็นจำนวนมาก ในกาลนั้นพระพุทธองค์ได้แสดงปาฏิหาริย์ มาปรากฏกายทิพย์ ณ บนยอดดอยแห่งนี้ แล้วทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีสว่างเจิดจ้าไปทั่วบริเวณ ขณะนั้นได้มีพญานาคคู่หนึ่งอาศัย อยู่ในหนองบัว (อยู่ห่างจากวัด ประมาณ 1 กิโลเมตร) ได้เห็นฉัพพรรณรังสี จึงแปลกใจพากันเลื้อยขึ้นสู่ยอดดอย ได้ทัศนาเห็นพระพุทธองค์ บังเกิดความเลื่อมใส จึงแปลงกายเป็นชายหนุ่มหญิงสาวมาเข้าเฝ้า พร้อมกับได้นำดอกบัวมาถวาย พระพุทธองค์ทรงรับเอาดอกบัวนั้นไว้แล้วจึงแสดงธรรมโปรดและประทานเกศาธาตุแก่พญานาค แปลงคู่นั้น พญานาคจึงได้อธิษฐานสร้างเจดีย์หินแล้วนำเอาพระเกศาธาตุบรรจุไว้บนดอยแห่งนี้

ต่อมาได้มีพรานป่ามาพบเห็นเจดีย์มีลักษณะสวย จึงเอาก้อนหินมาก่อเป็นรูปเจดีย์ขึ้น กลางคืนได้ฝันว่า เจดีย์ที่ตนพบนั้นเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า จึงได้ชักชวนชาวบ้าน ในแถบนั้นขึ้นไปสักการบูชา และเรียกชื่อภูเขาแห่งนี้ว่า “ดอยเส้นเกศ” หรือบ้างก็เรียกว่า “ดอยสะเกล็ด” ต่อมาจึงเพี้ยนมาเป็น “ดอยสะเก็ด”
ดอยแห่งนี้ได้มีพุทธศาสนิกชนขึ้นมากราบนมัสการเจดีย์หินอันเป็นที่บรรจุเกศาธาตุมากขึ้น จึงได้ก่อเจดีย์ปูนเสริมให้ใหญ่และมั่นคงกว่าเดิม และได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า “ครูบาเก๋” จากเมืองน่าน มาสร้างวิหารและบูรณะเจดีย์พร้อมทั้งสถาปนาขึ้นเป็นวัด เรียกว่า “วัดดอยสะเก็ด” กระทั่งมีชาวบ้านเข้ามาอยู่ อาศัยในตำบลเชิงดอยและใกล้เคียงมากขึ้น ทางราชการจึงได้จัดตั้งเป็นอำเภอ
เนื่องจากวัดพระธาตุดอยสะเก็ดตั้งอยู่บนเขา จึงทำให้ภายในวัดมีจุดชมวิวหลายจุด สามารถมองเห็น เมืองเชียงใหม่และชุมชนด้านล่างวัด นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจ อีกหลายอย่าง อาทิเช่น
-พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ อายุร่วม 1,000 ปี เป็นเจดีย์องค์ใหญ่สูง สวยสง่า สร้างครอบองค์เก่าไว้ ภายในมีพระบรมสารีริกธาตุอันเป็นปูชนียวัตถุอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สักการะเคารพของชาวอำเภอดอยสะเก็ด ทุกปีในเดือน 8 เป็ง (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ใต้) ทางวัดจะอันเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ลงมาจากที่ประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนสรงน้ำ
-วิหารจัตุรมุข สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2520 ด้านหน้ามีรูปปั้นหนุมาน อมจันทร์ อยู่ติดกับบันได ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังปริศนาธรรมที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก จำนวน 18 ภาพ เป็นภาพเขียนลายไข่มุก และภาพเขียนสี โดยแต่ละภาพที่เขียนจะมีความหมายในทาง พระพุทธศาสนาทั้งสิ้น เพื่อบ่งบอกเรื่องราวแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นคติธรรมให้ ศาสนิกชนได้นำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาจิตใจ ปัจจุบันวิหารจัตุรมุขเป็นที่ประดิษฐาน
-ต้นศรีมหาโพธิ์ ต้นแรก หน่อกล้าจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย อัญเชิญมาโดย พระเทพวิสุทธิคุณ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่องค์ปัจจุบัน ทรงปลูกโดยสมเด็จพระสังฆราช (วาส วาสนมหาเถระ) วัดราชบพิตร กรุงเทพมหานคร และพระอุดมวุฒิคุณ อดีตเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่และพระครูมงคลศีลวงศ์ อดีตเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด และพระเทพวิสุทธิคุณเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ทรงปลูกร่วมกันเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2524 ต้นศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ 2 หน่อกล้าจากประเทศศรีลังกา โดยคุณพงษ์พันธ์พรหมขัติแก้ว อุปทูตไทยประจากประเทศศรีลังกา ทรงปลูกโดยสมเด็จพระมหานากะภัตตันตะเถระ สังฆราชประเทศศรีลังกา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2529
-ศาลารายบนลานโพธิ์ เป็นศาลาแบบเรียบง่ายสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทย ชั้นเดียวกว้าง 4 ม. ยาว 15 ม. หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสีส้มอิฐยกช่อฟ้า เป็นประดิษฐ์ฐาน พระพุทธรูปประจำวันทั้งเจ็ด, พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ผลหรือหลวงพ่อพระเจ้าทันใจ, พระพุทธสิหิงค์จำลอง หล่อด้วยทองเหลือง ปางมารวิชัย, ศิลปะเชียงแสน ฯลฯ
-อาคารสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2541- 2542 ลักษณะคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ขนาดกว้าง 25 เมตร ยาว 40 เมตร ด้านล่างประดิษฐานรูปเหมือนพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้กราบไหว้บูชา ด้านบนเป็นสำนักคณะสงฆ์ สำนักงานเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด ห้องประชุมเล็ก และห้องประชุมใหญ่

นอกจากวัดพระธาตุดอยสะเก็ดแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อยู่ไม่ไกลจากวัด นั่นก็คือ หนองบัวพระเจ้าหลวง ซึ่งเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของชาวอำเภอดอยสะเก็ด ดังคำขวัญที่ว่า “หนองบัวพระเจ้าหลวง แม่กวงเขื่อนใหญ่ ห้วยฮ่องไคร้ศูนย์ศึกษา ล้วนนานาหัตถกรรม” หนองบัวพระเจ้าหลวง ตั้งอยู่ที่ ต. เชิงดอย อ. ดอยสะเก็ด มีเนื้อที่ 102 ไร่ เป็นหนองน้ำธรรมชาติ อีกทั้งยังเคยมีนกเป็ดน้ำอาศัยอยู่ เป็นจำนวนมาก ที่นี่ยังเคยเป็นที่รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2505 เมื่อทั้งสองพระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีประเทศเดนมาร์ค เสด็จทรงประทับลงเรือยาวที่หนองบัวเเห่งนี้ นับว่าเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสำคัญทางด้านประวัติ ศาสตร์ และเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวอำเภอดอยสะเก็ดเป็นอย่างมาก จึงได้มีการจัดแสดงนิทรรศการเหตุการณ์ จำลองเอาไว้ที่วัดพระธาตุดอยสะเก็ดอีกด้วย และหนึ่งในความภูมิใจนั้นก็คือ เก้าอี้ที่เหล่าราชวงค์เคยทรงประทับ บนเรือ ปัจจุบันได้ถูกเก็บรักษามาเป็นอย่างดี โดยมีอ.สมถวิล เจริญทรัพย์ เป็นผู้มาถ่ายทอดเรื่องราวอันน่า ประทับใจนี้ให้ชาวรายการทุกทิศทั่วถิ่นฯได้ฟังด้วย
สุดท้าย แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของชาวเชียงใหม่ ที่ใครยังไม่ได้ไปเช็คอินถือว่าเอาท์ นั่นก็คือ สะพานแขวนเขื่อนแม่กวง สะพานข้ามช่องแคบเขื่อนแม่กวงอุดมธารากับบ้านป่าสักงาม อ.ดอยสะเก็ด ที่เพิ่งเปิดให้ใช้บริการมาไม่นานนี้นั่นเอง ซึ่งที่นี่จะมีหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อว่า บ้านป่าสักงาม เคยถูกตัดขาดจาก ถนนสายหลัก ทำให้ต้องเดินทางโดยวิธีใช้เรือมามากกว่า 41 ปี การสร้างสะพานแขวนนี้จะทำให้ชีวิตของคนที่นี่สะดวกขึ้น โดยสะพานนี้สามารถใช้เดินทางสัญจรได้เฉพาะรถจักรยานหรือจักรยานยนต์เท่านั้น แต่วิวโดยรอบของที่นี่สวยงามมาก จนกลายเป็นสถานที่ยอดฮิตแห่งใหม่ให้คนได้มาถ่ายรูปกัน
นักท่องเที่ยว ผู้สนใจจะไปเที่ยวชม และศึกษาเรียนรู้เมืองแห่งวัฒนธรรมแห่งนี้สามารถสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์และการท่องเที่ยว องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ที่เบอร์ 053-998333 ต่อ 208 และ 211

ร่วมแสดงความคิดเห็น