วัดมิ่งเมือง ศิลปะผสมผสานพม่าล้านนา 

              วัดมิ่งเมือง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ เดิมเป็นวัดไทใหญ่ มีอายุเท่ากับเมืองเชียงราย เนื่องด้วยในสมัยก่อนมีชุมชนไทใหญ่อาศัยอยู่รอบบริเวณวัด ประกอบกับมีศิลปะศาสนสถานและศาสนวัตถุแบบพม่า จึงถูกเรียกขานว่าเป็น วัดเงี้ยว แต่ชื่อที่ชาวเชียงรายรู้จักกันแพร่หลายคือ วัดจ๊างมูบ เป็นภาษาเหนือ แปลว่า วัดช้างหมอบ

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และคำบอกเล่าของคนโบราณ วัดนี้มีความสำคัญเกี่ยวกับช้างคู่บารมีของพ่อขุนเม็งรายมหาราช แห่งราชอาณาจักรล้านนา องค์มหาราชลำดับที่ ๒ ของประวัติศาสตร์ไทย กล่าวคือ ในพิธีการเคลื่อนขบวนแห่พระแก้วมรกตออกทักษิณาวรรต รอบเมืองเชียงรายทางสถลมารค ในวันสำคัญทางประเพณี เช่น วันสงกรานต์ หรือ ปีใหม่เมือง จะมีการจัดเตรียมสถานที่ให้พญาช้างคู่บารมีของพ่อขุนเม็งรายมหาราชมาหมอบรอเทียบที่วัด เทินบุษบกเพื่อรับพระแก้วมรกต ที่แห่มาด้วยขบวนเสลี่ยง จากวัดพระแก้ว ซึ่งอยู่ห่างจากวัดไปทางทิศเหนือประมาณ 200 เมตร

ปัจจุบันได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์โบราณ  ศิลปะไทใหญ่ พระอุโบสถและพระวิหารไม้ลายคำศิลปะล้านนา ของวัดมิ่งเมืองอย่างถูกต้องตามหลักพุทธศิลป์ล้านนาและทัศนศิลป์เชิง โบราณคดี ระหว่างการบูรณะได้ขุดค้นพบลายอักษรโบราณจารึกบนแผ่นเงินเป็นภาษาพม่า กล่าวถึงประวัติผู้สร้างเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อสืบค้นจากพงศาวดาร จึงทำให้ทราบว่า ผู้สร้างวัดมิ่งเมือง คือ มหาเทวีอุสาปายะโค หรือเจ้านางตะละแม่ศรี เป็นมเหสีของพ่อขุนเม็งรายมหาราช ซึ่งพระนางเป็นราชธิดาของพระเจ้าสุทธโสม(เจ็งพะยุเจ็ง)  กษัตริย์มอญแห่งเมืองหงสาวดี

ภายในวัดมิ่งเมืองยังคงมีโบราณสถานและโบราณวัตถุปรากฏอยู่หลายอย่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะผสม ระหว่างพม่าและล้านนา และมีปูชนียวัตถุสำคัญคือ พระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐาน ณ พระเจดีย์โบราณ ที่ได้รับการประธานจาก สมเด็จพระญาณสังวรณ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดมิ่งเมืองอยู่ติดสถานที่สำคัญทางโบราณคดีของจังหวัดเชียงราย เป็นประตูเมืองเก่าของเมืองเชียงราย คือ ประตูไก่ดำ หรือประตูขัวดำ หรือประตูเจ้าพ่อสันป่าแดง และคนเชียงรายยังคงเรียกบริเวณสี่แยกที่ถนนบรรพปราการตัดกับถนน ไตรรัตน์ว่า สี่แยกขัวดำ ที่บริเวณประตูวัดด้านทิศตะวันออก มีบ่อนํ้าโบราณ ชื่อ นํ้าบ่อจ๊างมูบ ศิลปะแบบไทใหญ่ มีซุ้มครอบไว้เป็นประติมากรรมปูนปั้นรูปช้างหมอบ เชื่อกันว่าบ่อนํ้านี้เป็นบ่อ นํ้าโบราณที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นแหล่งนํ้าที่ใช้อุปโภคบริโภคของผู้คนโบราณที่สัญจรเข้าออกเมือง ได้มาพักกายบริเวณประตูเมืองเพื่อดื่มนํ้าและล้างหน้าให้เกิดสิริมงคลก่อนจะเริ่มเดินทางออกหรือเข้าสู่เมืองเชียงราย

สำหรับองค์พระประธานของวัด เป็นพระพุทธรูปปั้น ลงรักปิดทองทั้งองค์ เป็นศิลปะเชียงแสนสิงห์ ๑ ซึ่งได้ทำการซ่อมแซมมาถึง ๔ ครั้งมีอายุถึง ๔๐๐ กว่าปี ซึ่งครั้งหลังสุด ช่างที่ก่อสร้างได้เพิ่มขนาดขององค์พระให้ใหญ่ขึ้น โดยมีหน้าตักกว้างขนาด ๘๐ นิ้ว มีนามว่า “หลวงพ่อพระศรีมิ่งเมือง” ที่มีพุทธลักษณะที่งดงามตามพุทธศิลป์แบบเชียงแสนสิงห์ ๑ ยุคต้น โดยเฉพาะที่ยอดพระเกตุโมฬีเป็นรูปดอกบัวตูมแกะสลักจากหินแก้วจุยเจีย หรือแก้วโป่งข่าม ซึ่งเป็นหินที่เกิดขึ้นในดินแดนล้านนาเท่านั้น ประดิษฐานไว้ในวิหารไทใหญ่ประยุกต์ ผสมผสานกับรูปแบบของวิหารล้านนา ภายในตกแต่งด้วยลวดลายแกะสลักลงรักปิดทอง ประกอบกับการกรุฝ้าเพดานแบบไตรภูมิและบราลีเป็นรูปหงส์จำนวน ๓๔ ตัว

นอกจากนี้ยังมีเจดีย์เป็นปูชนียสถานเก่าแก่ ที่มีคู่มากับวัด เป็นศิลปะแบบล้านนา เดิมก่อนการบูรณะเป็นรูปทรงพม่าทั้งหมด แต่ต่อมาได้รับการบูรณะใหม่ โดยสร้างเจดีย์บริวารตั้งไว้สี่มุม ประดับด้วยฉัตรศิลปะแบบพม่า ชาวบ้านเรียกเจดีย์นี้ว่า “พระธาตุมิ่งเมือง” นอกจากนี้เจดีย์นี้มีความสำคัญ คือ เป็นที่เก็บรวบรวมประวัติของวัดไว้

วัดแห่งนี้ยังเป็นวัดประจำพระองค์ของพระนาง อั๊วะมิ่งจอมเมือง (พระนางเทพคำกล๋าย-พระนางอั๊วะมิ่งไข่ฟ้า หรือพระนางอกแอ่น ซึ่งเป็นวีรสตรีของชาวไทยลื้อที่ได้ปลอมตัวเป็นชายออกสู้รบจนได้รับชัยชนะ) พระนางอั๊วะมิ่งจอมเมือง ทรงเป็นพระราชชนนีของพ่อขุนเม็งรายมหาราช พระนางจะเสด็จมาทรงปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนี้เป็นประจำ และในตำนานของวัดที่ปรากฏในรัชสมัยของพ่อขุนเม็งรายมหาราช พระนางจะเสด็จมาประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาที่วัดมิ่งเมืองปีละสองครั้งคือในคืนวันเพ็ญวิสาขบูชา ขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๖ และในคืนวันเพ็ญขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๑๒ ซึ่งตรงกับวันลอยกระทง หรือประเพณียี่เป็งของชาวล้านนา ทรงจุดผางประทีปบูชาพระเจดีย์ศรีมิ่งเมืองในวัด ซึ่งปัจจุบันเป็นที่บรรจุพระอัฐิของพระนางเทพคำกล๋ายและพระอัฐิของมหาเทวีอุษาปายะโค วัดมิ่งเมืองนี้เป็นวัดที่ตั้งอยู่ตรงประตูเมืองที่เรียกกันว่าประตูป่าแดงซึ่งตรงกับหลักทักษา คือ อุตสาหะ ในประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรเล่ม ๘ กล่าวว่า วัดมิ่งเมืองสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ ซึ่งอาจเป็นได้ว่า วัดมิ่งเมืองได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในปีนี้โดยกลุ่มชาวไทใหญ่ที่ถูกกวาดต้อนมาจากนโยบายเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง เพราะจะพบว่าก่อนที่จะซ่อมแซมวัดมาเป็นรูปแบบอย่างเช่นรูปทรงดั้งเดิมของสิ่งก่อสร้างภายในวัดเป็นรูปทรงไทใหญ่ทั้งหมด พบภาพวาดศิลปะพม่า ภาพวาดอดีตพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์และพระพุทธรูปไม้แกะสลักอีกหลายองค์ ที่เป็นศิลปะพม่าในช่วงแรกที่สร้างวัด นอกจากนั้น พิธีกรรมของวัดบางอย่างในปัจจุบันก็ยังมีลักษณะแบบชาวไทใหญ่หลงเหลืออยู่ วัดมิ่งเมืองได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๓” ปัจจุบัน วัดมิ่งเมือง นอกจากจะเป็นวัดที่น่าศึกษาด้านโบารณคดีศิลปะล้านนาผสมผสานศิลปะพม่าแล้ว ยังเป็นวัดที่พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวทั่วไปแวะเวียนมาเที่ยวชมสักการะเป็นประจำทุกวัน อีกอย่างวัดดังกล่าวอยู่ใกล้หอนาฬิกา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย

 

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น