“กาดทุ่งเกวียน” ตลาดของป่าเมืองลำปาง

กาดทุ่งเกวียน แหล่งรวมอาหารป่านานาชนิดที่มีอยู่แห่งเดียว ยังคงดำรงไว้ซึ่งเจตนาในการจำหน่ายอาหารที่มาจากป่าเอาไว้ได้ แสดงให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน แม้ว่ากาดทุ่งเกวียนจะสวนกับกระแสแห่งการอนุรักษ์ แต่หลายคนยังคงเข้ามาหาซื้อของป่าจากที่นี่อยู่เสมอ ด้วยที่ว่าตลาดแห่งนี้ (อาจจะยัง) เป็นตลาดเดียวที่ยังมีการจำหน่ายของป่าอยู่

มีคำพูดของคนโบราณล้านนาสมัยก่อนอยู่บทหนึ่งที่ว่า “ไปทางบกบ่ได้โอดก็ลาบ ไปทางน้ำบ่ได้จ้ำก็แกง” ซึ่งหมายความว่า ในชุมชนสมัยก่อนมีความอุดมสมบูรณ์ของอาหารมากมาย ไม่ว่าจะไปทางไหนก็มีกินไม่ต้องกลัวอดอยาก อย่างเช่นเมื่อเดินทางไปทางบกก็มักจะได้กินอาหารประเภทลาบ ถ้าไปทางน้ำก็มักจะได้ทำอาหารประเภทแกง บางทีคนล้านนายังมีคำพูดเกี่ยวกับอาหารอีกว่า “ข่าอยู่บ้านเหนือ เกลืออยู่บ้านใต้ ตะไคร้อยู่บ้านพี่บ้านน้อง” แสดงให้เห็นว่า คนสมัยก่อนมีการพึ่งพาอาศัยกันในเรื่องอาหารการกิน การเสาะแสวงหาของกินของคนสมัยก่อน มักนิยมเข้าไปหาในป่า

วิธีการแสวงหาของกินพื้นเมืองของคนเมืองถือว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ชาวบ้านได้มีการสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุ พวกเขาเหล่านี้ถือว่าป่าเป็นแหล่งอาหารขนาดใหญ่ที่รวบรวมบรรดาอาหารมากมายหลายชนิด ทั้งสัตว์ป่า พืชผักต่างๆ รวมไปถึงผลหมากรากไม้ เมื่อชาวบ้านพากันเข้าไปหาของป่าก็มักจะได้พืชผักต่างๆ ติดมือออกมาทำเป็นอาหารได้ด้วย

จนเมื่อปัจจุบันป่าไม้ถูกบุกรุกทำลายมากเกินไป สรรพสิ่งที่เคยใช้ป่าเป็นผืนดินในการดำรงชีวิตกลับลดน้อยลง ป่าจากที่เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยนานาอาหารกลับไม่เหลือสิ่งต่างๆ
เหล่านั้นไว้อีกเลย

คนในชนบทสมัยก่อนมักจะนิยมเข้าป่าไปหาของกิน เช่น หน้าแล้งจะมีอาหารสารพัด มีแมงมัน ไข่มดแดง รวมไปถึงด้วงหน่อไม้หรือที่รู้จักกันว่า รถด่วน ยิ่งถ้าในฤดูฝนก็จะมีอาหารอุดมสมบูรณ์มากมาย เช่น หน่อไม้ ผักหวานป่า กบ เขียด แลน รวมถึงสัตว์ป่าชนิดต่างๆ และที่สำคัญในป่าหน้าฝน ยังมีอาหารชนิดหนึ่งที่เมื่อเวลานำมาปรุงอาหารแล้วเชื่อหลายคนคงชื่นชอบเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ เห็ดถอบ ซึ่งถือว่าเป็นอาหารยอดนิยมที่ค่อนข้างหายากและมีราคาแพง
แม้ว่าการเสาะแสวงหาของกินของคนเมืองจะดำเนินต่อไปตามวิถีชีวิตที่พวกเขาได้เคยกระทำผนวกกับป่าถูกทำลายลงเป็นจำนวนมาก

แต่ดูเหมือนว่าของป่าเหล่านี้ยังคงมีให้พบเห็นอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะที่กาดทุ่งเกวียน ป่าซูปเปอร์มาร์เก็ตชุมชนที่รวบรวมเอาของป่านานาชนิดมาจำหน่าย เมื่อเวลาใครผ่านไปตามถนนสายเชียงใหม่ – ลำปางช่วงระหว่างกิโลเมตรที่ 50 – 60 ทางด้านซ้ายมือ เมื่อเวลาลงดอยขุนตานมาจะสังเกตเห็นว่ามีรถราจอดอยู่ริมข้างทางเป็นจำนวนมาก เมื่อลองแวะเข้าไปดูจะพบกับของป่าหลากหลายชนิดทั้งที่หายากและแปลกพิศดารไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนก็สามารถพบได้ที่นี่

เมื่อแรกก้าวเข้าไปยังกาดทุ่งเกวียนจะพบเห็นบรรดาพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลาย ตะโกนก้องว่าต้องการของป่าหรือเปล่า แม่ค้าบางคนมีการนำของป่าหายาก ทั้งที่ผิดกฏหมายมาแอบขายให้แก่คนซื้อ เช่น งูสิง ซึ่งถือเป็นสัตว์ที่หายากและมี
ราคาแพงก็มีการแอบนำมาจำหน่ายที่นี่เช่นกัน นอกจากนั้นยังนำหมูป่ามาจำหน่ายด้วย โดยจะทำการชำแหละเรียบร้อยแล้ว สำหรับสนนราคาก็ไม่ต่างไปจากเนื้อหมูที่ขายตามท้องตลาดมากนัก ในบริเวณกาดทุ่งเกวียนยังมีการจำหน่ายอาหารป่าที่ปรุงสำเร็จแล้ว เช่น กบ เขียด นกที่ย่างไฟแล้ว ยังมีจำพวกแมลงชนิดต่างๆ ที่ทอดเสร็จเรียบร้อยแล้วรวมไปถึงผักชนิดต่างๆ ที่เก็บมาจากป่า เช่น ผักหวาน เห็ดและกล้วยไม้ป่าที่หายาก

กาดทุ่งเกวียน แหล่งรวมอาหารป่านานาชนิดที่มีอยู่แห่งเดียว ยังคงดำรงไว้ซึ่งเจตนาในการจำหน่ายอาหารที่มาจากป่าเอาไว้ได้ แสดงให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน แม้ว่ากาดทุ่งเกวียนจะสวนกับกระแสแห่งการอนุรักษ์ แต่หลายคนยังคงเข้ามาหาซื้อของป่าจากที่นี่อยู่เสมอด้วยที่ว่าตลาดแห่งนี้ (อาจจะยัง) เป็นตลาดเดียวที่ยังมีการจำหน่ายของป่าอยู่

ปัจจุบันเมื่อความเจริญก้าวเข้ามาแทนที่ กาดทุ่งเกวียน จากที่เคยเห็นในอดีตเมื่อ 10 – 20 ปี ที่มุงด้วยหลังคาใบตองสร้างขึ้นแบบง่ายๆ พ่อค้าแม่ค้านำเอาเฉพาะของป่าที่หาได้มาวางขายชนิดที่เลือดยังไม่ทันแห้ง และเป็นที่รู้กันในหมู่ชาวบ้านว่าที่กาดแห่งนี้จะขายเฉพาะของป่าเท่านั้น คล้อยหลังให้ไม่กี่ปี กาดทุ่งเกวียนได้เปลี่ยนรูปโฉมจากเพิงไม้หลังคามุงใบตองมาเป็นอาคารพานิชย์ ที่สร้างให้มีความทันสมัย มีการแบ่งสรรเป็นล็อกๆ

บรรดาพ่อค้าแม่ค้านำของกินของใช้ ของที่ระลึกจากที่ต่างๆ มาวางขาย ของบางอย่างนำมาไกลจากจังหวัดสุโขทัย เชียงใหม่ ลำพูน รวมถึงของที่ระลึกจากจังหวัดลำปางเอง ส่วนด้านหลังก็ยังมีการขายของป่ากันอยู่ แต่เท่าที่ได้ลงไปสัมผัสดู ของป่าหายากแทบจะไม่มีให้พบเห็น ส่วนใหญ่จะเป็นจำพวกแมลงทอด น้ำพริกหนุ่ม ไส้อั่ว ข้าวเหนียวและหมูปิ้ง นัยว่าทั้งหมดนี้เพื่อเป็นเอาใจนักท่องเที่ยวที่มาแบบรถบัส แต่หารู้ไม่ว่าคุณค่าและวิญญาณของกาดทุ่งเกวียน ในความทรงจำของคนรุ่นก่อนๆ ได้สูญหายไปอย่างสิ้นเชิง

คุณค่าของกาดทุ่งเกวียน ไม่ได้อยู่ที่ตัวอาคารมูลค่านับหลายสิบล้านบาท ทว่าอยู่ที่วิถีชีวิตของการแสวงหาของป่าหายาก บางคนอาจจะกระแดะ สวมวิญญาณของนักอนุรักษ์ขึ้นมาเรียกร้องโวยวายโหยหาแต่อดีต แต่ถ้าลองเปิดใจให้กว้างมองย้อนไปถึงวิถีชีวิตของคนสมัยก่อนที่เข้าป่าไปหาอาหาร วิถีชีวิตแบบนี้มิใช่หรือที่ดึงดูดให้คนเมืองกรุงพากันแห่แหนเดินทางมาเยือนถิ่นเมืองเหนือกันอย่างไม่ขาดสาย ถ้าลองคิดต่อไปอีกว่า เมื่อกาดทุ่งเกวียนกลายเป็นแหล่งสรรพสินค้าที่หาซื้อของกินของฝาก แต่อย่าลืมนะว่าของกินของฝากแบบนี้มีวางจำหน่ายอยู่แทบทุกจังหวัด ไม่จำเป็นต้องขับรถมาซื้อถึงลำปางก็ได้

ผมเองไม่ได้มีเจตนาที่จะต่อว่าอาคารพานิชย์ที่ผุดขึ้นมาแทนคุณค่าของเพิงไม้ราคาหลังละไม่กี่บาท และไม่ได้ต้องการที่จะสนับสนุนให้มีการล่าสัตว์ป่า ทว่าด้วยสำนึกในวิถีชีวิตและวิญญาณของคนล้านนา การพึ่งพาอาศัย การแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน โดยไม่คำนึงถึงตัวเงินต่างหาก ที่อยากให้สิ่งเหล่านี้ดำรงคงอยู่ในท่ามกลางกระแสการแข่งขันของสังคมเมือง บรรพชนคนล้านนาในสมัยก่อนได้พร่ำสอนให้ลูกหลาน เรียนรู้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างเรียบง่ายพึ่งพาธรรมชาติและป่าเขา แม้ว่าบางสิ่งอาจต้องใช้เวลาในการเรียนรู้มาเกือบตลอดทั้งชีวิตสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน

บางครั้งต้องอาศัยการสังเกตและจดจำเป็นอย่างมาก จนทำให้การแสวงหาของป่าได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต แม้ว่าปัจจุบันมีกระแสเรียกร้องให้อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อยู่อย่างเนืองนิจ มีการร่วมรณรงค์จากหน่วยงานหลายฝ่ายให้ตระหนักถึงคุณค่าของป่าไม้ แต่ก็ป่าไม้มิใช่หรือที่ทำให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แม้ว่าบางครั้งบางคราวอาจมีการกระทบกระทั่งกับทรัพยากรธรรมชาติบ้าง หากแต่การมีจิตสำนึกที่ดีเพียงเพื่อต้องการเข้าไปหาของป่า และนำมาใช้ประกอบอาหารเพื่อประทังชีวิตเท่านั้น เราน่าที่จะน้อมเคารพคนเหล่านั้น ที่ได้สานต่อภูมิปัญญาในการทำกินของบรรพบุรษเอาไว้

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา..

ร่วมแสดงความคิดเห็น