5 ประตู 4 แจ่ง เมืองเชียงใหม่

หนึ่งในเอกลักษณ์เมืองเชียงใหม่ ที่ไม่เหมือนใครคือการมีคูเมืองล้อมรอบ และกำแพงเมือง ซึ่งอดีตเป็นคูเมืองที่ใช้ป้องกันข้าศึก และยังเป็นแหล่งประมงและแหล่งน้ำสำหรับเมืองเชียงใหม่ แม้ว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีการบูรณะซ่อมแซมมาบ้างแล้วก็ตาม แนวกำแพงและประตูเมืองที่เห็นในปัจจุบันยังคงมีเค้าโครงของแนวกำแพงสมัยโบราณอยู่ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในปี พ.ศ. 2478

กำแพงเมืองและประตูเมืองเชียงใหม่มีความสำคัญ ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ที่พิเศษ ในอดีตเมื่อพระมหากษัตริย์จะเสด็จเข้าเมืองจะต้องเข้าเมืองที่ประตูทางทิศเหนือซึ่งถือเป็นเดชเมือง ในการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ขึ้นแต่เดิมนั้น พงศาวดารโยนกกล่าวไว้ว่า เมื่อพญามังรายได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นแล้ว ได้ทรงขุดคูเมืองทั้งสี่ด้านนำเอาดินขึ้นมาถมเป็นแนวกำแพง โดยเริ่มขุดที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือคือแจ่งศรีภูมิอันเป็นทิศมงคลก่อน แล้วก่ออิฐขนาบสองข้างกันดินพังทลาย ข้างบนกำแพงปูอิฐตลอดแนวทำเสมาไว้บนกำแพงทั้งสี่ด้านและประตูเมืองอีกทั้งสี่แห่ง คือประตูหัวเวียง(ช้างเผือก) ,ประตูท้ายเวียง(เชียงใหม่) ,ประตูท่าแพและประตูสวนดอก

กำแพงเมืองเชียงใหม่มีสองชั้น คือ กำแพงชั้นในรูปสี่เหลี่ยมและกำแพงชั้นนอกหรือกำแพงดิน กำแพงทั้งสองชั้นสร้างขึ้นไม่พร้อมกันและมีความสำคัญไม่เท่ากัน กำแพงชั้นในสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระยามังราย เมื่อครั้งสถาปนาเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.1839 ส่วนกำแพงชั้นนอกสันนิษฐานว่าสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 22
บริเวณกำแพงเมืองชั้นใน ประกอบด้วยประตูเมือง 5 ประตู ได้แก่ ประตูหัวเวียง หรือ ประตูช้างเผือก อยู่ทางทิศเหนือของเมืองถือว่าเป็นประตูมงคล ในพิธีราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่จะเสด็จเข้ามาที่ประตูนี้ ประตูหัวเวียงเปลี่ยนชื่อมาเป็น ประตูช้างเผือกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 23 เมื่อพญาแสนเมืองมาได้สร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือก 2 เชือกเป็นอนุสรณ์แก่มหาดเล็ก 2 คนที่ช่วยพระองค์ให้รอดพ้นจากภัยสงคราม แต่เดิมรูปปั้นช้างเผือกทั้ง 2 เชือกอยู่ริมถนนโชตนาด้านละเชือก สำหรับรูปปั้นช้างเผือกที่ตั้งในปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิละ

ประตูช้างเผือก เดิมมีชื่อว่า ประตูหัวเวียง เป็นประตูชั้นในด้านทิศเหนือ สมัยก่อนเป็นประตูเอกของเมือง ในพระราชพิธีบรมราชาพิเษก กษัตริย์จะเสด็จเข้าเมืองยังประตูนี้ ประตูนี้เปลี่ยนชื่อในรัชสมัยของพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 เนื่องจากได้โปรดให้สร้างอนุสาวรีย์รูปช้างเผือกขึ้น ปัจจุบันมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ได้แก่ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์, วัดหัวข่วง, วัดโลกโมฬี, หอประวัติศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ถิ่นล้านนา, วัดอินทขิล

ประตูเชียงเรือก ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของกำแพงเมืองชั้นใน มีบ้านเชียงเรือกตั้งอยู่บริเวณนอกกำแพงเมือง เดิมบ้านเชียงเรือกเป็นชุมชนค้าขายเพราะเป็นที่ตั้งของตลาดเชียงเรือก ตลาดเก่าแก่แห่งหนึ่งของเชียงใหม่ คาดว่ามีประชากรหนาแน่น ซึ่งมีหลักฐานกล่าวถึงสมัยพญาแก้วเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเชียงเรือกมีคนจมน้ำตายเป็นจำนวนมาก ในสมัยพระเจ้าอินทวิชายานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ.2416 – 2440) ชื่อประตูเชียงเรือก เปลี่ยนมาเป็นประตูท่าแพชั้นในเพื่อให้คู่กับประตูท่าแพชั้นนอก ซึ่งอยู่บนถนนสายเดียวกัน ชื่อประตูท่าแพ หมายถึงประตูชั้นนอกตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดแสนฝาง ต่อมาบ้านเรือนขยายตัวประตูท่าแพชั้นนอกได้สลายไปเหลือแต่ประตูท่าแพชั้นใน ชาวบ้านจึงเรียกชื่อสั้น ๆ ว่า ประตูท่าแพ สำหรับประตูท่าแพในปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2528 – 2529 โดยอาศัยภาพถ่ายเก่าประตูเมืองเชียงใหม่ประตูหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 มีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ได้แก่ ลานจัดกิจกรรมประเพณีต่างๆ , ถนนคนเดิน(ทุกวันอาทิตย์), กาดวโรรส, สะพานนวรัฐ

ประตูเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางด้านใต้ ในอดีตเป็นเส้นทางสำคัญระหว่างเชียงใหม่ไปเวียงกุมกามและลำพูน ในสมัยราชวงศ์มังราย (พ.ศ.1804 – 2101) ทั้งเชียงใหม่ กุมกามและลำพูนตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำปิงเช่นเดียวกัน การเดินทางจึงไม่ต้องข้ามแม่น้ำปิง ปัจจุบันเป็นจุดส่วนรวมนักท่องเที่ยว และเป็นศูนย์รวมขายอาหารตอนกลางคืน และมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ได้แก่ ตลาดประตูเชียงใหม่, วัดเจดีย์หลวง, วัดเจ็ดลิน, วัดช่างแต้ม, ถนนคนเดินวัวลาย(ทุกวันเสาร์)

ประตูแสนปุง ตั้งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ใกล้กับประตูเชียงใหม่ คือเฉพาะกำแพงเมืองด้านใต้เท่านั้นที่มีสองประตู ประตูนี้สันนิษฐานอาจเจาะภายหลังคือไม่ได้สร้างพร้อมกับสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.1839 อย่างไรก็ตามยังไม่พบหลักฐานที่กล่าวถึงการเจาะประตูนี้ หลักฐานตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงประตูแสนปุงครั้งแรกสมัยมหาเทวีจิรประภา พ.ศ.2088 “…ชาวใต้มาปล่นเอาปะตูแสนปุง บ่ได้…” สันนิษฐานที่ชื่อ แสนปุง เพราะเป็นทางออกไปสู่บริเวณที่มีเตาปุง (เตาไฟ) มากมาย เพราะด้านนอกประตูเป็นที่อยู่ของกลุ่มช่างหลอมโลหะจึงมีเตาปุงไว้หลอมโลหะจำนวนมากเปรียบนับแสน ปัจจุบันยังมีบ้านช่างหล่อพระพุทธรูปอาศัยอยู่ และถนนเลียบคูเมืองด้านนี้ชื่อถนนช่างหล่อจากความเชื่อเรื่องทิศและพื้นที่ถือเป็นเขตกาลกิณีจึงกำหนดให้ประตูแสนปุงเป็นทางออกไปสุสาน ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ได้แก่ สวนบวกหาด, เซ็นทรัลแอร์พอร์ต

ประตูสวนดอก ตั้งอยู่ทิศตะวันตกประตูด้านนี้เป็นทางออกไปสู่อุทยานของกษัตริย์ สมัยพญากือนา พ.ศ.1914 ได้สร้างวัดบนพื้นที่อุทยานจึงเรียก วัดสวนดอก และในช่วงนั้นพญากือนาคงสร้างเวียงสวนดอกด้วย ปัจจุบันมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ได้แก่ วัดพระสิงห์, วัดสวนดอก, วัดปันเสา, นิมมานเหมินท์
นอกจากกำแพงเมืองชั้นในแล้ว เมืองเชียงใหม่ยังมีกำแพงเมืองชั้นนอกรูปพระจันทร์เสี้ยว หรือที่รู้จักชื่อ กำแพงดิน โอบล้อมไว้ เริ่มตั้งแต่แจ่งศรีภูมิด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเลียบตามลำน้ำแม่ข่าลงมาด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ มาบรรจบกับกำแพงเมืองชั้นในที่แจ่งกูเฮือง บริเวณกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านนอกมีประตูเมืองสำคัญอยู่ 5 ประตู คือ ประตูช้างม่อย อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ในอดีตถนนช้างม่อยเก่าเป็นเส้นทางโบราณผ่านหมู่บ้านเชียงเรือกไปวัดหนองหล่มแล้วไปสิ้นสุดที่ประตูช้างม่อย ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงประตูช้างม่อยว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2368 เมื่อบ้านเมืองขยายตัวทางราชการได้ตัดถนนช้างม่อยใหม่ขึ้น โดยเจาะกำแพงชั้นในให้ถนนราชวิถีจากในเวียงตัดตรงสู่ถนนช้างม่อยใหม่แล้วไปออกแม่น้ำปิง ดังนั้นชาวบ้านจึงเรียกประตูชั้นในที่เจาะใหม่ว่า ประตูช้างม่อย เพื่อแทนที่ประตูเดิมซึ่งถูกรื้อทิ้งไปในปี พ.ศ.2511

ประตูท่าแพ อยู่ด้านทิศตะวันออกของเมืองบริเวณหน้าวัดแสนฝาง ที่ชื่อท่าแพ เพราะเป็นทางออกสู่ท่าน้ำแม่ปิง ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เรียกชื่อประตูนี้ว่า ประตูท่าแพชั้นนอก เพราะความเจริญเติบโตของเมืองชื่อของประตูท่าแพชั้นนอกจึงค่อย ๆ หายไป ประตูท่าแพจึงเหลือเพียงประตูเดียว

ประตูหล่ายแคง หรือประตูระแกง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ พบหลักฐานในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึง ประตูนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2313 เมื่อกองทัพธนบุรียกมาล้อมเมืองเชียงใหม่ ที่ชื่อหล่ายแคง เพราะบริเวณริมคูเมืองมีลักษณะลาดเท ในสมัยต่อมาจึงเรียกเพี้ยนมาเป็น ประตูระแกง

ประตูขัวก่อม อยู่ทางทิศใต้ ปรากฏในหลักฐานโคลงมังทรารบเชียงใหม่ว่าสร้างขึ้นอย่างน้อยในปี พ.ศ.2158

ประตูไหยา หรือ หายยา อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงประตูไหยาเป็นครั้งแรกว่า “พ.ศ.2270 เมื่อเทพสิงห์ยึดเมืองเชียงใหม่จากพม่าได้บุกเข้ามาทางประตูไหยา แต่ด้วยที่ตั้งของประตูไหยาอยู่ในทิศเดียวกับประตูแสนปุง เป็นตำแหน่งกาลกิณีเมือง จึงใช้เป็นทางเคลื่อนศพมาฌาปนกิจที่สุสานหายยามาตั้งแต่โบราณ

แจ่งเมือง

กำแพงเมืองเชียงใหม่มีแจ่ง (มุม) 4 แจ่ง ซึ่งถือเป็นป้อมปราการของเมืองในอดีต แต่ละมุมจะออกไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ

แจ่งศรีภูมิ เดิมชื่อ แจ่งสะหลีภูมิ เป็นแจ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มาของชื่อหมายถึง ศรีแห่งเมือง ถือเป็นจุดแรกเริ่มของการสร้างเมืองเชียงใหม่ เชื่อมต่อถนนอัษฏาธร ออกไปยังตลาดคำเที่ยง และถนนวิชยานนท์ ออกไปยังตลาดเมืองใหม่, เจดีย์ขาว

แจ่งก๊ะต้ำ หรือ แจ่งขะต๊ำ เป็นแจ่งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่มาของชื่อหมายถึง กับดัก เป็นเครื่องจับปลาชนิดหนึ่ง เพราะมุมด้านนี้อยู่ต่ำสุดมีปลาชุกชุม จึงมีผู้คนมาดักปลาโดยใช้ ขะต๊ำเชื่อมต่อถนนศรีดอนชัย ออกไปยังไนท์บาร์ซ่า, ขัว(สะพาน)เหล็ก, ถนนช้างคลาน

แจ่งกู่เฮือง เป็นแจ่งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ที่มาของชื่อเนื่องจากเป็นที่เก็บอัฐิของ อ้ายเฮือง ที่ได้เป็นผู้คุมของพญาคำฟู ซึ่งได้ถูกนำมาคุมขังที่นี่ภายหลังถูกจับกุม เนื่องจากก่อนหน้าได้ชิงราชสมบัติจากพญาแสนภู ซึ่งพญาไชยสงคราม พระบรมเชษฐาของพญาแสนภูปกครองเชียงรายอยู่รับสั่งให้มาปราบ เชื่อมต่อถนนมหิดล ออกไปยังสนามบินนานาชาติเชียงใหม่, เซ็นทรัลแอร์พอร์ต

แจ่งหัวลิน เป็นแจ่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ที่มาของชื่อเนื่องจากเป็นจุดรับน้ำจากห้วยแก้ว(ดอยสุเทพ) ผ่านราง(ลิน) ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของระบบน้ำประปาแบบโบราณ เชื่อมต่อถนนสุเทพ ออกไปยังดอยสุเทพ, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สวนสัตว์เชียงใหม่

เอกสารประกอบ
สุรัสวดี อ๋องสกุล “ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่ – ลำพูน”,2543
“กำแพงเมืองเชียงใหม่” อนุสรณ์เนื่องในพิธีเปิดและฉลองประตูท่าแพ ,2529
บุญเสริม สาตราภัย “ลานนาไทยในอดีต” 2522

ร่วมแสดงความคิดเห็น