เปิดโครงการพัฒนาเกษตรกร ด้วยวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี และนวัตกรรมครั้งที่ 2 จ.น่าน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงพื้นที่จังหวัดน่าน เปิดโครงการพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ครั้งที่ 2 มีเป้าหมายพัฒนาเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มเกษตรกร ให้เป็นเกษตรกรสมัยใหม่ สมาร์ท ฟาร์มเมอร์
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาเกษตรกร ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (InnoAgri) ส่วนภูมิภาคสัญจรครั้งที่ 2 มี นายวรกิตติ ศรีทิพากร รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ผู้บริหาร พนักงาน เจ้าหน้าที่ และชาวเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 1,500 ราย ร่วมให้การต้อนรับ ณ หอประชุมโรงเรียนสา อ.เวียงสา จ.น่าน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นการนำผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรของประเทศ การพัฒนาประเทศที่ต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และสอดคล้องกับทิศทางของไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้แนวทางการปรับเปลี่ยนการเกษตรแบบเดิม ซึ่งใช้แรงงานเป็นหลัก ไปสู่การพัฒนาด้วยระบบบริหารจัดการและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เน้นการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรกรรายย่อย เป็นโครงการฯ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร และกรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมกับสานพลังประชารัฐหน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย สภาเกษตรกรแห่งชาติ ธกส. และกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ด้าน ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวถึง เป้าหมายการดำเนินโครงการ InnoAgri ในปีงบประมาณ 2560 ว่า อันดับแรกจะพัฒนาเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรสมัยใหม่ หรือ สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ จำนวน 3,000 ราย และนำไปใช้ประโยชน์ 1,500 ราย สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ร้อยละ 20 อันดับที่สอง การพัฒนาและยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรจำนวน 200 ราย ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยกระดับ มีผลิตภัณฑ์ใหม่ 20 ผลิตภัณฑ์ อันดับสาม ชุมชนต้นแบบเกษตรแบบครบวงจรที่ได้นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชน อันดับที่สี่ ฐานข้อมูลที่จัดเก็บในรูปแบบคลังความรู้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ InnoAgri จะต้องมีคุณสมบัติ คือ เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มาจากสภาเกษตรกรและ ธกส. เป็นบุคคลที่มีศักยภาพในการรับรู้เร็ว และมีประวัติการนำเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดไปใช้จริง เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มาจาก ธกส. เป็นบุคคลที่มีศักยภาพและพร้อมที่จะพัฒนาเป็นผู้ประกอบการเกษตร มีศักยภาพในการชำระเงินกู้ และไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของพื้นที่

ร่วมแสดงความคิดเห็น